คณะกรรมการนิสิตคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับภาคีนักเรียนสื่อ จัดกิจกรรมเขียนป้ายผ้า "สื่อมีไว้ทำไม" บริเวณใต้ถุนอาคารคณะนิเทศศาสตร์ ภายในมหาวิทยาลัย เพื่อสะท้อนความคิดความเห็นต่อการทำหน้าที่ของสื่อสารมวลชน ต่อกรณีเจ้าหน้าที่ตำรวจสลายการชุมนุม #ม็อบ28 กุมภา เมื่อคืนที่ผ่านมา หน้ากรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กรักษาพระองค์ ถนนวิภาวดี-รังสิต พร้อมประณามการคุกคามสื่อมวลชนที่รายงานข่าวการชุมนุมโดยรัฐ ผ่านการใช้อำนาจอันมิชอบ
โดยกิจกรรมมีการสลับกันปราศรัยเกี่ยวกับการทำหน้าที่สื่อในระบอบประชาธิปไตยที่จะต้องมีความกล้าหาญ เสนอข่าวอย่างตรงไปตรงมา ไม่เกรงกลัวอิทธิพลใด และผิดหวังกับการทำหน้าที่ของสื่อมวลชนโดยเฉพาะในสถานีโทรทัศน์ต่างๆ ที่บิดเบือนข้อเท็จจริง ซึ่งขัดแย้งกับภาพถ่ายและคลิปวิดีโอทาง โซเชียลมีเดีย หรือสื่อกระแสรอง
ซึ่งทั้งผู้ปราศรัยและผู้จัดงานไม่เปิดเผยชื่อ กำหนดจัดกิจกรรมเสร็จสิ้นในเวลา 18.00 น.
โดยช่วงท้ายให้ผู้ร่วมกิจกรรมประมาณ 30 คนร่วมกันเขียนข้อความลงในป้ายผ้าสีขาวที่เตรียมไว้ และเขียนจดหมายซึ่งผู้จัดงานจะส่งถึงสำนักข่าวต่างๆด้วย ก่อนที่ตัวแทนมีการอ่านแถลงการณ์คณะกรรมการนิสิตคณะเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ประณามการคุกคามสื่อมวลชนที่รายงานข่าวการชุมนุมโดยรัฐผ่านการใช้อำนาจอันมิชอบ
โดยมีข้อเรียกร้องต่อรัฐ และองค์สื่อทุกแขนง ดังนี้
1. ขอให้รัฐยุติการกระทำใด ๆ ที่เป็นการคุกคามหรือบ่อนทำลายสิทธิเสรีภาพของสื่อมวลชน
2. สื่อมวลชนต้องนำเสนอข้อมูลข่าวสารตามหลักจริยธรรม คือ ตรงไปตรงมา ไม่เข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งหรือตกอยู่ในอิทธิพลทางการเมืองและกลุ่มทุน
3. ให้คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. และองค์กรวิชาชีพสื่อสารมวลชน รวมถึงองค์กรกำกับจริยธรรมสื่อที่เกี่ยวข้องกับการกำกับดูแล ส่งเสริม และดำเนินการปฏิรูปสื่อโดยปราศจากการครอบงำ
4. ในกรณีที่สื่อมวลชนไม่สามารถรายงานข้อมูลข่าวสารและข้อเท็จจริงได้ ขอให้อาจารย์ นิสิต นักศึกษาด้านสื่อสารมวลชน แสดงพลังแห่งการสื่อสาร ส่งต่อข้อเท็จจริงและข่าวสารที่จำเป็นต่อประชาชนด้วยตนเอง เพื่อผดุงซึ่งเกียรติและศักดิ์ศรีของอาชีพนักสื่อสารมวลชน
สำหรับภาพรวมกิจกรรมและในแถลงการณ์ อ้างถึง การชุมนุมของประชาชนวันที่ 28 ก.พ. 2564 ช่วงเวลาประมาณ 21.00 น. มีนักข่าวสถานีโทรทัศน์รายหนึ่ง ถูกกระสุนยางจากเจ้าหน้าที่ตำรวจยิงใส่ ทำให้สัญญาณภาพการออกอากาศถูกตัด รวมถึงมีการควบคุมตัวประชาชนผู้ร่วมชุมนุมจำนวนหนึ่ง
โดยทางคณะกรรมการนิสิตคณะนิเทศศาสตร์จุฬาฯ เห็นว่า การกระทำดังกล่าวเป็นการคุกคามสื่อมวลชนและประชาชนอย่างชัดเจนโดยรัฐ เป็นการบ่อนทำลายสิทธิเสรีภาพของสื่อ ซึ่งก็คือสิทธิเสรีภาพของประชาชนและละเมิดกติการะหว่างประเทศ ว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง หรือ ICCPR ที่ไทยเป็นภาคีตั้งแต่ปี 2540
ซึ่งคณะกรรมการนิสิตคณะนิเทศศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีความกังวลต่อการใช้กฎหมายและอำนาจอันไม่ชอบในการควบคุมการสื่อสารในสถานการณ์ชุมนุม จึงมีข้อเรียกร้องต่อภาครัฐและองค์กรสื่อทุกแขนงดังกล่าว
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :