การเลือกตั้ง ส.ส.ทั่วไป เมื่อวันที่ 13 ก.ย. 2535 พรรคประชาธิปัตย์ นำโดย ชวน หลีกภัย หัวหน้าพรรค ได้รับชัยชนะเลือกต้ัง ด้วย ส.ส. 79 ที่นั่ง นำจัดตั้งรัฐบาลผสม 5 พรรรคการเมืองประกอบด้วย พรรคประชาธิปัตย์ พรรรคความหวังใหม่ พรรคพลังธรรม พรรคกิจสังคมและพรรคเอกภาพ โดย ชวน ได้รับพระบรมราชโองการแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี คนที่ 20 เมื่อวันที่ 23 ก.ย. 2535 และมีการจัดตั้งคณะรัฐมนตรี โดยมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 29 ก.ย. 2535
หลังการเลือกตั้งครั้งนั้น ใช้เวลาเพียง 10 ในการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรี และ 16 วันในการจัดตั้งคณะรัฐมนตรี
การเลือกตั้ง ส.ส.ทั่วไป เมื่อวันที่ 2 ก.ค. 2538 ผลการเลือกตั้งครั้งนั้น พรรคชาติไทย นำโดย บรรหาร ศิลปอาชา หัวหน้าพรรค ได้รับคะแนนเสียงมาเป็นอันดับ 1 ด้วยเสียง ส.ส. 92 ที่นั่ง จึงจัดตั้งรัฐบาลผสม และต่อมา บรรหารได้เป็นนายกรัฐมนตรี คนที่ 21 ตามประกาศพระบรมราชโองการ เมื่อวันที่ 13 ก.ค. 2538 และต่อมาได้มีการแต่งตั้งคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 18 ก.ค. 2538
หลังการเลือกตั้งใช้เวลาแต่งตั้งนายกฯ เพียง 11 วัน และจัดตั้งคณะรัฐมนตรี 16 วัน
เลือกตั้ง ส.ส.ทั่วไป เมื่อวันที่ 17 พ.ย. 2539 พรรคความหวังใหม่ ซึ่งมี พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ เป็นหัวหน้าพรรคได้รับเลือกตั้ง ส.ส.มากที่สุด 125 ที่นั่ง เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลผสม 6 พรรค ประกอบด้วย พรรคความหวังใหม่ พรรคชาติพัฒนา พรรคกิจสังคม พรรคประชากรไทย พรรคเสรีธรรมและพรรคมวลชน พล.อ.ชวลิต ได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี คนที่ 22 เมื่อวันที่ 25 พ.ย. 2539 จากนั้นได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 29 พ.ย. 2539 และแถลงนโยบายต่อรัฐสภา เมื่อวันที่ 11 ธ.ค. 2539
รัฐบาล พล.อ.ชวลิต ใช้เวลาหลังการเลือกตั้ง 8 วันในการได้นายกรัฐมนตรี และใช้เวลา 12 วันในการจัดตั้งคณะรัฐมนตรี
หลังการเลือกตั้ง ส.ส.ทั่วไป เมื่อวันที่ 6 ม.ค. 2544 พรรคไทยรักไทย ที่นำโดย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร หัวหน้าพรรค ชนะเลือกตั้ง กวาด ส.ส.มาเป็นอันดับหนึ่ง ด้วย จำนวน ส.ส. 248 คน จัดตั้งรัฐบาลผสม และได้รับการแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี คนที่ 23 ตามประกาศพระบรมราชโองการเมื่อวันที่ 9 ก.พ. 2544 จากนั้นมีการจัดตั้งคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 17 ก.พ. 2544 จากนั้นได้มีการแถลงนโยบายต่อรัฐสภา เมื่อ 26 ก.พ. 2544
รัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ 1 ใช้เวลาหลังการเลือกตั้ง เป็นเวลา 34 วันถึงได้นายกรัฐมนตรี และใช้เวลาหลังเลือกตั้ง 42 วันถึงจัดตั้งรัฐบาลสำเร็จ
หลังการเลือกตั้ง ส.ส. เมื่อวันที่ 6 ก.พ. 2548 พรรคไทยรักไทย นำโดย พ.ต.ท.ทักษิณ หัวหน้าพรรคได้ประสบความสำเร็จชนะเลือกตั้งอย่างถล่มทลาย จัดตั้งรัฐบาลพรรคเดียวที่มี ส.ส. 377 คน โดย พ.ต.ท.ทักษิณ ได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนนตรี คนที่ 23 ตามประกาศพระบรมราชโองการ เมื่อวันที่ 9 มี.ค. 2548 โดยมี โภคิน พลกุล ประธานสภาผู้แทนราษฎร ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ จากนั้นวันที่ 11 มี.ค. 2548 ได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งคณะรัฐมนตรี พร้อมทั้งแถลงนโยบายต่อรัฐสภา เมื่อวันที่ 23 มี.ค. 2548
รัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ 2 ใช้เวลาหลังเลือกตั้ง เป็นเวลา 31 วัน ได้ตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และใช้เวลา 33 วันในการจัดตั้งคณะรัฐมนตรี
ภายหลังการเลือกตั้ง ส.ส.เมื่อวันที่ 23 ธ.ค. 2550 พรรคพลังประชาชน ที่สืบทอดพันธุกรรมทางการเมืองจากพรรคไทยรักไทย นำโดย สมัคร สุนทรเวช หัวหน้าพรรค ได้นำพรรคชนะเลือกตั้งเป็นอันดับ 1 โดยกวาด ส.ส.ได้เสียงข้างมากจำนวน 233 คน จากจำนวน ส.ส. 480 คน สามารถจัดตั้งรัฐบาลผสม โดย สมัครได้รับการลงมติจากสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 28 ม.ค. 2551 เห็นชอบให้เป็นนายกรัฐมนตรี คนที่ 25 และมีพระบรมราชโองการประกาศแต่งตั้งนายกรัฐมนตรี เมื่อ 29 ม.ค. 2551 ต่อมาได้มีการจัดตั้งคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 6 ก.พ. 2551
หลังการเลือกตั้งปี 2550 ได้ใช้เวลา 36 วันในการแต่งตั้งนายกฯ และใช้เวลา 45 วันจัดตั้งคณะรัฐมนตรี
เกิดขึ้นภายหลังการเลือกตั้ง ส.ส.เป็นการทั่วไปเมื่อวันที่ 3 ก.ค. 2554 ครั้งนั้นพรรคเพื่อไทย ที่มี ยงยุทธ วิชัยดิษฐ เป็นหัวหน้าพรรค มี ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ผู้สมัคร ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย และแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ได้รับชัยชนะเลือกตั้งด้วยคะแนนเสียง ส.ส.มาเป็นอันดับ 1 ด้วยจำนวน ส.ส. 265 คน จากจำนวน ส.ส. 500 คน สามารถจัดตั้งรัฐบาลผสม ที่มี พรรคชาติไทยพัฒนา พรรคพลังชล พรรคชาติพัฒนา พรรคประชาธิปไตยใหม่
โดย ยิ่งลักษณ์ ได้รับเลือกจากที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรลงมติเห็นชอบให้เป็นนายกรัฐมนตรี คนที่ 28 เมื่อวันที่ 5 ส.ค. 2554 และจัดตั้งคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 9 ส.ค. 2554
หลังการเลือกตั้ง 3 ก.ค. 2554 ใช้เวลา 33 วันในการลงมติเลือกนายกรัฐมนตรี และจัดตั้งรัฐบาลยิ่งลักษณ์ด้วยเวลา 37 วันในการจัดตั้งคณะรัฐมนตรี
หลังการเลือกตั้ง ส.ส.ทั่วไป เมื่อวันที่ 24 มี.ค. 2562 การเลือกตั้งครั้งนี้ แม้ว่าพรรคเพื่อไทยจะได้รับเลือกตั้ง มาเป็นอันดับ 1 ด้วย เสียง ส.ส.ในสภาฯ จำนวน 136 คน ขณะที่พรรคพลังประชารัฐ ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ได้รับเลือกตั้งมาเป็นอันดับ 2 ด้วยจำนวน ส.ส. 116 คน แต่ด้วยกติกาการเลือกตั้ง ส.ส.เป็นระบบจัดสรรปันส่วนผสม ใช้บัตรเลือกตั้งเพียงใบเดียว และกฎหมายเลือกตั้ง ส.ส.กำหนดให้ กกต.ต้องประกาศผลการเลือกตั้งให้เสร็จโดยเร็ว แต่ต้องไม่ช้ากว่า 60 วันนับจากวันเลือกตั้งทั่วไป และรัฐธรรมนูญกำหนดให้การลงมติเห็นชอบนายกรัฐมนตรีต้องทำในที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา ที่มี ส.ส.และ ส.ว.จำนวน 750 คน และต้องได้เสียงมากกว่า 375 เสียงขึ้นไปในการเป็นนายกฯ
โดยกว่าที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาจะลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีได้ต้องรอจนถึงวันที่ 5 มิ.ย. 2562 โดยที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาได้มีมติ 500 เสียงเห็นชอบให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี ในสมัยที่ 2 หลังจากเป็นนายกฯ สมัยแรกที่มาจากการรัฐประหาร ขณะที่สภาผู้แทนราษฎร ชุดที่25 มีพรรคการเมือง จำนวนมากถึง 26 พรรคการเมือง เพราะมีพรรคการเมืองที่ได้ ส.ส. 1 คนจากบัญชีรายชื่อ อยู่หลายพรรคการเมือง
พล.อ.ประยุทธ์ได้รับพระบรมราชโองการ ประกาศแต่งตั้งเป็นนายกฯ เมื่อวันที่ 9 มิ.ย. 2562 และจัดตั้งคณะรัฐมนตรีในวันที่ 10 ก.ค. 2562
หลังการเลือกตั้ง 24 มี.ค. 2562 ใช้เวลา 73 วันในการเปิดประชุมร่วมกันของรัฐสภาเพื่อลงมติเห็นชอบนายกฯ และใช้เวลา 108 วันในการจัดตั้งคณะรัฐมนตรี
การเลือกตั้งทั่วไปเมื่อ 14 พ.ค. 2566 ซึ่งจะถือเป็น สภาผู้แทนราษฎรชุดที่ 26 ซึ่งปัจจุบัน คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)ได้ประกาศผลคะแนนเลือกตั้งแบบทางการแล้ว แต่ยังไม่ได้มีการประกาศผลการเลือกตั้ง ส.ส.ให้ผู้ชนะเลือกตั้ง และผู้ได้รับเลือกตั้งเป็น ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ ได้เป็น ส.ส.เพียงสักคนเดียว ซึ่ง กกต.วางกรอบการประกาศผลเลือกตั้งอย่างช้าสุดคือวันที่13 ก.ค. 2566 ที่จะต้องมี ส.ส.ในสภาฯให้ถึงร้อยละ 95 เพื่อเปิดประชุมรัฐสภาและเปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎรเป็นครั้งแรกในการเลือกประธานสภาผู้แทนราษฎร ก่อนดำเนินการเลือกนายกรัฐมนตรีในขั้นตอนต่อไป
ด้วยกฏกติการัฐธรรมนูญ ปี 2560 ที่มีกรอบเวลาไม่เหมือนรัฐธรรมนูญฉบับในอดีต จึงทำให้กรอบเวลาการประกาศผลเลือกตั้งล่าช้ากว่ารัฐธรรมนูญฉบับก่อนๆ ที่มีกรอบเวลาให้ กกต.ประกาศผลเลือกตั้ง ส.ส.โดยใช้กรอบเวลา 30 วัน