อุตสาหกรรมเพชรที่มีมายาวนานนับศตวรรษได้เกิดความเปลี่ยนแปลงอย่างมากในช่วงไม่กี่ปีมานี้ ด้วยนวัตกรรมการ 'ปลูกเพชร' ซึ่งเป็นการผลิตเพชรในห้องทดลอง ที่มีค่าใช้จ่ายในการผลิตน้อยกว่า และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากกว่าด้วย โดยแบรนด์ที่หันมาจับตลาดด้านนี้ มีทั้งแบรนด์เล็ก ๆ และแบรนด์ดัง ที่ครองตลาดเพชรจากเหมืองอยู่แล้ว
แม้ว่าเทคโนโลยีการผลิตเพชรจากห้องแล็บจะมีมาหลายทศวรรษแล้ว แต่ความก้าวหน้าด้านนวัตกรรมในช่วงไม่กี่ปีมานี้ ที่พัฒนาขึ้นอย่างก้าวกระโดด ทำให้คุณภาพของเพชรสังเคราะห์เหล่านี้ เพิ่งจะดีพอเทียบเท่าเพชรธรรมชาติที่ขุดจากเหมือง ทั้งในด้านรูปลักษณ์ รูปทรง และส่วนประกอบทางเคมี ทำให้แบรนด์ต่าง ๆ หันมาจำหน่ายเพชรสังเคราะห์กันมากขึ้น
โดยเฉพาะผู้ประกอบการรายย่อย เพราะต้นทุนการผลิตของเพชรเหล่านี้ ไม่สูงเท่าเพชรเหมือง ขณะเดียวกัน แบรนด์ใหญ่อย่าง De Beers ที่ก่อตั้งมา 130 ปี และมีสโลแกนติดหูว่า A Diamond Is Forever ก็เพิ่งประกาศเปิดตัวไลน์สินค้า Lightbox เพื่อขายเพชรสังเคราะห์โดยเฉพาะ เมื่อปลายเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา และจะเปิดขายอย่างเป็นทางการในเดือนกันยายนนี้ เท่ากับว่า จำนวนผู้ค้าในตลาดอัญมณีเพิ่มสูงขึ้นอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน
ก่อนหน้านี้ คำจำกัดความของ 'เพชร' ตามที่กรรมาธิการการค้ากลางสหรัฐฯ กำหนดไว้ระบุว่าต้องมาจากธรรมชาติ แต่ล่าสุด เมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา มีการปรับให้เหลือเพียง 'แร่ที่ประกอบด้วยคาร์บอนตกผลึกจนเป็นรูปทรง' เท่านั้น เท่ากับว่า เพชรจากห้องแล็บก็ถือเป็นเพชรที่สามารถวางจำหน่ายได้ทั่วไป ไม่ต่างจากเพชรธรรมชาติเช่นกัน
โดยหลังจากที่ De Beers ประกาศเปิดตัว Lightbox ไป ก็ได้สร้างความฮือฮาให้กับอุตสาหกรรมเพชรอย่างมาก ซึ่งหลายฝ่ายคาดว่าไลน์นี้จะกลายมาเป็นคู่แข่งสำคัญของแบรนด์ขนาดเล็กกว่า ที่ก่อตั้งมาเพื่อขายเพชรสังเคราะห์ และทำการตลาดมาจน 'อยู่ตัว' แล้ว อย่าง Stuller , Chatham Created , Lucent Diamonds , และ Pure Grown Diamonds ที่ขายเพชรสังเคราะห์หลากหลายสีและขนาด คือ ชมพู เหลือง ฟ้า และแชมเปญ ตั้งแต่ 0.01 ไปจนถึง 5.5 กะรัต
เบื้องต้น มีรายงานว่า เพชรสังเคราะห์ของ De Beers จะมีราคา 800 ดอลลาร์ หรือ 26,000 บาทต่อกะรัต ถือเป็นการตัดราคาเพชรสังเคราะห์ในตลาดที่เคยสูงถึง 2,200 ดอลลาร์ หรือเกือบ 72,000 บาทต่อกะรัต ซึ่งก็ทำให้หลายบริษัทต้องรีบปรับราคาลงมาแข่งกับ De Beers ทันที หรือปรับกลยุทธ์การตลาด เพื่อเตรียมแข่งขัน ก่อนที่แบรนด์ใหม่นี้จะเริ่มขายอย่างเป็นทางการ
โดยแบรนด์ที่จับตลาดนี้อยู่แล้วอย่าง Chatham ก็ออกมาวิจารณ์อย่างตรงไปตรงมาว่า De Beers กำลัง 'ป่วน' อุตสาหกรรมเพชรสังเคราะห์ และตั้งราคาขายต่ำเกินไป ซึ่งจะทำให้ได้กำไรน้อยเกินไป
Lightbox ของ De Beers เตรียมออกคอลเลกชันเพชร 50 แบบ ตั้งแต่ตุ้มหู ไปจนถึงจี้สร้อยคอ โดยจะมีเพชร 2 รูปทรง และ 3 สี เท่านั้น ซึ่งขนาดจะไม่เกิน 1 กะรัต เท่ากับว่า เมื่อพิจารณาจากตัวสินค้าแล้ว Lightbox ก็ไม่ได้จะแข่งขันกับผู้ประกอบการรายเดิมเสียทีเดียว แต่แข่งขันกับสินค้าแอ็กเซสซอรีอื่น ๆ หรือ ผลิตภัณฑ์บำรุงผิวพรรณ หรือเครื่องสำอาง ที่ผู้บริโภคมักซื้อปรนเปรอตัวเองเสียมากกว่า
นอกจากนี้ เทรนด์เพชรสังเคราะห์ยังเป็นที่นิยมด้วยกระแสจากดาราดังอย่าง ลีโอนาร์โด ดิคาปริโอ ที่เคยแสดงหนัง Blood Diamond ปี 2006 และหันมารณรงค์เรื่องการทำเหมืองเพชรที่มีจริยธรรม จนเมื่อปี 2015 เขาได้ลงทุนใน Diamond Foundry บริษัทผลิตเพชรสังเคราะห์ ในซานฟรานซิสโก โดยที่กระบวนการผลิตเพชรแบบนี้ เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมยิ่งกว่า สอดคล้องกับภาพลักษณ์ของนักแสดงคนดังอย่างยิ่ง
เพเนโลเป ครูซ เป็นดาราดังอีกคนที่มาสนับสนุนอัญมณีประเภทนี้ โดยเธอได้ร่วมกับ Atelier Swarovski แบรนด์ลูกของ Swarovski ในการออกคอลเลกชันที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และไม่ใช้แรงงานเด็ก ซึ่งกลายเป็นการประชาสัมพันธ์ภาพลักษณ์ที่ดีให้กับตัวเธอด้วยอีกทาง
สิ่งเหล่านี้แสดงให้เห็นว่า อุตสาหกรรมเพชรและอัญมณีกำลังปรับทิศทางและขับเคลื่อนอย่างรวดเร็ว โดยที่ชูจุดขายเรื่องเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม มีราคาจับต้องได้ และเป็นทางเลือกใหม่ให้ผู้บริโภคอีกทางหนึ่งด้วย ต้องติดตามกันว่า Lightbox ของ De Beers จะทำตลาดได้ดีขนาดไหนเมื่อวางขายอย่างเป็นทางการ แต่สิ่งหนึ่งที่แน่นอนก็คือ ธุรกิจนี้จะไม่หยุดนิ่งอยู่ที่นวัตกรรมนี้อย่างแน่นอน