เน็ตฟลิกซ์วางกลยุทธ์ใหม่ เพื่อเพิ่มโอกาสในการเข้าชิงรางวัลใหญ่ โดยประกาศเตรียมฉายผลงานในโรงภาพยนตร์ พร้อมการสตรีมผ่านระบบ อย่างไรก็ตาม คนในวงการออกมาให้ความเห็นว่ากลยุทธ์นี้ไม่น่าจะส่งผลอะไรต่อการเข้าชิงหรือได้รับรางวัล
ในช่วงที่ฮอลลีวูดกำลังเข้าสู่ Award Season หรือ ฤดูกาลประกาศรางวัลแบบนี้ ผู้จัดจำหน่ายภาพยนตร์หลายเจ้าจึงเร่งวางกลยุทธ์ เพื่อผลักดันผลงานของตนให้เป็นกระแส และกลยุทธ์หนึ่งที่สตรีมเมอร์ชื่อดังอย่างเน็ตฟลิกซ์หวังจะทำให้สำเร็จก็คือการนำผลงานที่มีแนวโน้มจะลุ้นรางวัลใหญ่ เช่น ออสการ์ เข้าฉายในโรงภาพยนตร์ ให้เข้าถึงผู้ชมกลุ่มที่ไม่ดูภาพยนตร์ออนไลน์ให้มากขึ้น เพิ่มโอกาสการถูกพูดถึง รวมถึงให้ผ่านเกณฑ์ของบางรางวัลที่กำหนดให้ผลงานที่เข้าชิงต้องฉายในโรงภาพยนตร์ด้วย
ล่าสุด The Hollywood Reporter รายงานว่า เน็ตฟลิกซ์ได้ว่าจ้างนักวางกลยุทธ์ภาพยนตร์ ลิซา ทาแบ็ก (Lisa Taback) ให้ช่วยพาผลงานรับรางวัลในเวทีใหญ่แล้ว โดยเน็ตฟลิกซ์เพิ่งประกาศเตรียมฉายผลงานของผู้กำกับดัง 2 คน คือ อัลฟอนโซ กวารอน (Alfonso Cuaron) เรื่อง Roma และพอล กรีนกราสส์ (Paul Greengrass) เรื่อง 22 July ทั้งบนแพลตฟอร์มสตรีมมิงของตนเอง และในโรงภาพยนตร์ ซึ่งกูรูวงการภาพยนตร์มองว่าเน็ตฟลิกซ์เตรียมฉายผลงานเช่นนี้อีกหลายเรื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับผู้กำกับดัง เพราะผู้กำกับแถวหน้าของวงการมักต้องการให้ผลงานได้ฉายในโรงภาพยนตร์ และเก็บสถิติรายได้การจำหน่ายตั๋วอย่างเป็นทางการ
รายงานการเตรียมเข้าฉาย 2 แพลตฟอร์มดังกล่าว ทำให้คอลัมนิสต์ภาพยนตร์ จิม เอมอส (Jim Amos) ออกมาให้ความเห็นผ่านบทความใน Forbes ว่า เน็ตฟลิกซ์ต้องเรียนรู้ว่าพวกเขาจะจับปลาสองมือไม่ได้ และการนำผลงานเข้าฉายในโรงใหญ่จะไม่เกิดประโยชน์อะไรในเชิงธุรกิจ และการยอมรับในเวทีใหญ่
เอมอส กล่าวว่า ที่ผ่านมาเน็ตฟลิกซ์สามารถดึงดูดผู้กำกับและนักแสดงดังให้มาสร้างผลงานบนแพลตฟอร์มตนเองได้มากมาย แต่ยังมีปัญหาคือค่ายโรงภาพยนตร์ส่วนใหญ่ในสหรัฐฯ ไม่ยอมฉายผลงานเหล่านี้ และจะไม่ยอมรับข้อเสนอของบริษัทที่ต้องการให้ผลงานใหม่ ๆ เข้าฉาย เนื่องจากข้อแม้หลักของสตรีมเมอร์ดังรายนี้ ก็คือ ผลงานที่เข้าฉายในโรง จะเริ่มสตรีมผ่านระบบในวันเดียวกับ แบบที่เรียกกันว่า Day-and-date release โดยปัจจุบัน มีเพียงโรง iPic และ Landmark ที่ยอมฉายผลงานของเน็ตฟลิกซ์
เมื่อปีที่แล้ว ภาพยนตร์ของเน็ตฟลิกซ์สามารถเข้าฉายในโรงใหญ่ได้ 33 เรื่อง ใน 40 เมืองทั่วโลก อย่างในไทยเองก็มี What Happened to Monday กับ Anon ที่ในประเทศส่วนใหญ่ทั่วโลกเป็นผลงานสตรีมผ่านเน็ตฟลิกซ์ แต่บ้านเราเข้าฉายโรงใหญ่ ซึ่งสำหรับดีลการเข้าฉายพร้อมกัน 2 แพลตฟอร์ม ที่ผู้กำกับใหญ่ทำไว้กับเน็ตฟลิกซ์นั้น จะไม่ทำให้พวกเขาได้สถิติมูลค่าการจำหน่ายตั๋ว ซึ่งจะกระทบตัวเลขใน 'พอร์ตฟอลิโอ' ของผู้กำกับ และลดโอกาสการเข้าชิงรางวัลใหญ่ไปด้วยโดยปริยาย
สำหรับ กรีนกราสส์ เคยทำภาพยนตร์มา 6 เรื่อง ในจำนวนนั้น 4 เรื่องทำรายได้เกิน 100 ล้านดอลลาร์ หรือ 3,300 ล้านบาท จากการฉายในสหรัฐฯ ประเทศเดียว ขณะที่ กวารอน ที่เคยฝากผลงานไว้กับ Gravity และ Harry Potter and the Prisoner of Azkaban ก็รายได้ทั่วโลกจากทั้งสองเรื่องรวมกว่า 1,500 ล้านดอลลาร์ หรือเกือบ 50,000 ล้านบาท
ส่วนในด้านการชิงรางวัล Gravity ของกวารอน เข้าชิงออสการ์ปี 2014 ไป 10 สาขา ได้รางวัลไป 7 สาขา และเมื่อนับรวมทุกผลงานแล้ว ภาพยนตร์ของกวารอนเข้าชิงออสการ์ทั้งหมด 16 รางวัล ถือว่าเป็นหนึ่งในผู้กำกับที่คุ้นเคยกับการเข้าชิงรางวัลเกียรติยศนี้เป็นอย่างดี อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการออสการ์ไม่ได้ลงคะแนนเลือกผู้กำกับที่พวกเขาคุ้นเคยเป็นหลัก และส่วนใหญ่ยังคงลังเลที่จะให้คะแนนกับผลงานที่ฉายแบบสตรีมมิง โดยเน็ตฟลิกซ์เคยได้ออสการ์ได้เพียงรางวัลเดียว จากสารคดี Icarus ที่เกี่ยวกับการใช้สารต้องห้ามในนักกีฬาของรัสเซีย เท่านั้น
ขณะที่ ผลงานเรื่อง Bright ที่นำแสดงโดย วิล สมิธ ( Will Smith) และกำกับโดย เดวิด เอเยอร์ส (David Ayers) ที่เคยกำกับ Fury และ Suicide Squad นั้น ไม่ได้เข้าชิงออสการ์ แม้แต่ในสาขาที่คนในวงการเก็งว่าจะเข้าชิง อย่าง Best Special Effects โดยที่คนดังในวงการจำนวนหนึ่งออกมาต่อต้านการเข้าชิงรางวัลของผลงานสตรีมมิงอย่างชัดเจน เช่น ผู้กำกับระดับตำนานอย่าง สตีเฟน สปีลเบิร์ก (Steven Spielberg) และนักแสดงชั้นครู เฮเลน เมียร์เรน (Helen Mirren)
น่าสนใจว่ากลยุทธ์ฉาย 2 แพลตฟอร์ม จะเพิ่มโอกาสการเข้งชิงรางวัลของเน็ตฟลิกซ์ได้หรือไม่ และที่สุดแล้วคณะกรรมการรางวัลใหญ่เวทีไหนจะยอมรับผลงานเหล่านี้อย่างเปิดเผยเป็นเวทีแรก ซึ่งหากมีผลงานได้รับรางวัลใหญ่จริง ไม่ว่าจะเป็นเวทีไหน หรือผลงานใด ต้องได้รับกระแสตีกลับ ทั้งเชิงบวกและลบจากคนในวงการอย่างแน่นอน