วันที่ 25 ก.ค. 2566 นรวิชญ์ หล้าแหล่ง ทนายความ ระบุว่า “คิดผิด คิดใหม่ ได้ ส.ว.ไม่ได้อยู่อีกแค่อีก 10 เดือน และส.ว.รักษาการยังมีสิทธิเลือกนายกฯได้ แม้รัฐธรรมนูญ 2560 ในบทเฉพาะกาลมาตรา 269 กำหนดวาระการดำรงตำแหน่งของ 250 สว.ไว้ 5 ปีซึ่งจะสิ้นสุดลงในวันที่ 11 พ.ค. 2567 นี้ก็ตาม แต่ตราบใดยังไม่มี สว.ชุดใหม่ สว.ชุดเดิมก็ยังคงรักษาการต่อไป จนกว่า สว. ชุดใหม่จะเข้ารับตำแหน่ง ซึ่งเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ ปี 2560 มาตรา 269(6) ประกอบมาตรา 109 คำว่ารักษาการนั้นเมื่อดูรัฐธรรมนูญ 2560 จะเห็นได้ว่า ไม่มีบทบัญญัติและบทเฉพาะกาลใด ห้าม สว.รักษาการเลือกนายกรัฐมนตรีได้ แม้ในประเด็นนี้จะมีความเห็นต่าง แต่เป็นความเห็นทางกฎหมาย อาจมีนักร้องส่งศาลรัฐธรรมนูญตีความได้ ยิ่งไปกว่านั้น
เมื่อดูตาม พ.ร.ป. ว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว. พ.ศ 2561 แล้วจะเห็นได้ว่ามีกระบวนการ ขั้นตอนมาก ซึ่งอาจจะใช้เวลานาน อย่างน้อย 6 เดือน หรือ อาจ 1 ปี ได้ ฉะนั้น คาดว่า สว.ชุดนี้จะอยู่ได้อีกไม่น้อยกว่าหนึ่งปีครึ่ง หรือสองปี เป็นอย่างน้อยพรรคการเมืองรอได้ แต่ประชาชนและประเทศชาติ รอไม่ได้”
ด้าน วิญญัติ ชาติมนตรี ทนายด้านสิทธิมนุษยชน และเลขาธิการสมาพันธ์นักกฎหมายเพื่อสิทธิและเสรีภาพ (สกสส.) ระบุว่า “จะรอ 10 เดือน เพื่อให้ สว.ชุดนี้ พ้นวาระไปก่อน น่าจะเข้าใจผิดกันไปใหญ่ ที่ผมอ่านรัฐธรรมนูญ 2560 พบว่า มาตรา 109 วรรคสาม บัญญัติว่า "เมื่ออายุของวุฒิสภาสิ้นสุดลง ให้ สว.อยู่ในตำแหน่งเพื่อปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่าจะมีสมาชิกวุฒิสภาขึ้นใหม่ " ชัดเจนว่า บทบัญญัตินี้ ให้การพ้นหน้าที่จะครบวาระจริงๆก็ต่อเมื่อมี สว.ชุดใหม่ขึ้นมาแล้ว รัฐธรรมนูญในบทเฉพาะกาล ม.269 ครบวาระ 5 ปี นับแต่วันที่มีพระบรมราชโองการแต่งตั้ง คือ 11 พ.ค. 2567 ก็ตาม
วิญญัติ ระบุว่า เมื่อจะมี สว.ชุดใหม่มาได้ ก็ต้องให้ชุดเดิมอยู่รักษาการณ์ต่อไป ตาม รัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 296(6) ดังนั้น สว. 250 คนที่ คสช.เสนอแต่งตั้งขึ้นนี้ แม้ในระหว่างรักษาการตาม มาตรา 109 วรรคสามก็ตาม จะเห็นว่า รัฐธรรมนูญ ปี 2560 ไม่มีบัญญัติเป็นข้อห้าม มิให้ สว.ชุดเดิมโหวตนายกรัฐมนตรีไว้เลย ตนจึงเข้าใจว่า สว.ยังโหวตนายกรัฐมนตรีที่จะเป็นแคนดิเดตนายกฯ ได้อยู่
"อย่าหลงประเด็นเข้าใจผิดนะครับ งานนี้..ใครอยากรอ ก็รอไป แต่ต้องอ่านทางอ่านกฎหมายให้ดี ทั้งนี้ควรตั้งรัฐบาลให้ได้ ให้ประเทศเดินหน้า คือหนทางที่ดีกว่า”วิญญัติ ย้ำ