‘วอยซ์’ รวบรวมสิ่งที่ควรรู้ในการเลือก สว.ครั้งนี้ไว้ในชุดภาพพร้อมคำบรรยาย เหมาะกับทั้งผู้จะลงสมัครและประชาชาทั่วไป ย่อยข้อมูลซับซ้อนให้ง่าย เติมมิติประวัติศาสตร์ และเกร็ดต่างๆ ครบ จบในที่เดียว
เหลือเวลาอีกเพียงไม่กี่วัน สว.250 คน ที่มาโดย คสช.จะหมดอายุลง เปิดทางให้มีการเลือกกันใหม่ แม้ระบบจะซับซ้อนและกล่าวไม่ได้ว่ามาจากประชาชนทั้งประเทศ แต่ก็น่าจะเป็นความหวังรำไรสำหรับศักราชใหม่ทางการเมืองไทย
เนื่องด้วยตามรัฐธรรมนูญ 2560 สว. 200 คนชุดใหม่ยังมีหน้าที่อีกหลายอย่างที่สำคัญ เช่นเป็นเสียงชี้เป็นชี้ตายว่าจะแก้ไขรัฐธรรมนูญสำเร็จหรือไม่ มีส่วนร่วมผ่านกฎหมายสำคัญๆ เป็นผู้โหวตขั้นสุดท้ายผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ และศาลรัฐธรรม ซึ่งจะว่าไป จนถึงปี 2570 จะมีคนพ้นวาระอย่างน้อย 16 คน และเราต่างรู้ดีว่า กลไกนี้สำคัญเพียงไหนต่อพัฒนาการประชาธิปไตย
กลไกการเลือกที่ซับซ้อนอย่างมาก เป็นดอกผลของผู้ยกร่างที่ต้องการกัน 'การเมือง' (ที่ไม่ต้องการ) ออกไปจากสภาสูงให้มากที่สุด ทั้งที่โดยตัวสภาสูงเอง การถือกำเนิดและการดำรงอยู่ของมันเป็น 'การเมือง' อย่างยิ่ง เพียงแต่ 'ฝั่งไหน' และโดยมากก็ถูกวิจารณ์ว่าเป็นจุดสำคัญที่ตรึงรั้งไม่ให้ประชาธิปไตยเดินไปข้างหน้าได้เร็ว
‘วอยซ์’ รวบรวมสิ่งที่ควรรู้ในการเลือก สว.ครั้งนี้ไว้ในชุดภาพพร้อมคำบรรยาย เหมาะกับทั้งผู้จะลงสมัครและประชาชาทั่วไป ย่อยข้อมูลซับซ้อนให้ง่าย เติมมิติประวัติศาสตร์ และเกร็ดต่างๆ ครบ จบในที่เดียว
52 วัน กว่าจะได้ สว. ชุดใหม่
23 เมษายน 2567 เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ระบุว่าคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบร่างพระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.) ตามที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เสนอ โดยมีกรอบเวลาการเลือก สว. ชุดใหม่ ดังนี้
- 11 พ.ค. 2567 สว. แต่งตั้ง หมดอายุ
- 13 พ.ค. 2567 ประกาศกำหนดวันรับสมัคร สว. (รู้วันรับสมัคร)
- รับสมัคร สว. ระยะเวลา 5-7 วัน
- 9 มิ.ย. 2567 เลือกระดับอำเภอ
- 16 มิ.ย. 2567 เลือกระดับจังหวัด
- 26 มิ.ย. 2567 เลือกระดับประเทศ
- 2 ก.ค. กกต. ประกาศผลการเลือก สว.
รัฐธรรมนูญ 2560 กำหนดหลักการที่มาและจำนวนวุฒิสภาตามบทบัญญัติหลัก โดยให้ ส.ว.มีจำนวน 200 คน วาระดำรงตำแหน่งคราวละห้าปี ซึ่งจะเริ่มนับอายุตั้งแต่วันที่กรรมการเลือกตั้ง (กกต.) ประกาศผล โดยกระบวนการนับตั้งแต่วันที่ ‘250 สว.’ หมดวาระ จนถึงวันประกาศผลเลือกตั้ง สว. ชุดใหม่ จะใช้เวลาทั้งสิ้น 52 วัน หรือช่วงเวลาเกือบ 2 เดือนนี้ 250 สว.ก็ยังคงต้องรักษาการอยู่ในตำแหน่งเพื่อปฏิบัติหน้าที่ต่อไป ตามมาตรา 109 ของรัฐธรรม 2560 ระบุว่า ‘สมาชิกภาพของสมาชิกวุฒิสภา เริ่มตั้งแต่วันที่คณะกรรมการการเลือกตั้งประกาศผลการเลือก เมื่ออายุของวุฒิสภาสิ้นสุดลง ให้สมาชิกวุฒิสภาอยู่ในตําแหน่งเพื่อปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่าจะมีสมาชิกวุฒิสภาขึ้นใหม่’
นั่นแปลว่า 250 สว. จะยังคงมีอำนาจเต็มอยู่ จนกว่าจะถึงวันที่ กกต. ประกาศผลการเลือก สว. ชุดใหม่ โดย 3 หน้าที่หลักของ สว. รักษาการ มีดังนี้
- พิจารณาและการกลั่นกรองกฎหมาย พิจารณาและกลั่นกรองพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) อนุมัติพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) และแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ
- ควบคุมการบริหารราชการแผ่นดิน ตั้งกระทู้ถาม เปิดอภิปรายทั่วไปในวุฒิสภา หรือที่ประชุมรัฐสภา การตั้งกรรมาธิการ (กมธ.)
- ให้คำแนะนำหรือให้ความเห็นชอบบุคคลดำรงตำแหน่งในองค์กรตามรัฐธรรมนูญ เช่น ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ผู้ตรวจการแผ่นดิน เป็นต้น
20 กลุ่มอาชีพ เลือกสมัครกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง
ใน ‘พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว.’ กำหนดให้ ‘ส.ว. ชุดใหม่’ มาจากการ ‘เลือกกันเอง’ ของกลุ่มอาชีพ-ความเชี่ยวชาญทั้งหมด 20 กลุ่ม โดยผู้สมัครเลือกลงสมัครได้แค่ 1 กลุ่มเท่านั้น ได้แก่
- กลุ่มบริหารราชการแผ่นดินและความมั่นคง: ผู้ที่เคยเป็นข้าราชการเจ้าหน้าที่รัฐ
- กลุ่มกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม ผู้พิพากษา ตุลาการ อัยการ ตำรวจ ฯลฯ
- กลุ่มการศึกษา ครู อาจารย์ นักวิจัย ผู้บริหารสถานศึกษา ฯลฯ
- กลุ่มสาธารณสุข แพทย์ นักเทคนิคการแพทย์ พยาบาล เภสัชกร ฯลฯ
- กลุ่มทำนา ปลูกพืชล้มลุก
- กลุ่มทำ สวนป่าไม้ ประมง เลี้ยงสัตว์
- กลุ่มลูกจ้าง ผู้ใช้แรงงาน
- กลุ่มสิ่งแวดล้อม อสังหาริมทรัพย์ พลังงาน
- กลุ่มผู้ประกอบกิจการ SMEs
- กลุ่มผู้ประกอบกิจการอื่น
- กลุ่มท่องเที่ยวโรงแรม ประกอบธุรกิจท่องเที่ยว มัคคุเทศก์ พนักงานโรงแรม ฯลฯ
- กลุ่มผู้ประกอบอุตสาหกรรม
- กลุ่มวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี
- กลุ่มสตรี (เพศกำเนิดเป็นเพศหญิงก็สมัครได้)
- กลุ่มผู้สูงอายุ คนพิการหรือทุพพลภาพ ชาติพันธุ์ กลุ่มอัตลักษณ์อื่น
- กลุ่มศิลปะ ดนตรี บันเทิง กีฬา
- กลุ่มประชาสังคม (NGO) องค์กรสาธารณประโยชน์
- กลุ่มสื่อสารมวลชน นักเขียน
- กลุ่มอาชีพอิสระ
- กลุ่มอื่นๆ (เข้าหรือไม่เข้าคุณสมบัติของอีก 19 กลุ่ม ก็สามารถสมัครกลุ่มนี้ได้)
อย่างไรก็ดี วันที่ 11 เมษายน 2567 ที่ผ่านมา กกต. ได้ออกประกาศเรื่อง ‘การมีลักษณะอื่นๆ ในทำนองเดียวกัน’ เพื่อขยายความเข้าใจแก่ประชาชนว่า แต่ละกลุ่มอาชีพ ครอบคลุมอาชีพปลีกย่อยใดบ้าง โดยสามารถอ่านรายละเอียดได้ที่ https://n9.cl/rrwjc
เช็กให้ชัวร์ คุณสมบัติที่ต้องมี
- มีสัญชาติไทยโดยการเกิด
- มีอายุไม่ต่ำกว่า 40 ปีในวันสมัครรับเลือก
- มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ และประสบการณ์ หรือทำงานในด้านที่สมัครไม่น้อยกว่าสิบปี ยกเว้น ผู้สมัครในกลุ่มสตรี ผู้สูงอายุ คนพิการหรือทุพพลภาพ กลุ่มชาติพันธ์ุ และกลุ่มอัตลักษณ์อื่น
- ผู้สมัครต้องมีลักษณะอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังต่อไปนี้ด้วย
> เป็นบุคคลซึ่งเกิดในอำเภอที่สมัครรับเลือก
> มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านในอำเภอที่สมัครรับเลือกมาแล้วเป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่า สองปีนับถึงวันสมัครรับเลือก
> ทำงานอยู่ในอำเภอที่สมัครรับเลือกมาแล้วเป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่าสองปี นับถึงวันสมัครรับเลือก
> เคยทำงานหรือเคยมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านอยู่ในอำเภอที่สมัครรับเลือก แล้วแต่กรณี เป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่าสองปี
> เคยศึกษาในสถานศึกษาที่ตั้งอยู่ในอำเภอที่สมัครรับเลือกเป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่า สองปีการศึกษา
ข้อห้ามผู้สมัคร 'อย่าพลาด มีโทษ'
สำหรับ ‘ลักษณะต้องห้าม’ ของสมาชิกวุฒิสภา มีด้วยกันถึง 26 ข้อ หรือพูดง่ายๆ ว่า หากผู้ประสงค์สมัครเป็น สว. ดันมีลักษณะตรงตามข้อใดข้อหนึ่ง จะสมัครไม่ได้ หรือหากสมัคร ก็จะมีบทลงโทษตามกฎหมายอีกด้วย
‘ลักษณะต้องห้าม’ 26 ข้อ มีดังต่อไปนี้
- ติดยาเสพติดให้โทษ
- เป็นบุคคลล้มละลายหรือเคยเป็นบุคคลล้มละลายทุจริต
- เป็นเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใด ๆ
- เป็นภิกษุ สามเณร นักพรต หรือนักบวช
- อยู่ในระหว่างถูกเพิกถอนสิทธิเลือกต้ังไม่ว่าคดีนั้นจะถึงที่สุดแล้วหรือไม่
- วิกลจริตหรือจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ
- อยู่ระหว่างถูกระงับการใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นการชั่วคราวหรือถูกเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง
- ต้องคำพิพากษาให้จำคุกและถูกคุมขังอยู่โดยหมายของศาล
- เคยได้รับโทษจำคุกโดยได้พ้นโทษมายังไม่ถึงสิบปีนับถึงวันเลือกในระดับอำเภอ เว้นแต่ ในความผิดอันได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ
- เคยถูกสั่งให้พ้นจากราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจเพราะทุจริตต่อหน้าที่ หรือถือว่ากระทำการทุจริตหรือประพฤติมิชอบในวงราชการ
- เคยต้องคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลอันถึงที่สุดให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินเพราะร่ำรวยผิดปกติ หรือเคยต้องคำพิพากษาอันถึงที่สุดให้ลงโทษจำคุกเพราะกระทำความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต
- เคยต้องคำพิพากษาอันถึงที่สุดว่ากระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการหรือ ต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรม หรือกระทำความผิดตามกฎหมายว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การ หรือหน่วยงานของรัฐ หรือความผิดเกี่ยวกับทรัพย์ที่กระทำโดยทุจริตตามประมวลกฎหมายอาญา ความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน กฎหมายว่าด้วยยาเสพติด ในความผิดฐานเป็นผู้ผลิต นำเข้า ส่งออก หรือผู้ค้า กฎหมายว่าด้วยการพนันในความผิดฐานเป็นเจ้ามือ หรือเจ้าสำนัก กฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ หรือกฎหมายว่าด้วยการป้องกัน และปราบปรามการฟอกเงินในความผิดฐานฟอกเงิน
- เคยต้องคำพิพากษาอันถึงที่สุดว่ากระทำการอันเป็นการทุจริตในการเลือกตั้ง
- อยู่ในระหว่างต้องห้ามมิให้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง
- เป็นพนักงานหรือลูกจ้างของหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ หรือเป็นเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ
- เป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ หรือผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ
- เคยพ้นจากตำแหน่งเพราะศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่ามีการเสนอ การแปรญัตติ หรือ การกระทำด้วยประการใด ๆ ที่มีผลให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา หรือกรรมาธิการ มีส่วนไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อมในการใช้งบประมาณรายจ่าย
- เคยพ้นจากตำแหน่งเพราะศาลฎีกาหรือศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองมีคำพิพากษาว่าเป็นผู้มีพฤติการณ์ร่ำรวยผิดปกติ หรือกระทำความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ หรือจงใจปฏิบัติหน้าที่หรือใช้อำนาจขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย หรือฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติ ตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง
- เป็นข้าราชการ
- เป็นหรือเคยเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เว้นแต่ ได้พ้นจากการเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร มาแล้วไม่น้อยกว่าห้าปีนับถึงวันสมัครรับเลือก
- เป็นสมาชิกพรรคการเมือง
- เป็นหรือเคยเป็นผู้ดำรงตำแหน่งใดในพรรคการเมือง เว้นแต่ ได้พ้นจากการดำรงตำแหน่งในพรรคการเมืองมาแล้วไม่น้อยกว่าห้าปีนับถึงวันสมัครรับเลือก
- เป็นหรือเคยเป็นรัฐมนตรี เว้นแต่ ได้พ้นจากการเป็นรัฐมนตรีมาแล้วไม่น้อยกว่าห้าปีนับถึงวันสมัครรับเลือก
- เป็นหรือเคยเป็นสมาชิกสภาท้องถิ่นหรอืผู้บริหารท้องถิ่น เว้นแต่ ได้พ้นจากการเป็นสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นมาแล้วไม่น้อยกว่าห้าปีนับถึงวันสมัครรับเลือก
- เป็นบุพการี คู่สมรส หรือบุตรของผู้ดำรงตาแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา ข้าราชการการเมือง สมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น ผู้สมัครรับเลือกเป็นสมาชิกวุฒิสภา ในคราวเดียวกัน หรือผู้ดำรงตำแหน่งใดในศาลรัฐธรรมนูญหรือองค์กรอิสระ
- เคยเป็นสมาชิกวุฒิสภาตามรัฐธรรมนูญนี้
ในส่วนของบทลงโทษ หากรู้ว่าตัวเองตรงกับลักษณะต้องห้าม แล้วยังลงสมัคร ได้แก่
'ผู้รู้อยู่แล้วว่าตนไม่มีสิทธิสมัครเข้ารับเลือกเป็น สว. แต่ยังสมัคร จะได้รับโทษ จำคุกตั้งแต่ 1-10 ปี และปรับตั้งแต่ 20,000-200,000 บาท และให้ศาลเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง 20 ปี’
นอกจากนี้ ยังมี ‘โทษทัณฑ์’ อีกหลายกรณี ดังนี้
- ให้ผู้ดำรงตำแหน่งการเมืองช่วยเหลือ
ผู้สมัคร สว. ที่ยินยอมให้ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองผู้ใดช่วยเหลือเพื่อให้ได้รับเลือกเป็น สว. จะได้รับโทษ จำคุกตั้งแต่ 1-10 ปี และปรับตั้งแต่ 20,000-200,000 บาท และให้ศาลเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง
ผู้สมัคร สว.ที่แนะนำตัวไม่เป็นไปตามวิธีการและเงื่อนไขที่ กกต. กำหนดจะได้รับโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้ศาลเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของผู้นั้น 5 ปี
- อย่าสมัครเกิน 1 กลุ่ม 1 อำเภอ
ผู้สมัคร สว.สมัครเข้ารับเลือกมากว่า 1 กลุ่ม หรือมากกว่า 1 อำเภอ จะได้รับโทษ จำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้ศาลเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง 5 ปี
หากมีการจูงใจให้ผู้อื่นสมัครเข้ารับเลือกเป็น สว.หรือถอนการสมัคร หรือกระทำการใดๆ อันไม่ชอบด้วยกฎหมาย ให้ผู้นั้นหมดสิทธิที่จะเลือกหรือได้รับเลือก หรือเพื่อจูงใจให้ผู้สมัครหรือผู้มีสิทธิสมัครลงคะแนนหรือไม่ลงคะแนนให้แก่ผู้ใด
สิ่งที่ต้องรู้ / เอกสารที่ต้องเตรียม
- เงินค่าสมัคร 2,500 บาท
- ต้องยื่นสมัครด้วยตนเองเท่านั้น
- สมัครได้แค่กลุ่มอาชีพเดียว และอำเภอเดียวเท่านั้น
- อดีต 250 สว. ตาม รธน. 60 สมัครอีกไม่ได้
- เมื่อยื่นสมัครแล้ว จะถอนการสมัครไม่ได้
- วาระ 5 ปี เป็นได้วาระเดียว
เอกสารที่ต้องเตรียม (ห้ามลืมนะ)
ก่อนวันรับสมัคร
ผู้สมัครต้องไปติดต่อขอรับเอกสารการสมัครจากนายทะเบียนอำเภอหรือนายทะเบียนท้องถิ่น (ขอเอกสารได้ทุกอำเภอทั่วประเทศ) โดยมีเอกสารดังต่อไปนี้
- แบบใบสมัคร (สว.2)
- แบบข้อมูลแนะนำตัวผู้สมัคร (สว.3)
- แบบหนังสือรับรองความรู้ ความเชี่ยวชาญ และประสบการณ์ หรือทางานในกลุ่มที่สมัคร (สว.4)
- สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน
- สำเนาทะเบียนบ้าน
- ใบรับรองแพทย์
- รูปถ่ายหน้าตรงไม่สวมหมวกและไม่สวมแว่นตาดำ หรือภาพพิมพ์ ขนาดกว้างประมาณ 8.5 เซนติเมตร ยาวประมาณ 13.5 เซนติเมตร
- หลักฐานอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังนี้
- หลักฐานซึ่งแสดงว่าเป็นบุคคลซึ่งเกิดในอำเภอที่สมัครรับเลือก
- หลักฐานซึ่งแสดงว่ามีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน ในอำเภอที่สมัครรับเลือกมาแล้ว เป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่า 2ปีนับถึงวันสมัครรับเลือก
- หลักฐานซึ่งแสดงว่าทำงานอยู่ในอำเภอที่สมัครรับเลือกมาแล้ว เป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่า 2 ปี นับถึงวันสมัครรับเลือก
- หลักฐานซึ่งแสดงว่าเคยทำงานหรือเคยมีชื่ออยู่ทะเบียนบ้านในอำเภอที่สมัครรับเลือก แล้วแต่กรณี เป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่า 2 ปี
- หลักฐานซึ่งแสดงว่าเคยศึกษาในสถานศึกษาที่ตั้งอยู่ในอำเภอที่สมัครรับเลือกมาแล้ว เป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่า 2 ปีการศึกษา
- หลักฐานอื่น ๆ เช่น
- หลักฐานการขอลาออก หรือการขออนุญาตให้ลาออกกรณีเป็นข้าราชการ ซึ่งมีตำแหน่งหรือเงินเดือนประจำ เป็นพนักงานหรือลูกจ้างหน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ หรือองค์กรส่วนท้องถิ่น หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ
- เอกสารแสดงการเปลี่ยนชื่อตัว ชื่อสกุล (ถ้ามี)
- สำเนาหลักฐานอื่นที่ผู้สมัครนำมาแสดงตนว่าเป็นผู้มีคุณสมบัติครบถ้วน และไม่มีลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกและไม่เป็นบุคคลผู้ถูกจากัดสิทธิตามกฎหมายเกี่ยวกับการเลือกตั้งและพรรคการเมือง
โดยเอกสารประกอบการสมัครในข้อที่ (4) (5) (8) (9) และ (11) ผู้สมัครจะต้องเซ็นรับรองความถูกต้อง ทุกฉบับทุกหน้า
วันรับสมัคร
- ผู้สมัคร ต้องยื่นเอกสารหลักฐานการสมัครด้วยตนเอง ต่อผู้อำนวยการการเลือกระดับอำเภอ โดยมีสิทธิสมัครได้เพียงกลุ่มเดียวและอำเภอเดียว
- ในระหว่างเวลาการรับสมัครจนสิ้นสุดระยะเวลาการรับสมัคร ห้ามไม่ให้คณะกรรมการหรือพนักงานเจ้าหน้าที่เปิดเผยรายชื่อผู้สมัคร และจำนวนผู้สมัครในแต่ละกลุ่ม
เกร็ดประวัติศาสตร์ กับ 5 เรื่องที่ควรรู้
นับแต่เปลี่ยนแปลงการปกครอง ประเทศไทยมีรัฐธรรมนูญ 20 ฉบับ มีที่มาดังนี้
1 ฉบับ - ผู้ก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครอง (คณะราษฎร)
10 ฉบับ - ผ่านกระบวนการจัดทำรัฐธรรมนูญ
9 ฉบับ - รัฐธรรมนูญของคณะรัฐประหาร
รัฐธรรมนูญของคณะรัฐประหารส่วนใหญ่เป็นฉบับ ‘ชั่วคราว’ และใช้สภาเดี่ยวแทบทั้งสิ้น
คำถามคือ วุฒิสภา ถือกำเนิดในประเทศไทยตั้งแต่เมื่อไร สภาที่สองนี้สำคัญอย่างไร และฝ่ายต่างๆ แก่งแย่งพื้นที่นี้หนักหนาเพียงไหน โดยเฉพาะช่วง 25 ปีแรกหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองที่ ‘ศึกชิงสภาสูง’ เข้มข้น ก่อนที่สุดท้ายฝ่ายจารีตนิยม-อนุรักษ์นิยม จะเป็นผู้ชนะและวางรากฐานของ สว.มาจนปัจจุบัน
แหล่งอ้างอิงเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ สว. เล่มที่อ่านสนุกที่สุดเล่มหนึ่ง คือ ‘สภาที่สองในประวัติศาสตร์รัฐธรรมนูญไทย’ โดยนายกร กาญจนพัฒน์ วิทยานิพนธ์นิติศาสตร์มหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (2556) ซึ่งเขียนเส้นทางวุฒิสภาไว้อย่างะละเอียดและน่าสนใจ สรุปได้ดังนี้
- หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 ประเทศไทยใช้ ‘ธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว’ ยกร่างโดยคณะราษฎร ผู้ทำการเปลี่ยนแปลงการปกครอง กำหนดให้มีสภาเดียว คือ สภาผู้แทนราษฎร แต่สมาชิกมี 2 รูปแบบ คือ มาจากการเลือกตั้งและแต่งตั้ง เหตุที่ต้องมีส่วนแต่งตั้งเนื่องจากต้องการประคองการเปลี่ยนแปลงการปกครอง และตอนนั้นประชาชนที่อ่านออกเขียนได้ยังมีน้อยมาก จึงกำหนดไว้ว่า ส่วนของการแต่งตั้งจะเปลี่ยนไปสู่เลือกตั้งทั้งหมดภายใน 10 ปี
- ต่อมามีรัฐธรรมนูญ ฉบับ 10 ธันวาคม 2475 ที่ผ่านการประนีประนอมกับรัชกาลที่ 7 แล้ว โครงสร้างสภาก็ยังกำหนดเป็นสภาเดี่ยว โดยคณะผู้ยกร่างฯ ระบุเหตุผลว่าไว้
“บางประเทศมีสองสภาเพราะเขามีประเพณีบังคับ แต่การจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ของไทยไม่มีประเพณีใดบังคับว่าต้องมีสภาเดียวหรือสองสภา และการมีสองสภาจะทำให้งานของสภาชักช้าโตงเตงโดยไม่จำเป็น การมีสภาเดียวกิจการของสภาจะดำเนินได้รวดเร็วมากกว่า นอกจากนั้นรัฐธรรมนูญที่เกิดใหม่ในระยะหลังของประเทศต่างๆ ส่วนใหญ่จัดให้เป็นรัฐสภาแบบสภาเดี่ยว”
- หลังจากนั้นก็ฝุ่นตลบทันที เพราะเกิดความขัดแย้งเรื่อง ‘เค้าโครงเศรษฐกิจ’ ของหลวงประดิษฐ์มนูญธรรมที่ถูกวิจารณ์ว่ามีลักษณะสังคมนิยม จนนายกฯ คนแรกสายขุนนาง ‘พระยามโนปกรณ์นิติธาดา’ ออก พ.ร.ฎ.ปิดสภา-งดใช้รัฐธรรมนูญบางมาตรา รวบอำนาจนิติบัญญัติมาไว้ที่คณะรัฐมนตรี ตามมาด้วยรัฐประหารยึดอำนาจคืนของคณะราษฎร นำโดย ‘พระยาพหลพลพยุหเสนา’ ต่อด้วยแรงต้านกลับจากฝ่ายจารีตนิยม เกิด ‘กบฏบวรเดช’ เรียกร้องให้รัฐบาลลาออกและอีกหนึ่งข้อเรียกร้องสำคัญคือ สมาชิกสภาประเภทที่ 2 (แต่งตั้ง) ต้องให้พระมหากษัตริย์เลือก แทนที่จะเป็นคณะราษฎร
- ชัดยิ่งขึ้นไปอีกสำหรับชนวนความขัดแย้งเกี่ยวกับสภาที่สอง หลังรัฐบาลปราบกบฏบวรเดชสำเร็จไม่นาน รัชกาลที่ 7 ทรงสละราชสมบัติในปี 2477 ส่วนหนึ่งของพระราชหัตเลขาระบุว่า
“รัฐธรรมนูญฉบับถาวรได้มีการเปลี่ยนแปลงให้ดีขึ้นตามคำร้องขอของข้าพเจ้า แต่ให้มีสมาชิกซึ่งตนเองเป็นผู้เลือกเองเข้ากำกับอยู่ในสภาผู้แทนราษฎรถึงครึ่งหนึ่ง การที่ข้าพเจ้าได้ยินยอมให้มีสมาชิก 2 ประเภทก็โดยหวังว่าสมาชิกประเภทที่สอง ซึ่งข้าพเจ้าตั้งนั้น จะเลือกจากบุคคลที่รอบรู้การงาน และชำนาญในวิธีดำเนินการปกครองประเทศโดยทั่วๆ ไปไม่จำกัดเป็นพวกใดคณะใด เพื่อจะได้ช่วยเหลือนำทางให้แก่สมาชิกซึ่งราษฎรเลือกตั้งขึ้นมา แต่ครั้นเมื่อถึงเวลาที่จะตั้งสมาชิกประเภทที่สองขึ้น ข้าพเจ้าไม่มีโอกาสแนะนำในการเลือกเลย และคณะรัฐบาลก็เลือกเอาแต่เฉพาะพวกตนเกือบทั้งนั้น มิได้คำนึงถึงความชำนาญ....”
- ต่อมา ‘จอมพล ป.’ ได้ก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งนายกฯ ต่อจากพระยาพหลฯ และถูกวิจารณ์มากว่าใช้อำนาจเข้มข้น เมื่อเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 จอมพล ป.เลือกอยู่ข้างญี่ปุ่น ประกาศสงครามกับอังกฤษและสหรัฐอมเริกา ทำให้เกิดขบวนการต่อต้านภายในประเทศ ชื่อ ‘เสรีไทย’ นำโดย ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช และปรีดี พนมยงค์ ทำให้ ส.ส.ในสภาสนันบสนุนรัฐบาลลดลง และแพ้โหวตสำคัญๆ หลายเรื่อง ทำให้จอมพล ป.ต้องลาออกจากนายกฯ แล้วได้ ‘ควง อภัยวงศ์’ เป็นนายกฯ คนต่อมา และเสนอญัตติให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญเนื่องจากเห็นว่าใช้มา 13 ปีแล้ว บ้านเมืองก็เปลี่ยนไปมาก มีการตั้งกรรมาธิการ 27 คนศึกษาว่าไทยควรเป็นระบบ ‘สภาเดี่ยวหรือสภาคู่’
- สภาถกเถียงกันอย่างเข้มข้น ฝ่ายสนับสนุนระบบ 2 สภาให้เหตุผลน่าสนใจ เช่น ระบบ 2 สภานั้นเข้ากับการเป็นสมาชิกองค์การสหประชาชาติ ซึ่งเวลานั้นสมาชิก 37 ประเทศ เป็นระบบสภาคู่ 30 ประเทศ, เป็นหลักประกันให้เกิดดุลอำนาจทางนิติบัญญัติ, ป้องกันการกระทบเชิงอำนาจระหว่างฝ่ายบริหารกับประมุข เช่น สภาสูงยับยั้งกฎหมายเองไม่ต้องให้กษัตริย์ใช้อำนาจวีโต้ เป็นต้น
กรรมาธิการที่ศึกษาลงมติเป็น ‘สองสภา’ โดยชนะกันด้วยคะแนนเพียง 1 หรือ 2 คะแนนเท่านั้น เมื่อมีการอภิปรายหลักการของร่างรัฐธรรมนูญและลงมติกันในวาระแรก ปรากฏว่า มติให้มี ‘สองสภา’ ชนะไปเพียง 5 เสียงเท่านั้น
- อย่างไรก็ดี รัฐบาลในนั้นอยู่กันได้ไม่ยาว ขั้วการเมืองเปลี่ยนไปมา ผ่านรัฐบาล ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมชและนายควง อภัยวงศ์หนที่ 2 ภารกิจยกร่างรัฐธรรมนูญก็ยังค้างเติ่ง จน ‘ปรีดี พนมยงค์’ ได้เข้ารับตำแหน่งนายกฯ ช่วงสั้นๆ เพื่อผลักดันภารกิจการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้สำเร็จ
- ในที่สุดก็ได้ประกาศใช้รัฐธรรมนูญ 2489 ที่มีการจัดรูปองค์กรฝ่ายนิติบัญญัติเป็น 2 สภาอย่างชัดเจน แต่วุฒิสภาสมัยนั้นเรียกชื่อว่า พฤฒสภา (แปลว่าสภาของผู้อาวุโส)
ลักษณะของ พฤฒสภา หรือ สว.ชุดแรกอย่างเป็นทางการ มี 80 คน ขณะที่ สส.มี 172 คน โดย สว.ต้องมีอายุ 40 ปีขึ้นไป
ที่มา - กำหนดให้มาจากการเลือกตั้งทางอ้อมนั่นคือ ให้ ‘องค์การเลือกตั้งสมาชิกพฤฒสภา’ เป็นผู้เลือก ซึ่งองค์กรดังกล่าวประกอบด้วย สส.ที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน
อำนาจหน้าที่ - โดยหลักคือการกลั่นกรองกฎหมายที่ผ่านสภาผู้แทนฯ แต่ไม่มีสิทธิเสนอกฎหมาย มีสิทธิในการตั้งกระทู้ถามรัฐบาลได้ และเกือบจะได้มีอำนาจลงมติอภิปรายไม่ไว้วางใจด้วย แต่แพ้โหวไปเพียงคะแนนเดียว นอกจากนี้ก่อนเข้าบริหารราชการแผ่นดิน รัฐบาลต้องได้รับความไว้วางใจโดยที่ประชุมของทั้งสองสภาด้วย อีกทั้งตอนแรกมีข้อเสนอให้มีอำนาจเลือกนายกฯ ด้วยแต่ถูกตัดออกไป
เรียกได้ว่า ความพยายามให้ สว.มีอำนาจเลือกนายกฯ นั้นมีเชื้อมูลมาตั้งแต่เริ่มต้น ‘มีชัย ฤชุพันธ์’ ผู้ร่างรัฐธรรมนูญ 2560 อาจเพียงลอกเลียนเส้นทางประวัติศาสตร์
อย่างไรก็ดี รัฐธรรมนูญนี้ใช้เพียง 1 ปีเศษก็โดนรัฐประหารในปี 2490
- การทำรัฐประหารปี 2490 มีความสำคัญต่อประวัติศาสตร์ของระบบสองสภาของประเทศไทยเป็นอย่างมาก เนื่องจากเป็นจุดหักเหของระบบสองสภาอันเปลี่นวัตถุประสงค์ของการเกิดสภาที่สอง ที่ในอดีตเคยเกิดขึ้นเพื่อนำประเทศไปสู่ความเป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ยิ่งขึ้น กลายมาเป็นเครื่องมือในการสนับสนุนกลุ่มบุคคลที่มีแนวคิดแบบอนุรักษ์นิยม
- รัฐธรรมนูญ 2490 ของคณะรัฐประหาร เปลี่ยนชื่อ ‘พฤฒสภา’ เป็น ‘วุฒิสภา’ และกำหนดให้มี 100 คน (เท่า สส.) มาจากการเลือกโดยพระมหากษัตริย์ และรัฐธรรมนูญไม่มีการห้ามข้าราชการเป็นนักการเมือง ทหารจึงเป็นสว.ได้
ยุคนี้สายทหารกับสายขุนนางเริ่มมีความขัดแย้งกันและในที่สุดฝ่ายขุนนางก็ชนะในการส่งคนเข้าสภาสูง
สว.100 คนในยุคนี้ประกอบด้วย เจ้าพระยา 1 คน พระยา 54 คน พระ 15 คน หลวง 9 คน เชื้อพระวงศ์ 10 คน รวมแล้วเป็นสัดส่วนของเจ้าและขุนนางถึง 89 คน จึงมีลักษณะเหมือนสภาขุนนางของอังกฤษ
ที่สำคัญคือ เพิ่มอำนาจให้สภาสูงมาก โดยระบุว่า ในระหว่างสภาผู้แทนราษฎรถูกยุบ วุฒิสภาเปิดประชุมได้ ทำหน้าที่แทนสภาผู้แทนราษฎรไปเลย จะออกกฎหมายใดๆ ก็ได้ จนกว่าจะเลือกตั้งเสร็จสิ้น
- วุฒิสภาในยุคนี้เองได้มีมติให้ตั้ง ‘สภาร่างรัฐธรรมนูญ’ ขึ้นโดยไม่รอให้มีการเลือกตั้งสภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภาก็ไม่ไว้วางใจว่าประชาชนจะเลือกคนได้เหมาะสม จึงออกแบบให้สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) มาจาก สว.เลือก 10 คน, สส.เลือก 10 คน, เลือกตั้งมา 20 คน รวมแล้ว 40 คน ผลปรากฏว่า คนของพรรคประชาปัตย์ได้ไป 22 คน ขุนนางเก่า 12 คน ฝ่ายอื่นเพียง 6 คน ดังนั้น ไม่ต้องสงสัยว่า หน้าตาของรัฐธรรมนูญฉบับต่อมาจะเป็นอย่างไร
- รัฐธรรมนูญ 2492 กำหนดว่า สส.และ สว.ห้ามเป็นข้าราชการประจำในส่วน สว.ให้มี 100 คน วาระ 6 ปี ซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงเลือกและแต่งตั้งจากผู้มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง สส. โดยให้ประธานองคมนตรีเป็นผู้รับสนองฯ
เหตุผลที่ สสร.ยังคงให้พระมหากษัตริย์เลือกยังเป็นเพราะไม่เชื่อมั่นในประชาชนโดยระบุว่าการศึกษายังน้อยแถมยังใช้สิทธิกันน้อย ถ้าใช้สิทธิเกิน 50% หรือจบประถม 80-100% ค่อยเปลี่ยนแปลง แม้จะมี สสร.เสียงส่วนน้อยเห็นว่าควรให้อำนาจประชาชนเป็นผู้เลือก ไม่ควรกลับสู่ระบอบเก่า แต่ สสร.ส่วนใหญ่เห็นควรถวายพระราชอำนาจให้พระมหากษัตริย์เลือก โดยหวังว่าจะได้ผู้ที่เป็นกลางทางการเมืองมากที่สุด
อย่างไรก็ดี เมื่อประกาศใช้รัฐธรรมนูญ ก็มีบทเฉพาะกาลว่า สว.ชุดก่อนให้เป็น สว.ต่อไป ดังนั้นจึงยังมีลักษณะสภาเจ้าและขุนนาง อีกทั้งยังเป็นอิสระจากรัฐบาลจอมพล ป. เมื่อวุฒิสภาไม่สนับสนุน รัฐบาลก็ทำงานยากลำบาก จอมพล ป.จึงได้ตัดสินใจรัฐประหารตัวเองในปี 2494 เพื่อกลับไปใช้รัฐธรรมนูญ 2475 เป็นสภาเดี่ยวอีกครั้ง
- ปี 2500 จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัตช์ ทำการรัฐประหารโค่นล้มจอมพล ป.นับเป็นการสิ้นสุดสายธารความคิดทางการเมืองของกลุ่มผู้เปลี่ยนการปกครอง 2475 เข้าสู่ยุคเผด็จการยาวนาน
วิธีคัดเลือก สว. ชุดใหม่ (มันจะงงๆ หน่อยนะ)
ขั้นตอนวิธีการคัดเลือก สว. ชุดใหม่ มีอยู่ 3 ระดับ คือ ระดับอำเภอ ระดับจังหวัด และระดับประเทศ
ขั้นแรก > ระดับอำเภอ
- เลือกกันเองภายในกลุ่มเดียวกัน / เลือกไขว้
- เริ่มต้นด้วยการให้ผู้สมัครแต่ละกลุ่มอาชีพ เลือกกันเองภายในกลุ่ม โดย 1 คน มี 2 โหวต (สามารถเลือกตัวเองได้) เพื่อหาผู้ที่ได้คะแนน 5 อันดับแรกของแต่ละกลุ่ม
- จากนั้น แบ่งสายออกเป็น 4 สาย (วิธีการจับสลาก)
- เลือกกลุ่มอื่นในสายเดียวกัน กลุ่มละ 1 คน (เลือกตัวเองหรือกลุ่มเดียวกันไม่ได้)
- ได้ผู้ได้คะแนนสูงสุด 3 อันดับแรกของแต่ละกลุ่ม
ประเทศไทยมี 878 อำเภอ และ 50 สำนักงานเขต (รวม 928) เท่ากับว่าผู้ที่ได้รับเลือกระดับอำเภอไปสู่การคัดเลือกระดับจังหวัดจะมี 55,680 คน
ขั้นที่สอง > ระดับจังหวัด
- เลือกกันเองภายในกลุ่มเดียวกัน / เลือกไขว้
- เริ่มต้นด้วยการให้ผู้สมัครแต่ละกลุ่มอาชีพ เลือกกันเองภายในกลุ่ม โดย 1 คน มี 2 โหวต (สามารถเลือกตัวเองได้) เพื่อหหาผู้ที่ได้คะแนน 5 อันดับแรกของแต่ละกลุ่ม
- จากนั้น แบ่งสายออกเป็น 4 สาย (วิธีการจับสลาก)
- เลือกกลุ่มอื่นในสายเดียวกัน กลุ่มละ 1 คน (เลือกตัวเองหรือกลุ่มเดียวกันไม่ได้)
- ได้ผู้ได้คะแนนสูงสุด 2 อันดับแรกของแต่ละกลุ่ม
ในรอบนี้จะคัดเหลือ 2 อันดับแรกของ 20 กลุ่มอาชีพ เท่ากับว่า 1 จังหวัดจะมีตัวแทน 40 คน รวมแล้วจะมีผู้เข้ารอบจาก 77 จังหวัด ไปชิงชัยในระดับประเทศทั้งหมด 3,080 คน
ขั้นที่สอง > ระดับประเทศ
- เลือกกันเองภายในกลุ่มเดียวกัน / เลือกไขว้
- เลือกกันเองในกลุ่มเดียวกัน ไม่เกิน 10 คน เพื่อหาผู้ได้คะแนนสูงสุด 40 อันดับแรกของแต่ละกลุ่ม
- จากนั้น แบ่งสายออกเป็น 4 สาย (วิธีการจับสลาก)
- เลือกกลุ่มอื่นในสายเดียวกัน กลุ่มละ 5 คน (เลือกตัวเองหรือกลุ่มเดียวกันไม่ได้)
- จะได้ผู้ได้คะแนนสูงสุด 10 อันดับแรกของแต่ละกลุ่ม จำนวน 200 คน
รอบนี้จะคัดเหลือ 200 คน ใน 20 กลุ่มอาชีพ โดยให้ผู้ที่ได้รับคะนแนสูงสุดในแต่ละกลุ่ม ตั้งแต่ 1-10 เป็นผู้ได้รับเลือกเป็นสมาชิกวุฒิสภา ส่วนผู้ที่ได้รับคะแนนลำดับ 11-15 ของแต่ละกลุ่ม จัดอยู่ในบัญชีสำรองของกลุ่มนั้น
สว. มีอำนาจอะไรบ้าง
สำหรับอำนาจและภารกิจของ สว. ชุดใหม่ เรีกยได้ว่ามีทั้งเหมือนและต่างออกไปจากเดิม ดังนี้
- โหวตเลือกนายก ‘ไม่ได้แล้ว’
- พิจารณาแก้รัฐธรรมนูญ เพราะต้องอาศัยเสียง สว. ทั้งในวาระ 1 และ วาระ 3 โดยใช้เสียงไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 จาก สว. ทั้งหมด 200 คน เท่ากับว่าต้องมีคนพร้อมโหวตเห็นด้วย อย่างน้อย 67 คน
- พิจารณากฎหมาย โดย สว. มีอำนาจลงมติเพื่อออกกฎหมาย การพิจารณากฎหมายบางประเภท สว. มีอำนาจเท่า สส. แต่บางกรณีก็มีบทบาท น้อยกว่า สส. ดังนี้
- พิจารณาแก้รัฐธรรมนูญ ในการประชุมร่วมกันของรัฐสภา สว. มีอำนาจเท่า สส. นอกจากนี้ สว. สามารถลงชื่อร่วมกับ สส. เพื่อเสนอร่างแก้รัฐธรรมนูญได้
- พิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ซึ่งเป็นกฎหมายที่เกี่ยวกับองค์กรตามรัฐธรรมนูญ การพิจารณาจะทำในการประชุมร่วมกันของรัฐสภา สว. มีอำนาจเท่า สส.
- พิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) สว. มีบทบาทน้อยกว่า สส. โดย สว. ไม่มีอำนาจ ‘ปัดตก’ ร่างกฎหมาย แต่ สว. สามารถเห็นชอบ หรือแก้ไขร่างกฎหมายที่ ผ่าน สส. มาได้
- ให้ความเห็นชอบบุคคลมาดำรงตำแหน่ง ดังนี้
- คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)
- ผู้ตรวจการแผ่นดิน
- คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)
- คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (คตง.)
- ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน
- คณะกรรมการสิทธิมนุษยชน (กสม.)
- อัยการสูงสุด
- ตุลาการศาลปกครองสูงสุด
- เลขาคณะกรรมการกฤษฎีกา
- เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินแห่งชาติ (ปปง.)
- ตรวจสอบฝ่ายบริหาร ผ่านการอภิปรายและสะท้อนปัญหาของประชาชนไปยังรัฐบาลผ่านการตั้งกระทู้ถาม
วีรกรรมศิษย์เก่าดีเด่น
กิตติศักดิ์ รัตนวราหะ
“แรกๆ บอกล้านเปอร์เซ็นต์ ตอนนี้ขึ้นมาสองล้านเปอร์เซ็นต์ ไม่เอาพิธา เพราะมีพฤติกรรมทั้งเรื่องของ ปม ม.112 และนิรโทษกรรม ที่จะทำให้บ้านเมืองลุกเป็นไฟ”
- กล่าวในรายการกรรมกรข่าวคุยนอกจอ (ยามเช้า) 1 มิถุนายน 2566
วันชัย สอนศิริ
“ปกติ สว. เนี่ยมีไม่มีน้ำหนักเท่าไหร่ ไม่มีสิทธิ์ไปโหวตใครเป็นนายกรัฐมนตรี ผมเป็นคนเขียนในรัฐธรรมนูญในสมัยที่เป็น สปท. ให้ สว. 250 คนนี้ มีสิทธิโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีได้ ผมเป็นคนเริ่มต้นคำถามพ่วง พวกเราจำได้หรือเปล่า คำถามพ่วงนี้ก็โหวตทั่วประเทศได้ 15 ล้านเสียงว่าเห็นด้วย”
- กล่าวในคลิปวิดีโอที่ถูกเผยแพร่ในโซเชียลมีเดียเมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2561 ในงานสังสรรค์ประจำปีของเด็กวัดวัดไตรมิตร ซึ่ง วันชัย ได้ไปร่วมงาน และขึ้นกล่าวอธิบายเกี่ยวกับวิธีเลือก ส.ว. ว่ามีวิธีการสรรหาอย่างไร
สมชาย แสวงการ
“ถ้าคุณเห็นว่าประเทศนี้เป็นนรก พวกเราเห็นเป็นสวรรค์ กรุณาออกเดินทางไปอยู่ประเทศที่คุณเห็นเป็นสวรรค์ อย่างฝรั่งเศส ที่บ่มความคิดชั่วร้ายแบบนี้มาให้พวกคุณ”
- โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กส่วนตัวเมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2562
คำนูณ สิทธิสมาน
“การธำรงไว้ซึ่งบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ คุ้มครองฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะฯ ขององค์พระมหากษัตริย์ให้ดำรงอยู่เทียบเท่ากับที่เคยเป็นมานับตั้งแต่ 10 ธ.ค. 2475 มิให้กระทบหรือลดทอนลงไป…ถือเป็นภารกิจที่สำคัญที่สุดประการหนึ่งของการเป็น สว. ในสถานการณ์ปัจจุบัน”
- กล่าวระหว่างการอภิปรายถึงการเสนอชื่อ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เป็นนายกฯ วันที่ 13 ก.ค.2566
เงินเดือน สวัสดิการ สิิทธิประโยชน์
ส่องเงินเดือน สิทธิประโยชน์ ‘อาชีพ สว.’
- เงินเดือนคนละ 113,560 บาท
- มีสิทธิตั้งผู้เชี่ยวชาญประจำตัวได้ 1 คน เงินเดือน 24,000 บาท
- มีสิทธิตั้งผู้ชำนาญการประจำตัวได้ 2 คน เงินเดือนคนละ 15,000 บาท
- ผู้ช่วยดำเนินการประจำตัวได้ 5 คน เงินเดือนคนละ 15,000 บาท
(เงินเดือนและสิทธิประโยชน์ต่างๆ สว.และสส.นั้นคล้ายคลึงกัน)
เบี้ยประชุม
- เบี้ยประชุมกรรมาธิการ 1,500 บาทต่อครั้ง
- เบี้ยประชุมอนุกรรมาธิการ 800 บาทต่อครั้ง
(วันหนึ่งเบิกได้ไม่เกิน 2 ครั้ง)
ไปราชการ : (ต่อคน ต่อวัน)
- ในประเทศ: ค่าเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่าย 270 บาท / ค่าเดินทางตามจริง เครื่องบินชั้นธุรกิจ / ค่าที่พักตามจริงไม่เกิน 2,500 (เหมาจ่าย 1,200)
- ต่างประเทศ: ค่าเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่าย 3,100 บาท / ที่พักไม่เกิน 12,500 บาท (ขึ้นอยู่กับประเทศที่ไป) / ค่าเดินทางตามจริง / ค่าเครื่องแต่งตัว เหมาจ่าย 9,000 บาท / ค่ารับรอง ไม่เกิน 67,000 บาท (หากไปไม่เกิน 2 สัปดาห์)
กองทุนเพื่อผู้เคยเป็นสมาชิกรัฐสภา : พ้นตำแหน่งแล้วยังดูแล
สมาชิกสภาต้องส่งเงินเข้ากองทุนทุกเดือน ไม่เกิน 5% ของเงินประจำตำแหน่ง เมื่อสิ้นสมาชิกภาพจะได้รับการดูแลหลายอย่าง แต่ต้องไม่ใช่ผู้ถูกถอดถอนหรือต้องห้ามมิให้ตำแหน่งทางการเมือง ดังนี้
- จะได้ 'ทุนเลี้ยงชีพ' เป็นรายเดือน รวมๆ แล้วก็จะได้กันที่ราว 9,000 - 35,600 บาท อยู่ที่ว่าใครดำรงตำแหน่งยาวหรือสั้น อาทิ
- เคยดำรงตำแหน่งตั้งแต่ 1 เดือน แต่ไม่ถึง 2 ปี จะได้ทุนเลี้ยงชีพ 30 % ของเงินประจำตำแหน่งเดือนสุดท้าย ซึ่งเท่ากับ 9,000 บาท
- เคยดำรงตำแหน่ง 4 ปี แต่ไม่ถึง 8 ปี จะได้ 35% เท่ากับ 12,000 บาท
- เคยดำรงตำแหน่ง 8 ปี แต่ไม่ถึง 12 ปี จะได้ 40% เท่ากับ 14,300 บาท
- เคยดำรงตำแหน่ง 12 ปี แต่ไม่ถึง 16 ปี จะได้ 45% เท่ากับ 17,800 บาท
- เคยดำรงตำแหน่ง 16 ปี แต่ไม่ถึง 20 ปี จะได้ 50% เท่ากับ 21,400 บาท
- ได้ค่ารักษาพยาบาลทั้งรัฐและเอกชน ผู้ป่วยใน 50,000 บาทต่อปี ผู้ป่วยนอก 30,000 บาทต่อปี
- ค่าเล่าเรียนบุตร ประถม-ปริญญาตรี ทั้งรัฐและเอกชน ไม่เกินที่กรมบัญชีกลางกำหนด
- ทุพพลภาพ ได้เงินช่วยเหลือ 5,000 บาทต่อเดือน
- ถึงแก่กรรม ได้เงินช่วยเหลือ 100,000 บาท และพวงหรีด 1,000 บาท
อ้างอิง
- ร่างพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกสมาชิกวุฒิสภา (สว.)
- สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)
- ‘สภาที่สองในประวัติศาสตร์รัฐธรรมนูญไทย’ โดย กร กาญจนพัฒน์ วิทยานิพนธ์นิติศาสตร์บัณฑิต คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (2556)
- สถาบันพระปกเกล้า
- รายการกรรมกรข่าวคุยนอกจอ (ยามเช้า)
- LIRT คลังสารสนเทศของสถาบันนิติบัญญัติ