ผู้นำรัฐบาลทหารของซูดานกับแกนนำการประท้วงเพื่อประชาธิปไตย ลงนามปฏิญญารัฐธรรมนูญปูทางสู่การเปลี่ยนผ่านอำนาจไปให้รัฐบาลพลเรือน หลังโค่นล้มผู้นำเผด็จการโอมาร์ อัล-บาเชียร์สำเร็จ
พลเอกโมฮัมเหม็ด ฮัมดัน ดากาโล รองประธานสภาทหารเพื่อการเปลี่ยนผ่าน (Transitional Military Council: TMC) ซึ่งทำหน้าที่รัฐบาลทหารของซูดาน และอาเหม็ด เรบี แกนนำการประท้วงเรียกร้องประชาธิปไตยซูดานได้ลงนามในปฏิญญารัฐธรรมนูญ ซึ่งจะนำไปสู่การถ่ายโอนอำนาจจากกองทัพไปอยู่ในมือของรัฐบาลพลเรือน ท่ามกลางเสียงเชียร์ว่า "รัฐบาลพลเรือนเป็นของเรา"
การลงนามปฏิญญารัฐธรรมนูญครั้งนี้เกิดขึ้นหลังจากที่ประชาชนร่วมกันประท้วงและเจรจากับกองทัพซูดานกันมาหลายเดือน เพื่อให้กองทัพคืนอำนาจให้ประชาชนอย่างแท้จริง หลังจากที่ประชาชนร่วมกันประท้วงกดดันให้โอมาร์ อัล-บาเชียร์ลาออกจากตำแหน่งประธานาธิบดีซูดานที่อยู่ในอำนาจมานานเกือบ 30 ปี
ปฏิญญานี้ร่างขึ้นจากข้อตกลงในการแบ่งสรรอำนาจเมื่อเดือนก.ค.ที่ผ่านมา และตั้งคณะบริหารประเทศร่วมกันระหว่างพลเรือนและกองทัพ เพื่อดูแลการจัดตั้งรัฐบาลพลเรือนในช่วงเปลี่ยนผ่านประเทศ 3 ปีไปสู่การจัดการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตย
พิธีลงนามปฏิญญารัฐธรรมนูญในครั้งนี้มีตัวแทนจากสหภาพแอฟริกา (AU) และคนกลางการเจรจาจาเอธิปโอเปียเข้าร่วมด้วย แต่จะมีการลงนามอย่างเป็นทางการต่อหน้าตัวแทนต่างชาติที่กรุงคาร์ทูม เมืองหลวงของซูดานในวันที่ 17 ส.ค.นี้ และคาดว่าในวันถัดมา ผู้นำกองทัพและแกนนำการประท้วงจะประกาศจัดตั้งสภาเพื่อการเปลี่ยนผ่านที่มีฝ่ายพลเรือนคุมเสียงข้างมาก
นอกจากนี้ ยังมีการคาดการณ์ว่ากองกำลังแห่งเสรีภาพและการเปลี่ยนแปลง (FFC) จะเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีคนใหม่ในวันที่ 20 ส.ค.นี้ โดยนายกรัฐมนตรีจะมีหน้าที่จัดตั้งรัฐบาลโดยมี FCC เป็นที่ปรึกษา ขณะที่รัฐมนตรีกลาโหมและรัฐมนตรีมหาดไทยจะได้รับการแต่งตั้งจากสภาทหาร จากนั้น จะมีการประก���ศรายชื่อรัฐมนตรีกระทรวงต่างๆ ในวันที่ 28 ส.ค. แล้วคณะบริหารประเทศทั้งหมดจะมาพบกันในวันที่ 1 ก.ย.
ประท้วงโค่นผู้นำเผด็จการ แต่ได้รัฐบาลทหาร
ซูดานอยู่ภายใต้การปกครองโดยรัฐบาลของโอมาร์ อัล-บาเชียร์มานานกว่า 30 ปี หลังอัล-บาเชียร์ก่อการรัฐประหารในปี 1986 จนเมื่อเดือนธ.ค. 2018 ประชาชนชาวซูดานรวมตัวประท้วงเศรษฐกิจที่ย่ำแย่ และขับไล่รัฐบาลอัล-บาเชียร์อย่างต่อเนื่อง ต่อมาผู้นำ 4 เหล่าทัพของซูดานได้กดดันให้อัล-บาเชียร์ลาออกจากตำแหน่งในเดือนเม.ย. ที่ผ่านมา
อย่างไรก็ตาม กองทัพซูดานกลับตั้งสภาทหารระยะเปลี่ยนผ่านขึ้นมาปกครองประเทศต่อ พร้อมประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน เคอร์ฟิว และขัดขวางการชุมนุมของประชาชน โดยอ้างว่าจะจัดการเลือกตั้งและถ่ายโอนอำนาจคืนสู่รัฐบาลพลเรือนเต็มคณะภายใน 3 ปี แต่ประชาชนยังคงปักหลักชุมนุมเรียกร้องให้คืนอำนาจแก่พลเรือนต่อไป โดยระบุว่า กองทัพก็เป็นคนหน้าเดิมที่เคยกุมอำนาจใ่นช่วงที่อัล-บาเชียร์เป็นประธานาธิบดี
ช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา กองทัพซูดานได้ใช้กระสุนปืนและแก๊สน้ำตาสลายการชุมนุมมาแล้วหลายครั้ง โดยการปราบปรามการชุมนุมในวันที่ 3 มิ.ย. ทำให้มีผู้เสียชีวิตที่ระบุได้ 128 ราย แต่คณะกรรมการกลางแพทย์ซูดานคาดว่า ยอดผู้เสียชีวิตมีมากกว่านี้แต่ไม่สามารถระบุตัวตนได้