กลุ่มประเทศอาหรับจำนวนมากยังคงสืบทอดประเพณีการใช้นกเหยี่ยวเพื่อล่าสัตว์มาจนถึงปัจจุบัน และ 'กาตาร์' ก็เป็นหนึ่งในประเทศเหล่านั้น โดยรัฐบาลกาตาร์ได้ส่งเสริมการจัดเทศกาลเหยี่ยวนักล่านานาชาติขึ้นที่กรุงโดฮาเป็นครั้งที่ 3 แล้วในปีนี้
ผู้เพาะพันธุ์และผู้จำหน่ายผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับเหยี่ยวรวมกว่า 140 ราย จาก 20 ประเทศทั่วโลก เข้าร่วมงานเทศกาลเหยี่ยวนักล่านานาชาติ ซึ่งจัดขึ้นที่ศูนย์วัฒนธรรมคาทาร่า ในกรุงโดฮาของประเทศกาตาร์ ระหว่างวันที่ 3 ถึง 7 กันยายนที่ผ่านมา และผู้จัดงานระบุว่า มีผู้เข้าชมภายในงานรวมแล้วกว่า 1 แสนคน และงานนี้ยังได้รับการสนับสนุนจากกระทรวงวัฒนธรรมและกีฬา รวมถึงกระทรวงพาณิชย์และอุตสาหกรรมของประเทศกาตาร์อีกด้วย
งานนี้เรียกได้ว่าเป็นศูนย์รวมคนรักเหยี่ยว เพราะไม่ได้มีแต่ชาวอาหรับที่สนใจ แต่ยังมีผู้เลี้ยงเหยี่ยวนักล่าในประเทศที่ไม่ใช่กลุ่มอาหรับเข้าร่วมงานนี้ด้วยอีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็นอิตาลี รัสเซีย เบลเยียม อังกฤษ สเปน สวีเดน และเซาท์แอฟริกา ขณะที่ชาวกาตาร์ซึ่งมีวัฒนธรรมผูกพันกับเหยี่ยวมานานก็พร้อมใจมาร่วมงานนี้เช่นกัน
จากการประชาสัมพันธ์ของผู้จัดงาน บอกได้ว่าการเลี้ยงเหยี่ยวเพื่อล่าสัตว์เป็นสิ่งที่อยู่คู่กับชนเผ่าต่างๆ ในทะเลทรายแถบประเทศอาหรับมานานแล้ว และในกาตาร์เองก็มีตลาดซื้อขายเหยี่ยวในประเทศอยู่เป็นจำนวนมาก รวมถึงเหยี่ยวสายพันธุ์อื่นๆ ที่นำเข้าจากต่างประเทศก็เป็นที่นิยมเช่นกัน แต่เทศกาลเหยี่ยวนักล่านานาชาติเพิ่งจะจัดขึ้นในกาตาร์เป็นปีที่ 3 โดยเป็นการปรับตัวให้สอดคล้องกับตลาดในประเทศ หลังจากที่กาตาร์เผชิญกับวิกฤตด้านการทูตเมื่อปี 2017 ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่กาตาร์ถูกกลุ่มประเทศแถบอ่าวอาหรับอื่นๆ "คว่ำบาตร" นั่นเอง
การคว่ำบาตรทางการทูตกาตาร์เมื่อปี 2017 นำโดยรัฐบาลซาอุดีอาระเบีย ซึ่งกล่าวหาว่ากาตาร์สนับสนุนกลุ่มก่อการร้าย โดยหลักๆ หมายถึงกลุ่มภราดรภาพมุสลิม หรือมุสลิม บราเธอร์ฮู้ด ที่เคลื่อนไหวในอียิปต์ เพื่อสนับสนุนอดีตประธานาธิบดีที่ถูกรัฐประหาร หลังจากนั้นก็มีประเทศอาหรับอื่นๆ เข้าร่วมกับซาอุดีอาระเบียด้วย โดยประเด็นที่นำไปสู่การคว่ำบาตรอีกประการหนึ่งก็คือ กาตาร์เป็นที่ตั้งของสำนักข่าวอัลจาซีรา ซึ่งถูกมองว่าเป็นสื่อที่ท้าทายและวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลในกลุ่มประเทศอาหรับมาโดยตลอดนั่นเอง
แม้กาตาร์จะยืนยันมาตลอดว่าไม่ได้สนับสนุนกลุ่มก่อการร้าย เพราะกลุ่มภราดรภาพมุสลิม ก็ไม่ได้เคลื่อนไหวก่อความรุนแรงด้วยอาวุธอย่างชัดเจนเหมือนกลุ่มไอซิสในซีเรีย แต่ก็ถือได้ว่าการคว่ำบาตรส่งผลกระทบต่อกาตาร์อยู่ไม่น้อย ทำให้สินค้าหรือบริการบางอย่างที่เคยได้รับจากประเทศเพื่อนบ้านแถบอ่าวอาหรับถูกตัดขาดไป ซึ่งก็รวมถึง 'เหยี่ยวนักล่า' ซึ่งเป็นที่ต้องการของตลาดในกาตาร์ด้วย
รัฐบาลกาตาร์ก็เลยแก้ปัญหานี้ด้วยการเป็นเจ้าภาพจัดเทศกาลเหยี่ยวนานาชาติขึ้นเสียเอง แล้วก็เชิญผู้เชี่ยวชาญด้านเหยี่ยวจากประเทศนอกภูมิภาคมาเข้าร่วม ส่วนประเทศอาหรับบางแห่งก็เริ่มผ่อนผันมาตรการคว่ำบาตรกับกาตาร์ลงบ้างแล้ว จึงอนุญาตส่่งเหยี่ยวและคนมาร่วมงานเทศกาลในโดฮา ดังนั้น จะเห็นได้ว่างานสืบสานวัฒนธรรมการเลี้ยงเหยี่ยวของกาตาร์ ก็อาจจะเป็นหนึ่งในเครื่องมือทางการทูตที่มีขึ้นเพื่อค่อยๆ ทลายกำแพงการคว่ำบาตรของประเทศอื่นๆ ได้เช่นกัน