เทพไท เสนพงศ์ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึง ระยะเวลาการแก้ไขรัฐธรรมนูญในครั้งนี้ว่า จากปฏิทินการทำงานหรือไทม์ไลน์ ตั้งแต่เริ่มต้นจนถึงได้รัฐธรรมนูญใหม่ ในส่วนของพรรคร่วมรัฐบาลใช้เวลาประมาณ 15 เดือน ในส่วนของพรรคร่วมฝ่ายค้านใช้เวลาประมาณ 1 ปีนั้น ส่วนตัวเห็นว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญจะต้องทำโดยรวดเร็ว ตอบสนองต่อกระแสการเรียกร้องการชุมนุมของนิสิตนักศึกษาด้วย ยิ่งแก้ไขได้เร็วมากเท่าไหร่ ก็จะเป็นผลดีต่อสถานการณ์การเมืองของประเทศมากเท่านั้น
การแก้ไขรัฐธรรมนูญในครั้งนี้ แม้ว่าจะมีสภาร่างรัฐธรรมนูญก็ตาม แต่ก็ไม่ควรที่จะใช้เวลามากเกินไป เพราะไม่จำเป็นต้องนับหนึ่งใหม่ ส.ส.ร. สามารถเลือกหยิบเอารัฐธรรมนูญในอดีตฉบับที่ดีที่สุดเป็นต้นแบบ และนำมาปรับปรุงแก้ไขให้สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริงของประเทศในปัจจุบันให้มากที่สุด
ซึ่งมีรัฐธรรมนูญอยู่ 3 ฉบับที่น่าสนใจคือรัฐธรรมนูญ ปี 2517 รัฐธรรมนูญ ปี 2540 และรัฐธรรมนูญ ปี 2550 ซึ่งถือว่าเป็นรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตย ฉบับแรกคือ รัฐธรรมนูญ ปี 2540 ที่ประชาชนมีส่วนร่วม เป็นรัฐธรรมนูญที่ร่างโดย ส.ส.ร. ยึดโยงกับประชาชน มีจุดเด่นคือ การถ่วงดุลการตรวจสอบ มีองค์กรอิสระ แต่ก็มีจุดอ่อนในหลายประเด็น ส่วนรัฐธรรมนูญ ปี 2550 เป็นฉบับที่แก้ข้อบกพร่องของรัฐธรรมนูญ ปี 2540 ได้เกือบทั้งหมด มีการทำประชามติ แต่มีที่มาจาก คมช.
ทั้งนี้ ส่วนตัวสนับสนุนให้ ส.ส.ร.หยิบยกรัฐธรรมนูญ ปี 2517 ขึ้นมาเป็นต้นแบบ เพราะเป็นรัฐธรรมนูญที่เกิดขึ้นภายหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ 2519 รูปแบบเหมือนรัฐธรรมนูญประเทศอังกฤษ มีเฉพาะ ส.ส. ระบบเขต ไม่มีระบบบัญชีรายชื่อหรือปาร์ตี้ลิส ฝ่ายบริหารหรือรัฐมนตรีต้องมาจาก ส.ส. เท่านั้น ถ้าจะนำรูปแบบการปกครองระบอบประชาธิปไตยระบบรัฐสภา ที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข มาเป็นแบบอย่าง ก็ต้องนำมาใช้ทั้งหมด ไม่ควรเป็นรัฐธรรมนูญแบบลูกผสมแบบปัจจุบัน
ดังนั้นไม่ว่าจะหยิบยกรัฐธรรมนูญฉบับใดขึ้นมาเป็นต้นแบบ ก็ต้องจัดทำขึ้นอย่างรวดเร็ว และยึดโยงกับประชาชน เป็นรัฐธรรมนูญของประชาชนอย่างแท้จริง และใช้เวลาในการจัดทำรัฐธรรมนูญให้เสร็จสิ้นโดยสมบูรณ์ภายในไม่เกินหนึ่งปีเท่านั้น