ไม่พบผลการค้นหา
ภายหลังเปิดสมัยการประชุมรัฐสภา สภาผู้แทนราษฎรมีคิวพิจารณากฎหมายที่สำคัญ ได้แก่ ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 วงเงิน 3.185 ล้านล้านบาท เป็นงบขาดดุล 695,000 ล้านบาท ซึ่งจะเป็นการจัดทำงบประมาณครั้งสุดท้ายก่อนครบวาระการดำรงตำแหน่งของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี

ซึ่งจะต้องนำไปสู่การคืนอำนาจประชาชนผ่านการเลือกตั้ง ‘วอยซ์’ ย้อนดูการใช้จ่ายงบประมาณ ตลอด 8 ปี ของรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ ที่ผานมา ดังนี้ 

  • ปีงบประมาณ 2565 วงเงิน 3.1 ล้านล้านบาท ขาดดุล 700,000 ล้านบาท
  • ปีงบประมาณ 2564 วงเงิน 3.3 ล้านล้านบาท ขาดดุล 700,000 ล้านบาท + พ.ร.ก.กู้เงินโควิด 5 แสนล้านบาท
  • ปีงบประมาณ 2563 วงเงิน 3.2 ล้านล้านบาทขาดดุล 469,000 ล้านบาท + พ.ร.ก.กู้เงินโควิด 1 ล้านล้านบาท 
  • ปีงบประมาณ 2562 วงเงิน 3 ล้านล้านบาท ขาดดุล 450,000 ล้านบาท 
  • ปีงบประมาณ 2561 วงเงิน 2.9 ล้านล้านบาท ขาดดุล 450,000 ล้านบาท งบกลางปี วงเงิน 1.5 แสนล้านบาท 
  • ปีงบประมาณ 2560 วงเงิน 2.73 ล้านล้านบาท ขาดดุล 390,000 ล้านบาท งบกลางปี วงเงิน 1.9 แสนล้านบาท 
  • ปีงบประมาณ 2559 รายรับ วงเงิน 2.72 ล้านล้านบาท ขาดดุล 390,000 ล้านบาท งบกลางปี วงเงิน 5.6 หมื่นล้านบาท 
  • ปีงบประมาณ 2558 รายรับวงเงิน 2.57 ล้านล้านบาท ขาดดุล 250,000 ล้านบาท 

เบ็ดเสร็จ ตลอด 8 ปี นายกฯ ที่ชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ ผ่านงบฯ รวมสถิติ 12 ครั้ง  28.5 ล้านล้านบาท

ประยุทธ์ -E246-46FB-8A59-4A2A4C686B7F.jpeg

รวมงบประมาณรายจ่ายประจำปี 12 ครั้ง ภายใต้การนำของพล.อ.ประยุทธ์ ที่มาจากการยึดอำนาจ และเข้าสู่อำนาจโดย 250 ส.ว.แต่งตั้ง ทั้งสิ้น 26.7 ล้านล้านบาท รวมเม็ดเงินกู้สำหรับรับมือสถานการณ์โควิด-19 เป็นเงินทั้งสิ้น 28.5 ล้านล้านบาท ขาดดุลต้องกู้เพิ่มเติมรวม 6 ล้านล้านบาท 

  • งบลงทุนกระตุ้นเศรษฐกิจพร่อง 3 ใน 4 จ่ายเงินเดือนราชการ

ทั้งนี้ จะพบได้ว่า งบประมาณรายจ่ายประจำปีส่วนใหญ่สำหรับเงินเดือนข้าราชการ/เจ้าหน้าที่ของรัฐ โดยในปีงบประมาณ 2566 งบในส่วนดังกล่าวมีจำนวน 2.3 ล้านล้านบาท จากทั้งหมด 3.1 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 76 เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมา 2.3 หมื่นล้านบาท ยังดูไม่อาจเป็นความหวังในการกระตุ้นเศรษฐกิจ ผ่านการลงทุนขนานใหญ่จากภาครัฐ เพื่อให้เศรษฐกิจโดยรวมของประเทศไทยดีขึ้นตามที่พรรคฝ่ายค้านตั้งข้อสังเกต

  • บำเหน็จ/บำนาญ/รักษาพยาบาล พุ่ง เบิกจ่ายซ้ำซ้อน/เกินจริง

ขณะที่ ศิริกัญญา ตันสกุล ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล แกะรายละเอียดงบประมาณปี 2566 ว่าจะเหลือใช้จริงเพียง 9.3 แสนล้านบาท เท่านั้น เนื่องจากเป็นรายจ่ายสำหรับข้าราชการประจำ โดยงบประมาณดังกล่าวยังมีรายการสำหรับการจัดหาอาวุธ 1.6หมื่นล้านบาท ส่วนที่เพิ่มขึ้นและควรจับตา คือ งบด้านสวัสดิการข้าราชการ ผลพวงจากการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ซึ่งอยู่ในรายจ่ายงบกลางสำหรับเบี้ยหวัดบำเหน็จบำนาญ และค่ารักษาพยาบาล 

ศิริกัญญา ตันสกุล.jpg

สอดคล้องกับรายงานการศึกษาของสำนักงบประมาณ รัฐสภา เรื่อง งบประมาณรายจ่ายงบกลางของไทย : การจัดสรรและการบริหารงบประมาณ ว่า รายการเงินเบี้ยหวัด บำเหน็จ บำนาญ และรายการค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลข้าราชการ ลูกจ้าง และพนักงานของรัฐ ได้รับจัดสรรงบประมาณมากที่สุดตามลำดับ พร้อมทั้งตั้งข้อสังเกตสามารถสรุปได้ 3 ประเด็นดังนี้ 

1) ระหว่าง ปี 2557 – 2565 งบดังกล่าวมีการเบิกจ่ายบางรายการสูงกว่าที่ตั้งงบประมาณไว้จำนวนมาก 

2) เงินเบี้ยหวัด บำเหน็จ บำนาญฯ มีแนวโน้มเบิกจ่ายสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยปี 2564 เพิ่มขึ้น 2 เท่า เมื่อคิดจากการเบิกจ่ายในปี 2557 

3) ค่าใช้จ่ายการรักษาพยาบาลมีแนวโน้มเบิกจ่ายสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง สาเหตุหนึ่งมากจากการเบิกจ่ายที่ซ้ำซ้อนเกินอัตราที่กำหนด 

งบกลาง จากงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2566 อยู่ที่ 5.9 แสนล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 18.5 ของงบประมาณทั้งหมด ซึ่งตลอด 8ปีของรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ งบประมาณในส่วนดังกล่าวถือว่า เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ประยุทธ์ ประชุมสภา งบประมาณ -5C3C-4460-B06D-5DBDDC2730BA.jpeg


  • กลาโหม อู้ฟู่ 8 ปี 1.77 ล้านล้านบาท

สำหรับงบประมาณของกองทัพ ตลอด 8 ปีที่ผ่านมา มีการเพิ่ม/ลด เป็นระยะ และติดยอด 5 ลำดับแรกของกระทรวงที่ได้รับการจัดสรรงบประมาณสูงที่สุดอย่างต่อเนื่อง ไล่ตั้งแต่

ปี 2558 จำนวน 1.92แสนล้านบาท

ปี 2559 จำนวน 2.06 แสนล้านบาท

ปี2560 จำนวน 2.10 แสนล้านบาท

ปี 2561 จำนวน 1.10 แสนล้านบาท

ปี 2562จำนวน 2.22 แสนล้านบาท

ปี 2563 จำนวน 2.30 แสนล้านบาท

ปี 2564 จำนวน 2.13 แสนล้านบาท

ปี 2565 จำนวน 1.99 แสนล้านบาท

และ ปี 2566 จำนวน 1.96 แสนล้านบาท

รวม 1.77 ล้าน เบ็ดเสร็จกองทัพ ยุค พล.อ.ประยุทธ์ ได้รับอนุมัติงบประมาณทั้งสิ้น 1.77 ล้านล้านบาท 

ประยุทธ์ กองทัพเรือ 22182544000000.jpg

ภาพรวมการจัดทำงบประมาณของรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จึงดูเหมือนตอบสนองต่อระบบรัฐราชการที่รายจ่ายส่วนใหญ่กว่า ร้อยละ 75 เป็นรายการของเงินเดือนข้าราชการประจำ และใช้จ่ายงบส่วนมากเพื่อรับรองข้าราชการเกษียณที่ไม่ได้สร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจจำนวนมาก

ในขณะที่การจัดทำงบฯ นั้นยังไม่ได้เห็นการลงทุนขนานใหญ่จากภาครัฐเพื่อกระตุ้นให้รากหญ้าคนส่วนใหญ่ของประเทศมีกำลังจับจ่ายใช้สอยอย่างเป็นระบบแต่อย่างใด

งบประมาณตลอด 8 ปีที่ผ่านมา มีความคุ้มค่าส่งผลให้คนไทยมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นหรือไม่ การเลือกตั้งใหญ่ครั้งถัดไปจะเป็นคำตอบ