งานวิจัยชิ้นล่าสุดที่เป็นการร่วมมือกันระหว่างมหาวิทยาลัยเทนเนสซี และห้องปฏิบัติการแห่งชาติโอ็คกริดจ์ โดยการใช้ซูเปอร์คอมพิวเตอร์ที่มีชื่อว่า ‘ซัมมิท’ ประมวลผลสารเคมีที่มีคุณสมบัติในการยับยั้งการแพร่กระจายของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 พบสารเคมีที่มีคุณสมบัติดังกล่าวถึง 77 ชนิด
ในการทดลอง นักวิทยาศาสตร์ใช้ประโยชน์จากคอมพิวเตอร์ที่ประมวลผลได้เร็วที่สุดในโลก หรือสามารถประมวลผลได้เร็วกว่าโน๊ตบุ๊คที่เร็วที่สุดในโลกตอนนี้ไปประมาณ 1 ล้านเท่า มาทำการทดลองว่าจาก 8,000 สารประกอบ อาทิ ยา เมแทบอไลต์ (สารที่เกิดจากปฏิกิริยาทางชีวเคมี) และสารประกอบทางธรรมชาติต่างๆ มีสารประกอบใดบ้างที่สามารถหยุบยั้งการจับตัวกันระหว่าง เอส-โปรตีน กับตัวรับเชื้อของมนุษย์ อาทิ แองจิโอเทนซิน-คอนเวิอร์ติง เอนไซม์ 2 (ACE2) ซึ่งเป็นการอ้างอิงการจับตัวแพร่กระจายของเชื้อไวรัสจากโรคซาร์ส ที่มีไวรัสโคโรนาในตระกูลเดียวกันเป็นต้นเหตุ
จากผลการวิจัย นักวิทยาศาสตร์ได้นำเสนอสารประกอบบางชนิดที่น่าสนใจและเคยถูกใช้เป็นส่วนหนึ่งของยารักษาโรคมาแล้ว เช่น ไนโตรฟูรานโทอินซึ่งมักถูกหยิบมาใช้ในการรักษาการติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ รวมถึงไอโซไนอาซิด ซึ่งนำมาใช้ในการป้องกันและรักษาวัณโรค และอีริโอดิคทิออล โดยสารทั้ง 3 ตัว มีคุณสมบัติยับยั้งการจับตัวระหว่างเอสโปรตีนและตัวรับเชื้อในมนุษย์ ซึ่งจะช่วยลดการแพร่กระจายของเชื้อได้
‘เจเรมี สมิธ’ ผู้อำนวยการของมหาวิทยาลัยเทนเนสซี ชี้แจงในแถลงการณ์ว่า “ผลวิจัยนี้ไม่ได้หมายความว่าเราพบยารักษาไวรัสโคโรนา” แต่เป็นการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีเพื่อการวิจัยและพัฒนาในขั้นต่อๆ ไป นอกจากนี้ เจเรมี ยังออกมาชื่นชมเทคโนโลยีประมวลผลที่สามารถประมวลข้อมูลให้นักวิจัยใช้เสร็จได้ภายใน 1 - 2 วัน โดยเมื่อเทียบกับคอมพิวเตอร์ธรรมดาอาจต้องใช้เวลานับเดือน
อ้างอิง; CNN, The Independent