โรงเรียนในหลายท้องถิ่นของญี่ปุ่นเริ่มตระหนักถึงความหลากหลายทางวัฒนธรรมของนักเรียน และปรับเมนูอาหารกลางวันให้เข้ากับนักเรียนต่างชาติ
จากจำนวนนักเรียนต่างชาติที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในญี่ปุ่น ทำให้หลายโรงเรียนและสถานรับเลี้ยงเด็กระหว่างวันได้รับการเรียกร้องให้ปรับสูตรและเมนูอาหารกลางวันให้ครอบคลุมข้อจำกัดของนักเรียนต่างศาสนาและวัฒนธรรมมากกว่าเดิม โดยบางสถาบันเริ่มจากการเพิ่มอาหารฮาลาลเป็นทางเลือก นอกเหนือจากแนวทางเบื้องต้นของรัฐบาลกลางที่กำหนดว่าโรงเรียนต้องไม่เสิร์ฟอาหารที่เด็กอาจแพ้ได้
สำนักข่าว เดอะ เจแปน ไทมส์ รายงานว่าคู่สมรสจากบังกลาเทศ ที่อาศัยอยู่ที่เมืองยกกาอิจิ ในจังหวัดมิเอะ ต้องให้ลูกสาววัย 5 ขวบของพวกเขาออกจากสถานรับเลี้ยง เนื่องจากสถานรับเลี้ยงแห่งนั้นไม่งดเว้นเนื้อหมูในอาหารตามที่พ่อแม่ร้องขอ ขณะเดียวกัน โรงเรียนในยกกาอิจิก็ไม่อนุญาตให้เด็กนำอาหารกลางวันมาจากบ้าน จึงทำให้ทั้งคู่ไม่มีทางเลือก และไม่สามารถประนีประนอมกับทางสถานรับเลี้ยงได้
จากกรณีนี้ สถานรับเลี้ยงอธิบายว่า เด็กควรได้รับสารอาหารจากเนื้อสัตว์หลากหลาย รวมถึงหมู และนึกว่าผู้ปกครองเข้าใจตามนั้นแล้ว ขณะที่ รัฐบาลท้องถิ่นเมืองยกกาอิจิระบุว่า ปัญหาทั้งหมดมาจากความไม่เข้าใจในธรรมเนียมของศาสนาอิสลามและความไร้ศักยภาพในการสื่อสารกับผู้ปกครอง ซึ่งนับวันประชากรที่นับถือศาสนาอิสลามในญี่ปุ่นจะเพิ่มมากขึ้น จากการย้ายถิ่นของชาวอินโดนีเซีย ปากีสถาน และตุรกี ทำให้รัฐบาลท้องถิ่นแต่ละแห่งต้องเร่งทำความเข้าใจกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยเร็วที่สุด