นโยบายล่าสุดจากรัฐบาลนิวซีแลนด์เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมที่มีพนักงานไม่เกิน 50 คน ที่ออกมาเมื่อวันที่ 1 พ.ค.ที่ผ่านมานั้น จะครอบคลุมค่าใช้จ่ายของบริษัทรวมถึงค่าจ้างพนักงานสูงสุดเป็นเงิน 100,000 ดอลลาร์นิวซีแลนด์ หรือคิดเป็นเงินเกือบ 2 ล้านบาท โดยปราศจากดอกเบี้ยเงินกู้ในช่วงปีแรก
'แกรนต์ โรเบิร์ตสัน' รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง (ministry of finance) ที่ดูแลเรื่องงบประมาณของรัฐบาลนิวซีแลนด์ชี้ว่า เป็นเรื่องชัดเจนแล้วว่าเงินช่วยเหลือก่อนหน้านี้ที่มอบให้กับเหล่าเอสเอ็มอีผ่านธนาคารเอกชนไม่เพียงพอต่อความต้องการ จึงเป็นเหตุผลที่รัฐบาลตั้งโครงการดังกล่าวขึ้นมาสนับสนุนเพิ่มเติม
แกรนต์ อธิบายเงื่อนไขเงินกู้ดังกล่าวว่า เอสเอ็มอีจะได้รับเงิน 10,000 ดอลลาร์นิวซีแลนด์ หรือประมาณเกือบ 200,000 บาท สำหรับค่าใช้จ่ายของบริษัท และจะได้รับเงินค่าจ้างพนักงานเพิ่มรายละ 1,800 ดอลลาร์นิวซีแลนด์ หรือ 35,000 บาท/คน โดยเงินกู้นี้จะปลอดดอกเบี้ยในช่วงปีแรก และจะมีอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 3 ต่อปี ด้วยสัญญาสูงสุด 5 ปี นอกจากนี้ รัฐบาลยังเอื้อให้ธุรกิจไม่ต้องชำระเงินคืนในช่วง 2 ปีแรกด้วย
ด้าน 'ฮอน สจ๊วต นาช' รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการจัดเก็บภาษี (ministry of revenue) ชี้ว่า ด้วยมาตรการระดับ 4 และระดับ 3 ที่รัฐบาลออกมาต่อสู้กับการแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลกระทบกับรายได้ของธุรกิจโดยตรง ภาครัฐจึงต้องการช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนเพื่อดูแลค่าใช้จ่ายคงที่ต่างๆ เอาไว้ให้ได้
"ในฐานะรัฐบาลที่มีความรับผิดชอบ เราต้องทำให้มั่นใจว่าเราใช้ภาษีของประชาชนอย่างระมัดระวังในการช่วยเหลือธุรกิจ" โรเบิร์ตสัน กล่าว
สำหรับโครงการดังกล่าว จะเริ่มเปิดรับใบคำร้องจากผู้ประกอบการในวันที่ 12 พ.ค.ที่จะถึงนี้ และจะทยอยแจกจ่ายเงินกู้อย่างเร็วที่สุด
เมื่อหันกลับมามองสถานการณ์เอสเอ็มอีในประเทศ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ออกมาช่วยเหลือผู้ประกอบการผ่านโครงการซอฟต์โลน หรือสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำภายใต้วงเงินรวม 500,000 ล้านบาท ซึ่งจะคิดดอกเบี้ยแค่ร้อยละ 2 ต่อปี นาน 2 ปี และฟรีดอกเบี้ยเช่นเดียวกันในช่วง 6 เดือนแรก
โดย ธปท. จะเข้าสนับสนุนผู้ประกอบการที่มีวงเงินสินเชื่อกับสถาบันการเงินธนาคารแต่ละแห่งไม่เกิน 500 ล้านบาท และจะกู้ได้ไม่เกินร้อยละ 20 ของยอดสินเชื่อคงค้าง ณ สิ้นเดือน ธ.ค.ปี 2562
ซึ่งล่าสุดนายรณดล นุ่มนนท์ รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ชี้แจงว่าตามข้อมูล ณ วันที่ 27 เม.ย.พบว่ามีธนาคาร 8 แห่ง ยื่นคำขอรวม 24,200 ล้านบาท ให้แก่ลูกหนี้จำนวน 16,934 ราย ซึ่งสถาบันการเงินที่ยื่นเข้ามามากที่สุด คือ ธ.กรุงเทพ ธ.กรุงไทย และ ธกส.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง;