ธนาคารกลางจีนประกาศใช้ 'อัตราดอกเบี้ยเงินกู้พิเศษ' ปล่อยเงินกู้ให้ภาคธุรกิจ หลังเศรษฐกิจโตต่ำกว่าการคาดการณ์
เมื่อวันเสาร์ ที่ 17 สิงหาคม 2562 ที่ผ่านมา ธนาคารกลางจีนออกมาประกาศปรับปรุงนโยบายอัตราดอกเบี้ยใหม่ เพื่อหวังกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศที่เติบโตช้าและลดต้นทุนให้กับบริษัทรายย่อยที่ได้รับผลกระทบจากสงครามการค้ากับสหรัฐฯ
ธนาคารประชาชนจีน (พีบีโอซี) แถลงว่า ธนาคารจะพัฒนากลไกการปล่อยสินเชื่อและการกำหนดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้พิเศษ Loan Prime Rate หรือ LPR ซึ่งจะคิดดอกเบี้ยตามราคาตลาดเปิด หลังจากจีนใช้นโยบายการเงินอ้างอิงอัตราดอกเบี้ยขั้นต่ำ (floor) มาตลอด โดยจะมีศูนย์กองทุนระหว่างธนาคารของประเทศ หรือเอ็นไอบีเอฟซี เป็นผู้ประกาศอัตราดอกเบี้ย ที่จะเริ่มครั้งแรกในวันที่ 20 สิงหาคมนี้
หลังจากมีการประกาศใช้หลัก LPR อย่างเป็นทางการแล้ว ธนาคารพาณิชย์จะต้องตั้งอัตราดอกเบี้ยลอยตัวอิสระที่อ้างอิงกับอัตราดอกเบี้ย LPR ที่เอ็นไอบีเอฟซีประกาศออกมาในแต่ละเดือน โดยธนาคารกลางจีนจะเพิ่มธนาคารพาณิชย์ขนาดเล็กจำนวน 8 ธนาคารที่รวมธนาคารเพื่อให้ทุนต่างประเทศ 2 ธนาคารเข้าไปในธนาคารพาณิชย์เดิม 10 แห่งด้วย
การเอาตัวรอดจากเศรษฐกิจที่ตกต่ำ
นักวิเคราะห์หลายคนมองว่าความเคลื่อนไหวดังกล่าวของธนาคารได้รับปัจจัยกระตุ้นมาจากตัวเลขอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ในเดือนกรกฎาคมที่ตกต่ำ รวมทั้งยังเป็นการดำเนินรอยตามการประกาศของคณะรัฐมนตรีเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา ที่มุ่งความพยายามในการปฏิรูประบบเพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจประเทศที่ชะลอตัว
'ถังเจียงเหว่ย' นักเศรษฐศาสตร์จากธนาคารเพื่อแห่งการสื่อสาร (Bank of Communications) ในเซี่ยงไฮ้ จากสถานการณ์จีดีพีในไตรมาส 2/2562 ของจีน ที่เติบโตช้าที่สุดในรอบเกือบ 30 ปี การปฏิรูปดังกล่าวอาจมองได้ว่าเป็นมาตรฐานการลดอัตราดอกเบี้ยที่ธนาคารกลางสามารถกำหนดอัตราดอกเบี้ยในตลาดเปิดได้
นักวิเคราะห์หลายฝ่ายมองว่าอัตราดอกเบี้ย LPR ใหม่นี้ จะต่ำกว่าอัตราดอกเบี้ยปัจจุบัน อย่างไรก็ตาม นโยบาย LPR ไม่ใช่เป็นเรื่องใหม่เพราะธนาคารกลางจีนประกาศอัตราดอกเบี้ยพิเศษนี้มาตั้งแต่ปี 2556 ที่เอาไว้ใช้กับลูกค้าชั้นดีเท่านั้น แต่ LPR ก็ไม่ได้สร้างผลกระทบในเชิงอุปสงค์และอุปทานเท่าไหร่นัก โดยมีอัตราดอกเบี้ยหนึ่งปีอยู่ที่ร้อยละ 4.31 เมื่อเทียบกับอัตราดอกเบี้ยกลางหนึ่งปีที่อยู่ที่ร้อยละ 4.35