เมื่อดูกรอบวงเงิน ร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 ที่คณะรัฐมนตรีเสนอจะอยู่ที่วงเงิน 3 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นจากงบประมาณปี 2561 ถึง 1 แสนล้านบาท คิดเป็นงบขาดดุล 4.5 แสนล้านบาท เนื่องจากประมาณการรายได้แล้วจะอยู่ที่ 2.55 ล้านบาท นับเป็นงบประมาณขาดดุลอย่างต่อเนื่อง 5 ปีติดต่อกันภายใต้การนำของ คสช. โดยมีรายละเอียดดังนี้
ปี 2558 วงเงิน 2.57 ล้านล้านบาท ขาดดุล 2.5 แสนล้าน
ปี 2559 วงเงิน 2.77 ล้านล้านบาท ขาดดุล 3.9 แสนล้านบาท
ปี 2560 วงเงิน 2.92 ล้านล้านบาท ขาดดุล 5.5 แสนล้านบาท
ปี 2561 วงเงิน 2.94 ล้านล้านบาท ขาดดุล 5.5 แสนล้านบาท
ล่าสุดงบประมาณประจำปี 2562 วงเงิน 3 ล้านล้านบาท ขาดดุล 4.5 แสนล้านบาท
รวมการจัดทำงบประมาณประจำปีภายใต้รัฐบาล คสช. ตลอด 5 ปี จะอยู่ที่ 14 ล้านล้านบาท ขาดดุลงบประมาณรวม 2.1 ล้านล้านบาท
สวนทางกับสิ่งที่รัฐบาลเลือกตั้ง สมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เคยประกาศไว้ว่า ภายในปี 2560 ประเทศไทยจะเริ่มจัดทำงบประมาณแบบสมดุล ทว่าภายใต้รัฐบาลที่มาจากการยึดอำนาจ และฝ่ายนิติบัญญัติ ที่มาจากการแต่งตั้ง ก็นำพาประเทศออกห่างจากเป้าหมายดังกล่าวมากขึ้นไปทุกที
เมื่อลงในรายละเอียดของงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2562 ที่มีจำนวน 60 มาตรา หากมองจำแนกรายกระทรวงก็จะพบว่ายอดสูงสุด 5 ดับแรกคือ
1.กระทรวงศึกษาธิการ 4.89 แสนล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 16.33
2.งบกลาง 4.68 แสนล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 15.60
3.กระทรวงมหาดไทย 3.73 แสนล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 12.45
4.กระทรวงการคลัง 2.42 แสนล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 8.09
5.กระทรวงกลาโหม 2.27 แสนล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 7.59
ตลอด 5 ปีภายใต้รัฐบาล คสช. ทำให้เห็นว่า งบประมาณของกองทัพ ที่แม้จะมีเพิ่ม-ลดบ้าง แต่ยอดรวมแล้วก็ถือว่าสูงจนน่าใจหาย ไล่ตั้งแต่ปี 2558 จำนวน 1.92 แสนล้านบาท ปี 2559 จำนวน 2.06 แสนล้านบาท ปี 2560 จำนวน 2.1 แสนล้านบาท ปี 2561 จำนวน 1.1 แสนล้านบาท และปี 2562 จำนวน 2.2 แสนล้านบาท เบ็ดเสร็จกองทัพ ยุค คสช. ได้รับอนุมัติงบประมาณทั้งสิ้น 9.38 แสนล้านบาท
ทั้งนี้หากมองในมุมภาระงบผูกพันข้ามปีแต่ละกระทรวง กระทรวงกลาโหม เองก็ถูกจัดอยู่ในลำดับที่ 2 โดยมีตัวเลขอยู่ที่ 1.17 แสนล้านบาท ซึ่งตรงนี้ เป็นสิ่งที่รัฐบาลทหารและกองทัพ ต้องชี้แจงต่อสังคมให้ชัดแจ้ง ถึงกรอบภาพรวมจากงบประมาณที่ได้รับทั้งหมด
เพราะหลายครั้งก่อให้เกิดความแคลงใจจากสาธารณชน ในการใช้จ่ายงบประมาณ ไม่ว่าจะเป็นรถถังจากจีน เรือดำน้ำจากจีน ซึ่งสร้างความงุนงงอย่างยิ่งว่า ภายใต้โจทย์ความมั่นคงของทรรศวรรษที่ 21 ทำไมการจัดซื้อยุทโธปกรณ์จึงยังคงเต็มรูปแบบ ราวกับว่าโลกยังไม่สิ้นจากสงคราม ทั้งที่โจทย์ภัยคุกคามก็แปรเปลี่ยนจากสงครามเย็นไปไกลมากแล้ว หรือ จะเป็นดาวเทียมสอดแนมดวงใหม่จากกลาโหม 9 หมื่นล้านบาท ก็ควรระบุให้ชัด
ในส่วนของงบกลางก็จะอยู่ในอัตราค่อนข้างสูง ระดับ 3.7 - 4.6 แสนล้านบาท อย่างต่อเนื่อง ไล่ตั้งแต่ปี 2558 วงเงิน 3.7 แสนล้านบาท ปี 2559 วงเงิน 4.5 แสนล้านบาท ปี 2560 วงเงิน 4.4 แสนล้านบาท ปี 2561 วงเงิน 4.2 แสนล้านบาท และปี 2562 วงเงิน 4.6 แสนล้านบาท โดยในกรอบวงเงินส่วนนี้ จะมีหัวข้อรายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น ซึ่งมีสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 3 ของงบประจำปี ย้อนหลังไป 5 ปี โดยต่อเนื่อง ซึ่งงบประมาณนี้ถือเป็นส่วนที่ยากต่อการติดตามตรวจสอบ
ทางสำนักงบประมาณของรัฐสภาเองก็ยังทำข้อสังเกตุต่องบประมาณส่วนนี้ไว้ในรายงานการวิเคราะห์ว่า มีการกันไว้เบิกเหลื่อมปี ตั้งแต่ในในปี 2555-2560 จำนวน 3.4 หมื่นล้านบาท ส่วนในปี 2562 ได้รับการจัดสรร 90,000 ล้านบาท ทั้งนี้รายการดังกล่าวควรเร่งรัดให้มีการกำหนดสัดส่วนต่องบประมาณรายจ่ายประจำปีให้เป็นไปตามพ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ.2561 ด้วย
สำหรับมาตราการกระตุ้นเศรษฐกิจ ที่ คสช.ตราหน้ารัฐบาลชุดก่อนหน้า ที่ใช้จ่ายไปกับโครงการจำนำข้าวตันละ 15,000 บาท หรือ กองทุนหมู่บ้านให้รากหญ้าเข้าถึงแหล่งทุนได้โดยสะดวกว่า ใช้ประชานิยมจนเคยตัว ส่งผลให้เสียวินัยทางการเงินการคลังของประเทศนั้น
โดย งบประมาณปีล่าสุดของรัฐบาล คสช. ได้อัดฉีดกองทุนประชารัฐเพื่อเศรษฐกิจฐานราก อีก 4 หมื่นล้านบาท ติด 3 อันดับแรกของยอดงบฯ ในสัดส่วนกองทุนและเงินทุนหมุนเวียน
หากย้อนกลับไปยังจุดเริ่มต้นโครงการ ก็จะพบว่า เม็ดเงินถูกหว่านไปแล้วกว่า 1.12 แสนล้านบาท แบ่งเป็นปีงบประมาณ 2561 วงเงิน 5.9 หมื่นล้านบาท และงบประมาณเพิ่มเติมปี 2561 อีก 1.3 หมื่นล้านบาท
เมื่อสืบค้นไปยังเอกสารรายการสรุปผลการประชุมรับฟังความคิดเห็นของสำนักงบประมาณ ในส่วนรัฐวิสาหกิจและกองทุน จะพบว่า แท้จริงแล้วกองทุนประชารัฐถูกตั้งไว้ที่ 4.6 หมื่นล้านบาท ทว่าสำนักงบประมาณแตะเบรก หั่นทิ้งไป 6 พันล้านบาท โดยระบุว่า
"ในงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ 2561 กองทุนได้รับงบประมาณไปแล้ว 13,000 ล้านบาท ดังนั้นการดำเนินงานในปี 2562 จะต่อเนื่องจากปีก่อน เมื่อผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐฯได้รับการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักสูตรครบถ้วนแล้ว คาดว่า ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ จะมีรายได้เพิ่มขึ้นอย่างเพียพอในการดำรงชีวิต ซึ่งทำให้การสนับสนุนงบประมาณให้บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ จะลดลงตามจำนวนผู้ถือบัตรด้วย"
ข้อครหาที่โครงการประชารัฐกำลังถูกวิพากษ์วิจารณ์นั้น ถูกพุ่งเป้าไปที่ความเหลื่อมล้ำ ที่สุดท้ายแล้วเม็ดเงินเหล่านี้ก็จะตกไปอยู่กับเจ้าสัวไม่กี่ราย ขณะที่คุณภาพของสินค้าจากร้านธงฟ้า บัตรใยแมงมุมรถเมล์ที่ไร้การเชื่อมโยง ตลอดจนถึงในแง่ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ที่คนไทย 14 ล้านราย ต้องถือบัตรคนจนใบนี้
ที่หนีไม่พ้นอีกก็ชื่อโครงการประชารัฐเอง ดันไปพ้องกับพรรคการเมืองน้องใหม่อย่าง 'พรรคพลังประชารัฐ' ที่มีชวน ชูจันทร์ เพื่อนร่วมรุ่น ม.ธรรมศาสตร์ กับนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกฯฝ่ายเศรษฐกิจ เป็นผู้จดจัดตั้งพรรค พร้อมกระแสข่าวเตรียมสนับสนุนพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคสช.และนายกฯ ในศึกเลือกตั้งครั้งต่อไป
คำถามจึงย่อมถาโถมกลับไปอีกว่า การโปรยเม็ดเงินกว่า 1.12 แสนล้านบาทนี้ มีจุดมุ่งหมายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ หรือ แท้จริงแล้วเพื่อสร้างความนิยมต่อการเลือกตั้ง ที่อาจส่งผลให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบกันแน่ หากเป็นดังนั้น ประชารัฐจะต่างจากประชานิยมตรงไหน สุดท้ายก็เป็นแค่วาทกรรม แต่ไร้ความหมาย
หากจะตั้งข้อสังเกตุว่า งบประมาณนั้นถูกใช้ไปกับการเตรียมพร้อมต่อการเลือกตั้งใช่หรือไม่ ก็ต้องย้อนกลับไปดูยัง งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ 2561 กรอบวงเงิน 1.5 แสนล้านบาท ประกอบกันด้วย
เพราะนอกจากเติมเงินกองทุนประชารัฐอย่างต่อเนื่องแล้ว ก็จะพบว่า โครงการไทยนิยม ยั่งยืน ที่ถูกฝ่ายการเมืองโจมตีอย่างมาก ก็ได้รับการจัดสรรงบไปแล้วที่ 2.9 หมื่นล้านบาท ให้กระทรวงมหาดไทย ที่มี กรมการพัฒนาชุมชน เป็นเจ้าภาพ ปูพรมอัดฉีดทั้ง 878 อำเภอ ทั่วประเทศ ซึ่งล่าสุดกรมการพัฒนาชุมชน ก็เรียกบรรจุตำแหน่ง พัฒนากร จากบัญชี 2559 เพื่อระดมอัตรากำลังเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญไปแล้ว กว่า 850 คน ภายใน 2 ปี
ตลอดระยะเวลา 4 ปี แห่งการคืนความสุข รัฐบาลคสช.จับจ่ายใช้สอยภาษีประชาชนไปแล้วทั้งสิ้น 8 ครั้ง แบ่งเป็นงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2558-2562 ตามที่ระบุไว้ข้างต้น รวม 14 ล้านล้านบาท และงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ 2559-2561 วงเงิน 5.6 หมื่นล้านบาท 1.9 แสนล้านบาท และ 1.5 แสนล้านบาท ตามลำดับ
รวมทั้งงบประจำปีและงบเพิ่มเติม ก็ตกที่ 14.4 ล้านล้านบาท เฉลี่ย 4 ปี ตกปีละ 3.6 ล้านล้านบาท เป็นเวลาเข้าสู่ปีที่ 5 ที่ประชาชนต้องปล่อยให้รัฐบาลที่ไม่ได้จากการเลือกตั้ง และสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่มาจากการแต่งตั้งของ คสช. โหวตผ่านงบประมาณแผ่นดินโดยไม่มีผู้แทนฝ่ายค้านคอยตรวจสอบหรือทัดทานได้!
จากการสืบค้นยังพบสถิติที่น่าสนใจอีกอย่างหนึ่ง คือ การจัดทำงบรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ หรืองบกลางปี พบว่า ในอดีตรัฐบาลมีการจัดทำงบกลาง 18 ครั้ง
โดยเกือบครึ่งหนึ่ง จำนวน 8 ครั้ง เกิดขึ้นในสมัยภายใต้รัฐบาลเผด็จการของ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ (ดำรงตำแหน่งระหว่าง ปี2501-2505) และจอมพลถนอม กิตติขจร (ดำรงตำแหน่งระหว่างปี 2506-2516)
ประกอบด้วย ปีงบประมาณ ปี 2503 ปี 2504 ปี 2505 ปี 2506 ปี 2508 ปี 2509 ปี 2510 และ ปี2516 ซึ่งให้หลักการและเหตุผลประกอบ โดยส่วนใหญ่ระบุว่า เผื่อเกิดเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นโดยมิได้คาดหมายและมิได้คาดฝัน ก่อนที่สุดท้าย จอมพลทั้ง 2 ก็ต้องพ้นจากตำแหน่งไปอย่างมิได้คาดหมายและมิได้คาดฝัน
ซึ่งใน 8 ครั้งจะพบว่า มีการจัดทำงบกลางปีติดต่อกัน 4 ปีซ้อน
ทำให้ตอนนี้ รัฐบาลคสช.ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ผ่านงบกลางปี 3 ปีซ้อน ขยับขึ้นแท่นขึ้นมาเป็นรองเพียง 2 จอมพลเผด็จการเพียงเท่านั้น
ก่อนจะมีการเลือกตั้งตามโรดแมปเดือน ก.พ. 2562 จึงต้องติดตามกันชนิดห้ามกระพริบตาว่าพล.อ.ประยุทธ์ จะทำสถิติอัดงบกลางปีทาบชั้นรุ่นพี่ทั้ง 2 ได้หรือไม่!
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง