ไม่พบผลการค้นหา
มาตรการกระตุ้นเอสเอ็มอีช่วงโควิด-19 แตกต่างกันไปในแต่ละประเทศ สหรัฐฯ - ญี่ปุ่นเน้นเงินกู้ จีนทุ่มรอบด้าน นิวซีแลนด์วางแผนอนาคต สิงคโปร์ดูถึงหนี้เดิม

เนื่องจากวิกฤตโรคระบาดครั้งนี้บ่อนทำลายภาวะเศรษฐกิจของทุกประเทศทั่วโลกอย่างหนักหน่วงแบบที่ไม่เคยมีมาก่อน การจะฟื้นฟูความเสียหายจึงจำเป็นต้องเริ่มที่หน่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของสังคมอย่าง 'เอสเอ็มอี' ที่ย่อมาจากวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม และอาจกล่าวได้ว่ามีความสำคัญมากที่สุดของฟันเฟืองนี้

ธุรกิจขนาดเล็กเปรียบเสมือนกับแหล่งจ้างงานซึ่งจะช่วยทำให้ประชากรของประเทศนั้นๆ มีทุนทรัพย์เพียงพอในการดำรงชีพ ยิ่งในภาวะที่เศรษฐกิจดี การจับจ่ายใช้สอยของภาคเอกชนเองก็จะดีตามขึ้นไปด้วย ได้ประโยชน์ต่อกันหลายทอด แต่ในภาวะที่เศรษฐกิจมีปัญหา ธุรกิจได้รับผลกระทบ หากเจ้าของบริษัทยืนอยู่ไม่ได้ ลูกจ้างรวมไปถึงครอบครัวเบื้องหลังก็มีความหวังน้อยนิดที่จะรอดเช่นเดียวกัน

นิวยอร์ก - สหรัฐฯ - ประชาชน - โควิด - ร้านค้า - AFP

ตามข้อมูลจากหน่วยงานบริหารจัดการธุรกิจขนาดเล็กของสหรัฐฯ หรือ เอสบีเอ ชี้ว่า ณ ปี 2562 สหรัฐฯ มีธุรกิจขนาดเล็กทั้งสิ้น 30.7 ล้านบริษัท คิดเป็นร้อยละ 99.9 ของบริษัททั้งหมดในประเทศ และคิดเป็นจำนวนพนักงานทั้งสิ้น 59.9 ล้านคน หรือร้อยละ 47.3 ของจำนวนลูกจ้างทั่วประเทศ ขณะที่จำนวนเอสเอ็มอีของ 'จีน' เศรษฐกิจอันดับที่สองของโลกก็มีมากกว่า 30 ล้านบริษัท และคิดเป็นการสร้างเม็ดเงินถึงร้อยละ 60 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ของจีนในปี 2562 

นัยสำคัญเหล่านี้ไม่ได้แตกต่างออกไปมากนักในนิวซีแลนด์ ที่มีสัดส่วนการจ้างงานกว่า 600,000 ราย เทียบกับประชากรทั่วประเทศตามข้อมูลจากเว็บไซต์ world meter ราว 4.8 ล้านคน ในปัจจุบัน โดยคิดเป็นจำนวนเอสเอ็มอีประมาณ 520,000 บริษัท ซึ่งขับเคลื่อนจีดีพีประเทศในสัดส่วนร้อยละ 28 เช่นเดียวกับญี่ปุ่นที่ร้อยละ 99.7 ของบริษัททั่วประเทศก็เป็นบริษัทขนาดกลางและขนาดเล็ก สอดคล้องกับสิงคโปร์ประเทศขนาดไม่ใหญ่ที่มีจำนวนเอสเอ็มอีไปแล้วกว่า 220,000 บริษัท ในปีที่ผ่านมา 

แม้แต่ประเทศไทยเอง วาทกรรมมากมายจากเหล่าผู้กำหนดนโยบายและผู้นำประเทศที่พาเหรดออกมาชี้ให้เห็นถึงความสำคัญใหญ่หลวงที่เอสเอ็มอีสร้างให้กับประเทศ ตามข้อมูลจากสํานักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ชี้ว่าผู้ประกอบการมากกว่า 3 ล้านบริษัท ที่คอยจ้างงานแรงงานกว่า 12 ล้านคน คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 43.6 ของจีดีพีในช่วงไตรมาส 3/2562 หรือมีมูลค่าถึง 1.81 ล้านล้านบาท 

ด้วยเหตุแห่งความสำคัญดังกล่าว 'ทีมข่าววอยซ์ออนไลน์' จึงชวนทำความเข้าใจและเปรียบเทียบนโยบายช่วยเหลือเอสเอ็มอี กลุ่มผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดแต่ก็เป็นความหวังในการดันเศรษฐกิจของแต่ละประเทศให้กลับมาเข้มแข็งอย่างเดิม 


สหรัฐฯ : การช่วยเหลือที่มีช่องโหว่

เป็นความชัดเจนอย่างมากที่สหรัฐฯ เน้นช่วยเอสเอ็มอีท้องถิ่นผ่านมาตรการสินเชื่อต่างๆ แม้จะมีช่องว่างและปัญหาตามมาไม่น้อยเช่นเดียวกัน 

โครงการปกป้องการจ่ายค่าแรงพนักงาน (Paycheck Protection Program: PPP) ถูกตั้งขึ้นภายใต้วงเงินประมาณ 359 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือราว 11,635 ล้านบาท โดยมีสัญญา 2 ปี ในอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 1 ต่อปี ซึ่งผู้กำหนดนโยบายทราบดีว่าไม่เพียงพอต่อความต้องการอย่างแน่นอน นอกจากนี้ตัวเงื่อนไขสำคัญเรื่องจำนวนพนักงานก็มีช่องโหว่ให้บริษัทใหญ่เข้ามาเอาเปรียบเอสเอ็มอีไม่น้อย 

เจพี มอร์แกน - AFP

ตามเกณฑ์ที่วางไว้บริษัทที่จะขอสินเชื่อนี้ซึ่งรัฐบาลจัดสรรผ่านธนาคารพาณิชย์ที่ร่วมโครงการจะต้องมีจำนวนพนักงานไม่เกิน 500 คน หรือหากเป็นอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบหนัก อาทิ วงการที่พักอาศัยหรือเครือร้านอาหาร ต้องมีพนักงานแต่ละสาขาไม่เกิน 500 ราย ซึ่งเงื่อนไขด้านหลังเองทำให้ธนาคารพาณิชย์รายใหญ่ของประเทศบางรายเลือกปล่อยสินเชื่อให้กับเครือข่ายธุรกิจขนาดยักษ์ผ่านช่องทางนี้แทนที่จะเข้าไปช่วยเอสเอ็มอีจริงๆ 

ทั้งนี้ฝั่ง เอสบีเอ ที่เป็นองค์กรหลักในการณ์ดูแลเอสเอ็มอีของประเทศชี้แจงในเว็บไซต์ว่า องค์กรยังมีสินเชื่อเพื่อช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติทางเศรษฐกิจ (Economic Injury Disaster Loan: EIDL) อีกรายละ 10,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 322,000 บาท เช่นเดียวกัน นอกจากนี้ในกรณีพิเศษ เอสเอ็มอีที่เป็นพันธมิตรกับเอสบีเอยังสามารถขอสินเชื่อฉุกเฉินได้ด้วยวงเงิน 25,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือบริษัทละประมาณ 800,000 บาท 

ที่สำคัญที่สุด เอสบีเอ จะเข้าไปดูแลหนี้สินคงค้างเดิมก่อนเกิดวิกฤตของผู้ประกอบการด้วยมาตรการอุดหนุนการจ่ายเงินต้น ดอกเบี้ย และค่าธรรมเนียมอื่นๆ ทั้งสิ้นเป็นเวลา 6 เดือน 


จีน : ทำทุกทาง

เมื่อเข้าไปมองการจัดการปัญหาเอสเอ็มอีของรัฐบาลอาจเห็นได้ว่ามีความหลากหลายในช่องทางและรูปแบบอย่างมาก

ในมิติเรื่องการเงินของบริษัทนั้น รัฐบาลจีนนำเสนอทั้งการพักชำระหนี้ในช่วงวันที่ 25 ม.ค.-30 มิ.ย.ให้กับผู้ประกอบการ ซึ่งยืนยันว่าจะไม่ถูกดำเนินการคิดโทษผิดชำระแต่อย่างใด ทั้งยังปรับเกณฑ์การพิจารณาการเป็นหนี้เสีย (NPL) หรือภาวะที่ลูกหนี้ไม่จ่ายหนี้เกิน 90 วัน สำหรับกลุ่มธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 

นอกจากนี้ยังมีการลดการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ลง โดยในมลฑลหูเป่ยซึ่งได้รับผลกระทบอย่างหนักให้ละเว้นการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มทั้งหมด และในภูมิภาคอื่นๆ ให้ปรับลงเป็นร้อยละ 1 รูปแบบการลดภาษียังถูกปรับใช้กับการจ่ายค่าเช่าที่ ซึ่งรัฐบาลเข้าไปช่วยมลฑลหู่เป่ยให้ไม่ต้องมีการเรียกเก็บค่าเช่าที่ถึง 6 เดือน ในมลฑลเทียนจิง 4.5 เดือน ในจังหวัดอื่นๆ ที่บริษัทของรัฐบาลเป็นเจ้าของจะไม่เก็บค่าเช่าสูงสุด 2 เดือน และในกรณีที่เอกชนเป็นเจ้าของรัฐบาลก็เข้าไปเรียกร้องเช่นเดียวกัน 

อู่ฮั่น โควิด.jpg

เจ้าของบริษัทยังสามารถลดภาระค่าใช้จ่ายชั่วคราวจากมาตรการผ่อนปรนการส่งจ่ายเงินประกันสุขภาพ เงินบำนาญ หรือสวัสดิการทางสังคมต่างๆ ของลูกจ้างในช่วงนี้ออกไปก่อนได้ ซึ่งรัฐตั้งงบช่วยเหลือไว้ถึง 500,000 ล้านหยวน หรือประมาณ 2.2 ล้านล้านบาท 

ท้ายที่สุด สำหรับอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบอย่างหนัก เช่น อุตสาหกรรมขนส่ง การจัดเลี้ยง โรงแรม และการท่องเที่ยว องค์กรบริหารภาษีของประเทศอนุญาตให้ใช้เวลา 8 ปี ในการจ่ายค่าเสียหายที่เกิดขึ้นในปี 2563 หรือได้เรียกว่าบริษัทได้รับการผ่อนคลายทางภาษีจากภาครัฐ


นิวซีแลนด์ : ช่วยธุรกิจให้ต่อเนื่อง

นอกจาก 'จาซินดา อาร์เดิร์น' นายกรัฐมนตรีนิวซีแลนด์ จะได้รับการยกย่องในฐานะผู้นำที่จัดการวิกฤตโควิด-19 ได้ดีที่สุดคนหนึ่งของโลก นโยบายช่วยเหลือเอสเอ็มอียังมีความก้าวหน้าและดำเนินเชิงรุกมากที่สุดประเทศหนึ่งของโลก

จาซินดา อาร์เดร์น - AFP
  • 'จาซินดา อาร์เดิร์น' นายกรัฐมนตรีนิวซีแลนด์

รัฐบาลสนับสนุนค่าจ้างพนักงานเป็นเวลา 12 สัปดาห์ ภายใต้วงเงิน 256,000 บาท/ราย มอบสินเชื่อ 2 ก้อนใหญ่ ในระยะเวลาไล่เลี่ยกัน โดยก้อนแรกมีวงเงิน 6,250 ล้านดอลลร์นิวซีแลนด์ หรือประมาณ 123,000 ล้านบาท ซึ่งรัฐบาลออกมารับทราบความไม่เพียงพออย่างรวดเร็ว และปล่อยสินเชื่อก้อนใหม่โดยตรง วงเงินสูงสุดเกือบ 2 ล้านบาท/ราย ไม่คิดอัตราดอกเบี้ยปีแรก และไม่ต้องจ่ายคืนในช่วง 2 ปี ให้แก่เอสเอ็มอีเพิ่มทันที รัฐบาลนิวซีแลนด์ยังวางแผนช่วยเหลือผู้ประกอบการระยะยาวผ่านมาตรการปรับเปลี่ยนการจัดเก็บภาษีในช่วง 4 ปีข้างหน้าใหม่ทั้งหมด

อย่างไรก็ตาม แนวนโยบายเชิงรุกที่น้อยประเทศหยิบมาใช้ คือการเข้าไปช่วยเหลือธุรกิจที่มีปัญหาเรื่องการเงิน ผ่านสิ่งที่ 'แกรนต์ โรเบิร์ตสัน' รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังของนิวซีแลนด์เรียกว่า "ภาวะจำศีล" (hibernation) หรืออธิบายได้ง่ายๆ ว่า หากเอสเอ็มอีที่อยู่ในภาวะที่มีสภาพคล่องน้อย จนการตัดสินใจทำการค้าของผู้นำดูเป็นการตัดสินใจที่ไม่มีความรอบคอบ สามารถเข้าสู่ภาวะการหยุดหนี้เอาไว้ เพื่อให้บริษัทสามารถค้าขายต่อได้ บนเงื่อนไขว่าบริษัทต้องไกล่เกลี่ยกับเจ้าหนี้ราวร้อยละ 50 ของยอดหนี้ทั้งหมดได้


ญี่ปุ่น : ความร่วมมือของหลายกระทรวง

แนวนโยบายของญี่ปุ่นนั้นเน้นไปที่เงินกู้ยืมและเงินสมทบจากภาครัฐ โดยฝั่งกระทรวงการคลังจะปล่อยกู้ในวงเงิน 1,020 ล้านเยน หรือประมาณ 300 ล้านบาท ด้วยอัตราดอกเบี้ยต่ำพิเศษ ผ่านธนาคารของรัฐฯ 

AFP ญี่ปุ่น-โควิด-ไวรัส-โคโรนา-ท่องเที่ยว

ขณะที่กระทรวงเมติของญี่ปุ่น (กระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรม: METI) จะปล่อยสินเชื่อออกมาเช่นเดียวกัน ในจำนวนนี้ที่น้อยกว่าราวครึ่งหนึ่ง หรือ 560 ล้านเยน คิดเป็นวงเงิน 170 ล้านบาท ทั้งจะมอบเงินสมทบให้กับแต่ละเอสเอ็มอีสูงถึง 600,000 บาท 

รัฐบาลยังคงกระตุ้นให้สถาบันการเงินเอกชนทั่วประเทศต้องเปิดการเข้าถึงสินเชื่อให้กับเอสเอ็มอีอย่างต่อเนื่อง และการปล่อยสินเชื่อระหว่างนี้ต้องไม่คิดดอกเบี้ยและต้องไม่ร้องขอหลักทรัพย์ในวงเงินสูงสุด 30 ล้านเยน/ราย หรือประมาณ 9 ล้านบาท 

นอกจากนี้ ตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย.เป็นต้นไป กระทรวงสุขภาพ แรงงาน และสวัสดิการของประเทศจะเข้าไปจ่ายเงินสมทบในสัดส่วนสี่ในห้าของการลาป่วยให้ธุรกิจเอสเอ็มอีด้วย 


สิงคโปร์ : ดูหนี้ใหม่ถึงหนี้เก่า

เมื่อหันมาดูในฝั่งอาเซียน รัฐบาลสิงคโปร์ได้ออกมาตรการช่วยกลุ่มเอสเอ็มอีที่กว่าร้อยละ 80 อยู่ในภาคบริการด้วยการสนับสนุนเงินทุนสมทบการจ้างงานราว 35,300 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ หรือประมาณ 800,000 ล้านบาท ผ่านการช่วยจ่ายเงินเดือนพนักงานร้อยละ 8 เป็นเวลา 3 เดือน วงเงินสูงสุด 5,000 ดอลลาร์สิงคโปร์/บริษัท หรือประมาณ 114,000 บาท 

ทั้งยังตั้งกองทุนกู้ยืมดอกเบี้ยต่ำ วงเงิน 20,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 456,000 ล้านบาท และมาตรการอุดหนุนอื่นๆ อีก 1,900 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 43,300 ล้านบาท

ลี เซียนลุง - สิงคโปร์ - AFP
  • 'ลี เซียนลุง' นายกรัฐมนตรีสิงคโปร์

นอกจากจะย้ำถึงการให้เอสเอ็มอีเข้าถึงสินเชื่อต่อเนื่อง รัฐบาลยังเพิ่มมาตรการพักชำระเงินต้นไปจนถึงสินปี 2563 และสามารถให้ลูกหนี้เพิ่มระยะเวลาชำระหนี้ออกไปได้ โดยมีเงื่อนไขว่าต้องเป็นธุรกิจที่จ่ายดอกเบี้ยสม่ำเสมอมาโดยตลอด จนถึงวันที่ 6 เม.ย.ที่ผ่านมา 

ที่สำคัญที่สุด ยอดหนี้เดิมของเอสเอ็มอีก่อนมีโควิด-19 ราว 40,000 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ หรือประมาณ 900,000 ล้านบาท รัฐบาลจะเข้าไปช่วยเหลือในการปรับโครงสร้างหนี้ด้วยเช่นเดียวกัน


แล้วประเทศไทย...?
ประยุทธ์ นายกฯ_200427_0003.jpg

นโยบายช่วยเหลือเอสเอ็มอีของประเทศไทยค่อนข้างมาจากฝั่งนโยบายการเงินที่มีธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เป็นผู้กำหนดนโยบายค่อนข้างมาก เริ่มจากการพักชำระเงินต้นและดอกเบี้ยของสินเชื่อเดิมเป็นระยะเวลา 6 เดือน และการปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำพิเศษ หรือซอฟต์โลนวงเงิน 500,000 ล้านบาท ผ่านธนาคารพาณิชย์เพื่อให้ธนาคารพาณิชย์นำไปปล่อยสินเชื่อให้แก่เอสเอ็มอีอีกที 

ในประเด็นนี้ นายรณดล นุ่มนนท์ รองผู้ว่าการด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดตัวเลขล่าสุดหลังดำเนินโครงการมาราว 2 สัปดาห์ ว่า ใช้วงเงินไปทั้งสิ้น 36,000 ล้านบาท ครอบคลุมลูกหนี้ 22,000 ราย หรือคิดเป็นมูลค่าสินเชื่อเฉลี่ยต่อรายอยู่ที่ 1.6 ล้านบาท ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่ายังมีเอสเอ็มอีอีกมากที่ยังเข้าไม่ถึงความช่วยเหลือดังกล่าว 

นอกจากนี้แบงก์ชาติ ยังปรับลดเงินนำส่ง กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (FIDF) ของธนาคารพาณิชย์ บริษัทเงินทุน และบริษัทเครดิตฟองซิเอร์ (สถาบันการเงิน) เพื่อลดภาระดอกเบี้ยเงินกู้ของภาคธุรกิจและประชาชน จากเดิมอัตราร้อยละ 0.46 เหลือร้อยละ 0.23 ของฐานเงินฝาก เป็นระยะเวลา 2 ปี และมีการช่วยปรับโครงสร้างหนี้ เลื่อนขั้นจากหนี้เสียเป็นหนี้ปกติหากบริษัทชำระหนี้ 3 เดือน/งวด ติดต่อกันจากเดิม 12 เดือน/งวด 

เนื่องจากแต่ละประเทศมีปัจจัยต่างๆ ที่ไม่เหมือนกัน การเปรียบเทียบนโยบายครั้งนี้จึงไม่สามารถมองผ่านตัวเลขจำนวนเงินได้อย่างเดียว แต่หลายสิ่งที่หลายรัฐบาลเร่งดำเนินการ สะท้อนได้อย่างชัดเจนว่าประเทศไหนมีแผนช่วยเหลือ 'ฟันเฟือน' สำคัญของเศรษฐกิจของประเทศตนเองอย่างไร และในบางมิติก็อาจจะกลายมาเป็นตัวอย่างที่ดีหรือไม่ดีให้กับประเทศไทยเพื่อช่วยให้เอสเอ็มอีกว่า 3 ล้านบริษัท กลับมาเป็นแรงผลักดันสำคัญของไทยในยามที่ต้องพึ่งตัวเอง


อ้างอิง; IMF, OECD, China BriefingXinhua Net, KPMG, HLF, MAS, MBIE

ข่าวที่เกี่ยวข้อง;