ผู้บริโภคที่ใส่ใจสุขภาพหรือสิ่งแวดล้อมเริ่มหันมาสนใจอาหารทางเลือกและลดการบริโภคเนื้อสัตว์ลง จนทำให้อุตสาหกรรม 'อาหารทดแทน' เฟื่องฟู ซึ่งอาจทำให้มูลค่ารวมของธุรกิจแขนงนี้เติบโตมากถึง 20 เท่าในช่วง 1 ทศวรรษข้างหน้า
นิตยสารรายเดือนด้านธุรกิจสัญชาติอเมริกัน เผยแพร่บทความที่น่าสนใจเกี่ยวกับ Plant-based Meat หรือ เนื้อสัตว์ทดแทนที่ไม่ได้ทำจากสัตว์ ว่าอาจเป็นอุตสาหกรรมที่เติบโตรวดเร็วในเวลาไม่นาน โดยระบุว่าช่วงเวลานี้น่าจะเป็นจังหวะที่เหมาะสมที่สุดสำหรับการลงทุนในธุรกิจด้านนี้ และยกตัวอย่าง Impossible Foods บริษัทเนื้อสัตว์และผลิตภัณฑ์นมเนยทดแทน ที่เพิ่งระดมทุนเพิ่มได้ 300 ล้านดอลลาร์ หรือ 9,500 ล้านบาท ทำให้มูลค่าการลงทุนรวมในบริษัทอยู่ที่กว่า 750 ล้านดอลลาร์ หรือ 24,000 ล้านบาทแล้ว
ยิ่งไปกว่านั้น เมื่อไม่กี่สัปดาห์ก่อน Burger King ก็เพิ่งประกาศแผนจะใช้เนื้อสัตว์ทดแทนที่แท้จริงแล้วผลิตจากพืชเหล่านี้ ในการทำ 'วอปเปอร์' เมนูซิกเนเจอร์ของแบรนด์ ภายใต้ชื่อ Impossible Whoppers ซึ่งจะมีจำหน่ายทั่วสหรัฐฯ หลังจากที่ทดลองจำหน่ายใน 7,000 สาขา และได้การตอบรับที่ดี ขณะที่ McDonald's ก็ไม่ยอมแพ้ และหันมาจับเทรนด์นี้เช่นกัน โดยเริ่มจำหน่ายเบอร์เกอร์วีแกนในเยอรมนี และจัดเซต 'แฮปปี้มีลวีแกน' ในอังกฤษแล้ว
ด้าน Nestlé เครือบริษัทผลิตอาหารและเครื่องดื่มจากสวิตเซอร์แลนด์ ก็เตรียมผลิต Incredible Burger เมนูเบอร์เกอร์ไม่ใช้เนื้อสัตว์ของตนเอง ในยุโรปเช่นเดียวกัน ก่อนจะขยายไปเจาะตลาดสหรัฐฯ ช่วงปลายปีนี้ แข่งกับอีกบริษัท นั่นก็คือ Beyond Meat ที่ตั้งบริษัทในปี 2009 วางจำหน่ายผลิตภัณฑ์ทั่วสหรัฐฯ ได้ในปี 2013 และกลายเป็นแบรนด์เนื้อวีแกนแห่งแรกที่สามารถเข้าตลาดหลักทรัพย์ได้สำเร็จ จากการเปิดขายหุ้นใหม่ หรือ IPO เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคมที่ผ่านมา ในราคาหุ้นละ 25 ดอลลาร์ หรือ 790 บาท จำนวนเกือบ 10 ล้านหุ้น ซึ่งล่าสุดราคาปรับขึ้นจากนั้นถึงเกือบ 250 เปอร์เซ็นต์
ตัวแทนจาก Good Food Institute องค์กรไม่แสวงผลกำไรที่รณรงค์ด้านอาหารทดแทนเนื้อ เปิดเผยว่าผู้คนตอบรับเทรนด์นี้อย่างคึกคัก ทั้งการบริโภคและการลงทุน โดยในภาคการลงทุนช่วง 10 ปีที่ผ่านมา มีเงินไหลเข้าอุตสาหกรรมประเภทนี้มากถึงกว่า 2,000 ล้านดอลลาร์ หรือ 63,000 ล้านบาท ซึ่งกว่าครึ่งเป็นการลงุทนระหว่างปี 2017 ถึง 2018 โดยการลงทุนส่วนหนึ่งมาจากบริษัทใหญ่ที่มีกิจการเนื้อสัตว์แบบดั้งเดิมอยู่แล้ว เช่น Tyson Foods และ Nestlé
ความสำเร็จนี้ขับเคลื่อนโดยความก้าวหน้าของเทคโนโลยี ที่ทำให้ตัวผลิตภัณฑ์พัฒนาได้อย่างรวดเร็วและน่าประทับใจ จนทำให้เบอร์เกอร์ไร้เนื้อในปัจจุบันมีรสชาติดีกว่าเบอร์เกอร์มังสวิรัติสมัยก่อนมาก โดยทั้งหมดนี้เกิดจากการศึกษา วิจัย และทดลองสูตรในห้องแล็บซ้ำ ๆ ซึ่งการลงทุนลงแรงในระดับนี้ แน่นอนว่าเป้าหมายไม่ได้หยุดอยู่แค่ผู้บริโภคมังสวิรัติหรือวีแกนเท่านั้น แต่ต้องครอบคลุมถึง 'คนรักเนื้อ' ที่อยากรับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพมากขึ้น ดีต่อสวัสดิภาพสัตว์มากขึ้น หรือดีต่อสภาพแวดล้อมและภาวะโลกร้อนยิ่งขึ้นด้วย
ปัจจุบัน ผู้บริโภคชาวอเมริกันราว 30 เปอร์เซ็นต์ ยอมรับว่าตนเองลดการบริโภคเนื้อสัตว์ลงจากเดิม ขณะที่ 32 เปอร์เซ็นต์ ระบุว่าตนเองเป็น Flexitarian หรือ มังสวิรัติแบบยืดหยุ่น ที่ไม่ยอมตัดขาดจากเนื้อสัตว์ไปเสียทีเดียว แต่เลือกรับประทานแค่เพียงครั้งคราวเท่านั้น ซึ่งกลุ่มคนเหล่านี้เป็นกลุ่มเป้าหมายที่ทำให้ยอดขายเนื้อสัตว์จากพืชเติบโตในอัตรารวดเร็วว่าเนื้อสัตว์ทั่วไป โดยสถิติเมื่อเดือนกันยายน 2018 ชี้ว่า ในรอบ 12 เดือน ยอดขายเนื้อสัตว์ทางเลือกเติบโต 23 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่ เนื้อสัตว์ธรรมดาเติบโต 2 เปอร์เซ็นต์ และเมื่อเจาะจงพิจารณาที่บริษัท อย่าง Beyond Meat จะพบว่ายอดขายเติบโตถึง 70 เปอร์เซ็นต์เลยทีเดียว
คริส เคอร์ ผู้บริหาร New Crop Capital หนึ่งในกลุ่มทุนที่เลือกลงทุนในอุตสาหกรรมเนื้อสัตว์ทดแทน ระบุว่าการที่บริษัทใหญ่ที่มีอิทธิพลทางการตลาดจำเป็นต้องเสี่ยงจับตลาดใหม่ อย่างที่เห็นอยู่ในปัจจุบัน เพื่อที่จะกลายเป็นผู้เล่นที่ 'ลงสนามเร็ว' และไม่ต้องมาไล่ตามคู่แข่งภายหลัง ซึ่งแน่นอนว่าเมื่อ 10 ปีก่อน การระดมทุนในกิจการที่แตกต่างไม่ใช่เรื่องง่าย แต่เมื่อมีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ดีพอ ก็จะเติบโตได้อย่างก้าวกระโดด โดยจุดเปลี่ยนของตลาดอยู่ที่ช่วงปี 2012 ที่ซิลิคอนแวลลีย์หันมาสนใจธุรกิจแขนงนี้อย่างจริงจัง และนับตั้งแต่ปี 2008 จนถึงตอนนี้ เมนู 'วีแกน' ในเมนูอาหารทั่วในสหรัฐฯ ก็เพิ่มขึ้นอย่างเป็นประวัติการณ์ ที่ 490 เปอร์เซ็นต์
เคอร์เชื่อว่า อุตสาหกรรมเนื้อสัตว์จากพืชจะเติบโตติดตามอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์นมเนยจากพืชไป แม้จะเป็นในอัตราที่ช้ากว่า และสุดท้ายแล้วในรอบทศวรรษข้างหน้าอุตสาหกรรมเนื้อสัตว์ทดแทนจะขยายตัวจากมูลค่า 1,000 ล้านดอลลาร์ (32,000 ล้านบาท) ในปัจจุบัน ไปเป็น 20,000 ล้านดอลลาร์ (632,000 ล้านบาท) ได้ในที่สุด