นับตั้งแต่ปี 2018 เป็นต้นมา รัฐบาลสหรัฐฯ พยายามผลักดันการเจรจาสันติภาพกับกลุ่มติดอาวุธตอลิบานในอัฟกานิสถาน โดยหวังที่จะถอนทหารอเมริกันออกจากการต่อสู้ที่ยืดเยื้อมานานเกือบ 20 ปี แต่การก่อเหตุระเบิดฆ่าตัวตายโจมตีงานแต่งงานในกรุงคาบูล จนมีผู้เสียชีวิต 63 รายเมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา อาจทำให้การเจรจาดังกล่าวหยุดชะงักลง
เหตุระเบิดฆ่าตัวตายโจมตีงานเลี้ยงสมรสในอัฟกานิสถานเกิดขึ้นเมื่อช่วงค่ำวันเสาร์ที่ 17 สิงหาคมที่ผ่านมา ทำให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 63 ราย และบาดเจ็บ 182 คน โดยกลุ่มติดอาวุธ 'ไอเอส' อ้างตัวเป็นผู้ก่อเหตุครั้งนี้ ขณะที่เจ้าบ่าวและเจ้าสาวรอดชีวิตมาได้ แต่ก็ต้องสูญเสียคนในครอบครัวไปประมาณ 20 คน ส่วนผู้ก่อเหตุที่ไอเอสระบุตัวตน คือ อาบู อาซิม ชายชาวปากีสถาน ซึ่งเป็นแนวร่วมไอเอส พร้อมทั้งระบุแรงจูงใจในการก่อเหตุว่า ต้องการต่อต้านกลุ่มผู้มีแนวคิด 'พหุเทวนิยม' หรือผู้ที่เชื่อในพระเจ้าหลายองค์
ข้อกล่าวหาเช่นนี้มักถูกกลุ่มมุสลิมนิกายซุนนีสายสุดโต่งบางกลุ่ม อย่างเช่นไอเอส นำมาใช้เป็นข้ออ้างในการโจมตีกลุ่มมุสลิมนิกายชีอะห์ โดยระบุว่าแนวคิดพหุเทวนิยมเท่ากับการปฏิเสธว่า "พระผู้เป็นเจ้าไม่ได้มีเพียงหนึ่งเดียว" แตกต่างจากความเชื่อและหลักปฏิบัติของนิกายซุนนี
อย่างไรก็ตาม กลุ่มติดอาวุธตอลิบาน ซึ่งเป็นหนึ่งในกลุ่มก่อความไม่สงบในอัฟกานิสถาน และเป็นกลุ่มมุสลิมซุนนีเหมือนกัน กล่าวประณามการกระทำของไอเอส พร้อมระบุว่า ตอลิบานขออยู่ข้างประชาชนผู้ที่ได้รับความเจ็บปวด และก่อนหน้านี้โฆษกตอลิบานก็เคยออกมาแถลงแล้วว่าทางกลุ่มไม่เกี่ยวข้องกับการโจมตีงานแต่งดังกล่าว
อย่างไรก็ตาม อาชราฟ กานี ประธานาธิบดีอัฟกานิสถาน กล่าวโทษตอลิบานว่าเป็นหนึ่งในกลุ่มที่ต้องรับผิดชอบต่อเหตุการณ์รุนแรงที่เกิดขึ้นเช่นกัน เพราะที่ผ่านมา ตอลิบานเป็นกลุ่มติดอาวุธที่เรียกร้องให้อัฟกานิสถานปกครองด้วยหลักกฎหมายชาริอะของศาสนาอิสลาม ทั้งยังก่อเหตุโจมตีทหารและเจ้าหน้าที่รัฐบาลอัฟกานิสถานมาโดยตลอด ประธานาธิบดีกานีจึงประณามว่า ตอลิบานก็คือผู้ก่อความไม่สงบที่เปิดช่องให้กลุ่มติดอาวุธสุดโต่งอีกหลายกลุ่มเข้ามาเคลื่อนไหวในอัฟกานิสถาน จนลุกลามบานปลาย
ส่วนผู้นำชาวมุสลิมนิกายชีอะห์ ซึ่งอยู่ทางฝั่งคาบูลตะวันตก และเป็นย่านที่ถูกโจมตีด้วยเหตุระเบิดฆ่าตัวตายครั้งล่าสุดนี้ ก็ได้ออกมาประณามทั้งกลุ่มไอเอสและกลุ่มตอลิบาน โดยมองว่าทั้งสองกลุ่มอาจจะเปรียบเหมือนเหรียญ 2 ด้าน เพราะมีความแตกต่างกันอยู่บ้าง แต่ก็ยังถือว่าเป็นเหรียญเดียวกัน เพราะทั้งคู่ใช้ความรุนแรงโจมตีผู้บริสุทธิ์ โดยก่อนหน้านี้ ทั้งสองกลุ่มมักก่อเหตุพุ่งเป้าโจมตีมัสยิด เจ้าหน้าที่รัฐ และตำรวจ-ทหาร แต่ตอนนี้กลับพุ่งเป้าโจมตีพลเรือนในสถานที่จัดเลี้ยงต่างๆ เพิ่มเติม
นอกจากนี้ การก่อเหตุโจมตีของไอเอสยังเกิดขึ้นไล่เลี่ยกันกับที่นายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ทวีตข้อความบ่งชี้ว่า การเจรจาระหว่างสหรัฐฯ และอัฟกานิสถาน "มีความคืบหน้า" และหวังว่าจะเกิดข้อตกลงที่นำไปสู่การถอนทหารสหรัฐฯ จากอัฟกานิสถานเป็นการถาวร หลังจากที่ทหารอเมริกันจำนวนมากถูกส่งไปประจำการในพื้นที่ต่างๆ ของอัฟกานิสถานมานานเกือบยี่สิบปี โดยที่ภารกิจหลักๆ ก็คือการต่อสู้กับกลุ่มตอลิบานและกลุ่มติดอาวุธอื่นๆ นั่นเอง
เหตุระเบิดฆ่าตัวตายครั้งนี้จึงอาจจะส่งผลกระทบให้การเจรจาระหว่างสหรัฐฯ และตอลิบานหยุดชะงัก หรืออาจถูกเลื่อนออกไปก่อน เพราะก่อนหน้านี้ รัฐบาลอัฟกานิสถานก็เคยออกมาวิพากษ์วิจารณ์การเจรจาเช่นกัน และรัฐบาลอัฟกานิสถานก็ไม่ได้เข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งในกระบวนการเจรจาดังกล่าวด้วย จึงยังไม่อาจประเมินได้ว่า การเจรจาระหว่างสหรัฐฯ และตอลิบาน จะนำไปสู่การทำข้อตกลงจัดสรรอำนาจและยุติการสู้รบได้จริงหรือไม่