การฝึกซ้อมรบทางทะเลร่วมกัน 'ครั้งแรก' ระหว่าง 10 ประเทศสมาชิกอาเซียนและสหรัฐอเมริกา เปิดฉากขึ้นอย่างเป็นทางการในวันนี้ (2 กันยายน 2562) ที่ประเทศไทย และจะดำเนินต่อไปอีก 5 วัน ก่อนถึงกำหนดสิ้นสุดภารกิจในวันที่ 7 กันยายนที่จะถึง
การฝึกซ้อมรบทางทะเลร่วมกันครั้งนี้ เริ่มขึ้นที่ฐานทัพเรือในจังหวัดชลบุรี เพราะปัจจุบันประเทศไทยเป็น 'ประธานอาเซียน' ทำให้ไทยได้รับตำแหน่ง 'ประธานร่วม' ของการฝึกซ้อมรบครั้งนี้ไปด้วย และนักวิเคราะห์ต่างประเทศมองว่า การฝึกซ้อมรบครั้งนี้ มีความสำคัญทางยุทธศาสตร์ความมั่นคง ความร่วมมือทางการทหาร และการค้าระหว่างประเทศในเอเชียแปซิฟิก
ที่ผ่านมา สหรัฐฯ และไทย รวมถึงประเทศอาเซียน เคยฝึกซ้อมรบร่วมกันมาก่อนแล้ว ทั้งแบบสะเทินน้ำสะเทินบก และการฝึกผสมในด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นคอบราโกลด์, กะรัต และซีแคต (SEACAT) แต่การฝึกซ้อมรบทางทะเลร่วมกัน ถือว่าครั้งนี้เป็นครั้งแรก
หลังจากเปิดฉากที่ประเทศไทยไปแล้ว การฝึกซ้อมทางทะเลต่อจากนั้นจะเคลื่อนไปจัดที่น่านน้ำทะเลเวียดนาม ติดกับเมือง 'ก่าเมา' เพราะเวียดนามจะรับตำแหน่ง 'ประธานอาเซียน' ต่อจากไทยในปีหน้า ส่วนการฝึกซ้อมรบทางทะเลที่เวียดนามจะเป็นการจำลองสถานการณ์เพื่อให้ทหารที่เข้าร่วมฝึกได้ทดลองวางแผนยุทธศาสตร์และปฏิบัติการเสมือนจริง
ส่วนแถลงการณ์ร่วมของกองทัพสหรัฐฯ และไทย ระบุว่าการฝึกซ้อมรบทางทะเลครั้งนี้ "มีเป้าหมายเพื่อป้องกันและปราบปรามการก่ออาชญากรรมทางทะเล และประเทศต่างๆ ที่เข้าร่วมการฝึกซ้อมรบ จะแบ่งปันข้อมูลระหว่างกัน รวมถึงเสริมสร้างความตระหนักรู้ และความร่วมมือภายใต้หลักกฎหมายระหว่างประเทศและกฎหมายของประเทศภาคี"
อย่างไรก็ตาม สำนักข่าววีโอเอของสหรัฐฯ รายงานว่า การฝึกซ้อมรบทางทะเลครั้งนี้มีความสำคัญตรงที่เป็นการ 'สร้างดุลอำนาจ' ระหว่างสหรัฐฯ กับจีนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หลังจากที่จีนเข้ามามีบทบาทในภูมิภาคนี้มากขึ้นเรื่อยๆ ช่วงสิบกว่าปีที่ผ่านมา ทั้งยังฝึกซ้อมรบทางทะเลร่วมกับประเทศอาเซียนไปก่อนหน้าสหรัฐฯ ตั้งแต่เมื่อปีที่แล้วอีกด้วย
ทางด้าน 'วิลเลียม ชุง' นักวิจัยอาวุโสด้านความมั่นคงแห่งสถาบันการศึกษายุทธศาสตร์ระหว่างประเทศในสิงคโปร์ ประเมินว่า การที่อาเซียนฝึกซ้อมรบกับสหรัฐฯ ในปีนี้ คือ การส่งสัญญาณว่า อาเซียนให้น้ำหนักกับทั้งสหรัฐฯ และจีนอย่างเท่าเทียมกัน เพราะอาเซียนยึดหลักการว่าจะต้องไม่ถูกดึงเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของการแข่งขันช่วงชิงอำนาจใดๆ มาตลอด
อีกเรื่องหนึ่งที่นักวิเคราะห์มองว่าเป็นสาเหตุสำคัญ ที่ทำให้สหรัฐฯ ต้องการฝึกซ้อมรบทางทะเลร่วมกับกลุ่มประเทศอาเซียน ก็คือ สถานการณ์ในทะเลจีนใต้ ซึ่งจีนได้สร้างเกาะเทียมและสิ่งปลูกสร้างขึ้นเป็นจำนวนมากในน่านน้ำทะเลที่เป็นข้อพิพาทระหว่างจีนกับอีก 4 ประเทศอาเซียน ได้แก่ มาเลเซีย เวียดนาม บรูไน และฟิลิปปินส์
ถ้าหากจีนอ้างสิทธิเหนือน่านฟ้าและอาณาเขตทางทะเลในทะเลจีนใต้โดยไม่มีใครสามารถคัดค้านได้ พื้นที่ดังกล่าวก็อาจจะตกอยู่ในการควบคุมของจีน และแน่นอนว่า จะต้องส่งผลกระทบต่อเสรีภาพในการเดินเรือและการค้าระหว่างประเทศอย่างไม่มีทางเลี่ยง เพราะบริเวณดังกล่าวเป็นเส้นทางสำคัญของการค้าและการเดินเรือ
นักวิเคราะห์ประเมินด้วยว่า การฝึกซ้อมรบร่วมกันระหว่าง 'อาเซียนกับจีน' และ 'อาเซียนกับสหรัฐฯ' จะมีขึ้นต่อไปในอีกหลายปีข้างหน้า และจะกลายเป็นองค์ประกอบสำคัญอย่างหนึ่งในการต่อสู้ช่วงชิงอำนาจและอิทธิพลระหว่างจีนกับสหรัฐฯ ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกด้วย