ไม่พบผลการค้นหา
ในสภาพที่อำนาจท้องถิ่นถูกมัดรวมไว้ที่ส่วนกลาง อะไรคือโจทย์เลือกตั้งท้องถิ่นรอบนี้ อะไรคือปัญญาที่จะพาให้การเมืองท้องถิ่นหลุดออกจากการพึ่งพาส่วนกลาง

ภายหลังการรัฐประหารโดย คสช. เมื่อวันที่ 22 พ.ค. 2557 ฤทธิ์เดชของเผด็จการใช้อำนาจมาตรา 44 สั่งปลด-โยกย้าย-แขวน 'องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น' อย่างน้อย 300 ตำแหน่ง ซึ่งส่วนใหญ่ระบุในคำสั่งเพื่อตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่ อ้างประเด็นทุจริตคอร์รัปชัน 

ผ่านการแช่แข็งมา 6 ปีเต็ม กกต. ประกาศศึก 20 ธ.ค. 2563 ชี้ชะตาเลือกตั้งองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) สนามการเมืองกลับมาคึกคักอีกครั้ง ผู้เล่นหน้าใหม่-หน้าเก่าต่างงัดกลยุทธ์ ปูพรมหาเสียงชูนโยบายช่วงชิงความเป็นหนึ่งในพื้นที่

ในสภาพที่อำนาจท้องถื่นถูกมัดรวมไว้ที่ส่วนกลาง อะไรคือโจทย์เลือกตั้งท้องถิ่นรอบนี้ อะไรคือปัญญาที่จะพาให้การเมืองท้องถิ่นหลุดออกจากการพึ่งพาส่วนกลาง

'วอยซ์' ชวน 'นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี' หรือ 'หมอเลี้ยบ' อดีตรองนายกรัฐมนตรี และอดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข หนึ่งในผู้สร้างคุณูปการต่อสังคมไทยจากโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า หรือ '30 บาทรักษาทุกโรค' ตั้งแต่ร่วมรัฐบาล 'ทักษิณ ชินวัตร' ตลอดจนเป็นคีย์แมนในรัฐบาลพลังประชาชน มาร่วมสนทนาในช่วงโค้งสุดท้ายการเลือกตั้งท้องถิ่นครั้งล่าสุดนี้ 

สมัคร สุนทรเวช  สุรพงษ์ เฉลิม พลังประชาชน Hkg1477153.jpg
  • รัฐบาลพลังประชาชน

ยกเครื่อง อบจ.สู่โลกศตวรรษที่ 21 

อดีตรองนายกฯ ชี้ว่า การเลือกตั้ง อบจ. ในวันที่ 20 ธ.ค.นี้ ถือเป็นวาระสำคัญ เพราะ 8 ปีที่ผ่านมา ต้องยอมรับว่าหลายสิ่งหลายอย่างเปลี่ยนไป โดยเฉพาะเรื่องเทคโนโลยี ความรู้ความสามารถของคนที่เข้ามาสมัครรับเลือกตั้งมีหลายคนน่าสนใจ และศึกชิงท้องถิ่นครั้งนี้มีการนำเสนอผู้สมัคร ภายใต้รูปแบบตัวแทนพรรคการเมืองและกลุ่มคณะ

สำหรับการทำงาน อบจ.ที่ผ่านมา มักถูกมองว่าทำหน้าที่แค่จำพวกสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานเท่าที่อยู่ในความรับผิดชอบ แต่หลายสิ่งหลายอย่างที่เปลี่ยนแปลงไป โดยเฉพาะเรื่องเทคโนโลยี ทำให้ อบจ.ยุคใหม่ไม่ควรจำกัดบทบาทเฉพาะเรื่องที่ตัวเองเคยทำมาอีกต่อไปแล้ว 

"ผมว่า อบจ.ในยุคต่อไปน่าจะเป็นข้อต่อสำคัญในเรื่องการสร้างโอกาสให้ประชาชน ทั้งเรื่องการพัฒนาคุณภาพชีวิต เรื่องพัฒนาคุณภาพการศึกษา" 

สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี.JPG

ฝันของอดีตรองนายกฯ

นพ.สุรพงษ์ ยกตัวอย่างว่า เรามีรัฐบาลเพื่อออกแบบบริหารภาพใหญ่ของประเทศ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการต่างประเทศ หรือทำสนธิสัญญาการค้าเสรี (FTA) ดังนั้น อบจ.ก็เป็นอีกข้อต่อสำคัญ แทนที่จะเอาเงินไปทำแค่เรื่อง 'น้ำไหลไฟสว่าง' ควรอุดช่องว่าง สร้างโอกาสประชาชนให้สร้างรายได้ เช่น เกษตรกรถ้าอยากทำออแกนิคจะไปหาความรู้ที่ไหน อบจ.น่าจะทำให้ได้ คนหนุ่มคนสาวจะทำสตาร์ทอัพหรือขายของออนไลน์ ควรจะถ่ายทอดกันโดยมี อบจ.สนับสนุนได้

"ผมตั้งเป็นความฝันว่า ถ้าโรงเรียนอยู่ในสังกัด อบจ. หลังเลิกเรียนควรใช้เป็นศูนย์ฝึก (training center) เรื่องการเกษตร เรื่องการค้าออนไลน์ อบจ.สามารถทำเรื่องนี้ได้เต็มที่ หรือแม้แต่เรื่องการศึกษา โรงเรียน อบจ.ควรจะเป็นสมาร์ทสคูลได้

"เปิดให้เด็กมีโอกาสเรียนรู้ภาษา Coding หรือภาษาคอมพิวเตอร์ มีศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ หรือ TCDC อย่างที่มีในกรุงเทพฯ โดยใช้พื้นที่ของโรงเรียนพัฒนาเป็น MINI TCDC ส่วนเรื่องสาธารณสุขก็แบบเดียวกัน อบจ.สามารถใช้โซเชียลมีเดีย มาเชื่อมโยงให้กับความรู้ประชาชน ในยามสภาวะฉุกเฉินได้ รวมทั้งพัฒนาระบบคมนาคมให้มีประสิทธิภาพ


"วันนี้โลกเปลี่ยนไป ไม่ใช่เอาภาพ 8 ปี ที่แล้ว มาบอกว่านี่คือ อบจ.ที่ควรจะเป็น อบจ.ถึงเวลาแล้วที่ต้องเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ เพื่อทำให้ก้าวไปสู่ อบจ.ยุคใหม่ " ผู้ร่วมก่อตั้งโครงการบัตรทอง ระบุ


มีเงินแต่มีปัญญาหรือเปล่า

หมอเลี้ยบ เล่าย้อนไปว่า การเลือกตั้งท้องถิ่นที่ผ่านมา พรรคเพื่อไทยไม่ได้ส่งในนามของพรรค อีกทั้งประสบอุปสรรคระหว่างที่บริหารประเทศ ทั้งสถานการณ์น้ำท่วม และวิกฤตการเมือง ดังนั้นอาจจะไม่ได้วางน้ำไปที่การเมืองท้องถิ่นหนักมากนัก

เช่นเดียวกับสมัยไทยรักไทยได้รับความสำเร็จในการพัฒนาประเทศ แต่ไม่มีโอกาสในการปฏิรูปองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น ครั้งนี้จึงเป็นโอกาสสำคัญสำหรับภาพฝัน อบจ.ที่เราอยากเห็นในยุคปัจจุบัน ทว่าอาจมีการตั้งคำถามว่างบประมาณของตัว อบจ.มีน้อย อาจไม่สอดคล้องกับการพัฒนา 

แกนนำพรรคเพื่อไทยมองปัญหานี้ว่า รัฐบาลมีงบประมาณ 3.3 ล้านล้านบาท ซึ่งเป็นตัวเลขที่สูง แต่การบริหารไม่ตอบโจทย์ หลายสิ่งถึงเป็นปัญหามาจนถึงปัจจุบัน


"ปัญหาไม่ใช่ว่ามีเงินหรือไม่ แต่ถามว่ามีปัญญาหรือเปล่า ผมคิดว่า อบจ.ต้องสร้างปัญญา สร้างกรอบคิดใหม่ เพื่อนำเงินที่มีอยู่ตรงนี้มาใช้อย่างตรงเป้า ใช้อย่างฉลาด และนำเอาเทคโนโลยีเข้ามาช่วย เพื่อทำให้ อบจ.มี Big Data ที่เข้าใจเรื่องราวต่างๆ ของประชาชน"


ภูมิทัศน์การเมืองที่เปลี่ยนไป

อดีต รมช.สาธารณสุข มองว่าแรงกดทับจากการบริหารของรัฐบาลที่ไม่ตอบโจทย์ประชาชน สะท้อนเป็นภาพของผู้คนออกมาบนท้อนถนน ก่อเกิดการรวมกลุ่มจากคนหลายชนชั้น กลายเป็นคำถามว่า "ถ้าการเมืองท้องถิ่นดี" คุณภาพชีวิตของพวกเขาจะเป็นอย่างไร

"เพราะประชาชนรับรู้ว่าการบริหารงานของรัฐบาลไม่ประสบความสำเร็จ เศรษฐกิจก็เติบโตช้า และพอเจอโควิดทำให้เศรษฐกิจทรุดตัวอย่างรวดเร็ว 

ปิดหีบ7.jpg
  • บรรยากาศเลือกตั้ง

"ช่วงแรกรัฐบาลทำได้ดี ทว่าไม่ใช่หมายถึงรัฐบาลทำ แต่เป็นกระทรวงสาธารณสุขทำ ผมเองแสดงความคิดเห็นหลายครั้งว่าบทบาทควบคุมไวรัสโควิด ในช่วง มี.ค.-เม.ย. เป็นบทบาทกระทรวงสาธารณสุข โดยเฉพาะ อสม.เป็นคนเดินหน้าปูพรมค้นหา เฝ้าระวัง สอบสวนโรค

"ผมคิดว่าวันที่ 20 ธ.ค. จะเป็นหมุดหมายที่ประชาชนผู้รักประชาธิปไตยจะต้องมาแสดงออกเจตจำนงของตนเอง"

หมอเลี้ยบ ทิ้งท้ายว่า มีคำพูดว่า "อาวุธเผด็จการคือปืน แต่อาวุธประชาชนคือบัตรเลือกตั้ง" ถ้าประชาชนไปแสดงเจตจำนงค์ว่าไม่เห็นด้วยกับการบริหารประเทศ ด้วยการเลือกผู้สมัครฝ่ายประชาธิปไตย มันก็สะท้อนว่าประชาชนคิดเห็นอย่างไรกับเลือกตั้งท้องถิ่น

อ่านเพิ่มเติม


พิชิตศักดิ์ แก่นนาคำ
ผู้สื่อข่าว Voice Online
91Article
1Video
0Blog