ไม่พบผลการค้นหา
เลขา ครป. เรียกร้องรัฐมนตรีต่างประเทศยุติบทบาทในช่วงรักษาการ หวั่นนำพาการทูตไทยตกต่ำในสายตาโลกหลังเชิญรัฐมนตรีพม่าเข้าร่วมการประชุมลับที่พัทยา

เมธา มาสขาว เลขาธิการคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) กล่าวว่า การที่ดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ จะจัดประชุมอาเซียนหารือประเด็นพม่า หรือ Track 1.5 ที่พัทยา ประเทศไทย ในวันที่ 18-19 มิ.ย.นี้นั้น ผมเห็นว่า การที่รัฐบาลริเริ่มกระทำเรื่องดังกล่าวในช่วงที่เป็นรัฐบาลรักษาการเป็นเรื่องไม่เหมาะสม เนื่องจากจะกระทบกับนโยบายต่างประเทศที่ผูกพันกับไทยในอนาคต ซึ่งรัฐบาลในอนาคตอาจมีนโยบายต่างประเทศไม่เหมือนกับ ดอน ปรมัตถ์วินัย ก็ได้ และนักการทูตส่วนใหญ่ก็ไม่เห็นด้วยกับการทำงานที่ไม่ประสบความสำเร็จในการต่างประเทศที่ผ่านมา และทำให้ภาพลักษณ์ทางการทูตไทยตกต่ำในรอบหลายปี ดอน ปรมัตถ์วินัย จึงควรยุติบทบาทใดๆ ในช่วงรักษาการโดยทันที

โดยเฉพาะท่าทีต่อความขัดแย้งในพม่า ที่ดูเหมือนว่ารัฐบาลไทยมีผลประโยชน์ทับซ้อนในหลายเรื่องที่ผูกพันกับผู้บัญชาการทหารพม่า ทำให้มีท่าทีที่พยายามสนับสนุนรัฐบาลทหารพม่าของพล.อ.อาวุโส มินอ่องหล่าย มาโดยตลอด และแต่งตั้งคนสนิทติดต่อธุระโดยตรงแทนวิถีทางการทูตที่สมควร และการแก้ไขปัญหาพม่าเป็นบทบาทที่อาเซียนกำลังดำเนินการแม้จะไม่มีความคืบหน้า เพราะที่ผ่านมาจัดมากี่ครั้งแล้วยังไม่เห็นความก้าวหน้าที่จะช่วยสนับสนุนการลดการใช้ความรุนแรง การแก้ ปัญหาโดยสันติวิธีและหยุุดสงครามภายใน

การประชุม Track 1.5 ที่รวมรัฐมนตรีอาเซียนและฝ่ายวิชาการของกระทรวงมีกำหนดการประชุมครั้งที่ 3 ที่ลาว แต่นายดอนกลับช่วงชิงสถานการณ์ในช่วงนี้จัดที่ไทยแทน ประเทศไทยสามารถมีบทบาทที่ก้าวหน้าได้ แต่การกระทำของรัฐบาลรักษาการนี้กำลังมีบทบาทที่ถอยหลัง เพราะเชิญชวนรัฐมนตรีทหารพม่ามาด้วย ซึ่งกลายเป็นเครื่องมือของรัฐบาลทหารพม่า แทนที่จะผลักดันให้ชนกลุ่มน้อยและรัฐบาลพลัดถิ่นของพม่าร่วมหารือด้วยเพื่อสันติภาพ การกระทำนี้เป็นการส่งสัญญาณการยอมรับรัฐบาลทหารพม่าโดยชอบด้วยกฎหมาย ทำให้บรรดาประเทศอาเซียนอื่นปฏิเสธกันทันที เพราะรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศแตกแถวจากสิ่งที่อาเซียนตกลงหลักการกันไว้ และพยายามสร้างการแบ่งฝักแบ่งฝ่ายในอาเซียนโดยตรง

เป็นที่หน้าละอายที่การต่างประเทศของไทยถูกดูแคลนในยุคนี้ ตามที่มีจดหมายจากรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศอินโดนีเซีย ในฐานะประเทศประธานอาเซียน ที่เหมือนตบหน้านายนายดอน ปรมัตถ์วินัย โดยตรงว่ากระทำการไม่เหมาะสมในเรื่องนี้ รวมถึงจดหมายจากรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศสิงคโปร์ที่ปฏิเสธไม่มาและบอกว่า มึนงงกับความเห็นของนายดอนที่ยืนยันไม่มีเสียงคัดค้านอย่างชัดเจนต่อข้อเสนอแนะของรัฐสมาชิกอาเซียนในการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 42 เมื่อเดือนที่แล้วว่าถึงเวลาแล้วที่อาเซียนจะต้องกลับมามีส่วนร่วมกับรัฐบาลพม่าอย่างเต็มที่ในระดับผู้นำอีกครั้ง เพราะในความเป็นจริง ผู้นำหลายคน รวมทั้งนายกรัฐมนตรีของสิงคโปร์คัดค้านข้อเสนอแนะให้เข้าร่วมกับสภาบริหารแห่งรัฐพม่า (SAC) เนื่องจากขาดความคืบหน้าที่สำคัญและรัฐบาลทหารพม่าไม่เคารพหลักการคำมั่นสัญญาที่ให้ไว้ 5 ข้อ

การประชุมใดๆ ก็ตามที่จัดขึ้นภายใต้ร่มของอาเซียน ทั้งที่เป็นทางการหรือไม่เป็นทางการ ควรยืนยันและปฏิบัติตามหลักการร่วมกันอย่างเคร่งครัด จุดยืนของอาเซียนต่อพม่าขึ้นอยู่กับฉันทามติ 5 ประการ ที่รัฐบาลพม่าจะยอมรับหรือไม่ และไทยในฐานะประเทศเพื่อนบ้าน ควรให้เกียรติกับประชาชนชาวพม่าที่กำลังต่อสู้กับรัฐบาลทหารพม่าในวันนี้ด้วย และหากพวกเขาเป็นรัฐบาลในวันหน้า รัฐบาลไทยในวันนี้จะมองหน้าเขาได้อย่างไร นี่คือการดำเนินนโยบายต่างประเทศที่ผิดพลาดอย่างมหันต์เพราะไม่เคารพหลักการพื้นฐานที่สำคัญ โดยเฉพาะหลักการสิทธิมนุษยชนสากล