ยูทูบ เตรียมเพิ่มฟีเจอร์ไม่ระบุตัวตนเข้าใช้งาน
แอนดรอยด์โพลิส เว็บไซต์ข่าวเทคโนโลยีต่างประเทศ รายงานว่า ยูทูบ ผู้ให้บริการแพลตฟอร์มชมวิดีโอออนไลน์ กำลังทดสอบฟีเจอร์ใหม่ ในโหมดไม่ระบุตัวตน หรือ Incognito Mode ที่จะไม่บันทึกประวัติการเข้าชมของผู้ใช้อีกต่อไป
โดยปกติแล้ว ยูทูบจะบันทึกประวัติการรับชมวิดีโอของผู้ใช้งานโดยผูกเข้ากับบัญชีผู้ใช้ เพื่อที่ยูทูบจะได้ศึกษาพฤติกรรมการรับชมวิดีโอและสามารถแนะนำวิดีโอที่คล้าย ๆ กัน หรือวิดีโอที่เกี่ยวข้องขึ้นมาให้ แต่บางครั้งผู้ใช้งานอาจไม่ได้ตั้งใจกดเข้าไปดูวิดีโอเหล่านั้น ซึ่งการที่ระบบแนะนำคลิปที่เกี่ยวข้องมาให้มากเกินไปก็อาจทำให้ผู้ใช้รำคาญได้
สำหรับโหมดไม่ระบุตัวตนบนยูทูบนั้น คล้ายกับโหมดความเป็นส่วนตัวบนเบราว์เซอร์อื่น ซึ่งแม้ว่ายูทูบจะไม่เก็บประวัติการเข้าชมของผู้ใช้ แต่บริษัทผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต และเจ้าของเครือข่าย อาจตรวจสอบได้ว่า ผู้ใช้งานดูวิดีโออะไรไปบ้างแล้ว ซึ่งก่อนหน้านี้ ยูทูบ มีฟังก์ชัน 'Pause Watch History' หรือหยุดประวัติการรับชมชั่วคราว สำหรับผู้ใช้งานที่ไม่ต้องการให้ระบบเก็บข้อมูลการชม แต่ฟังก์ชันดังกล่าวซ่อนตัวอยู่ล่างสุดในประวัติการเข้าชม ดังนั้นการใช้โหมดไม่ระบุตัวตนจึงน่าจะช่วยให้ผู้ใช้สะดวกขึ้น ทั้งนี้ ยูทูบยังไม่ออกมาประกาศอย่างเป็นทางการว่าจะเริ่มปล่อยฟีเจอร์ดังกล่าวออกมาให้ได้ใช้งานกันเมื่อไร
เฟซบุ๊ก เปิดตัว 'Youth Portal' แนะวิธีใช้โซเชียลมีเดียสำหรับเยาวชน
เฟซบุ๊ก เปิดตัวแพลตฟอร์ม 'ยูธ พอร์ทัล' (Youth Portal) เพื่อให้คำแนะนำเยาวชนในการใช้งานโซเชียลมีเดียอย่างถูกต้องและปลอดภัย พร้อมยังช่วยให้เยาวชนเข้าใจว่าข้อมูลส่วนตัวที่อยู่บนเฟซบุ๊กนั้น ถูกนำไปใช้งานในส่วนไหนบ้าง
โดยเนื้อหาในแพลตฟอร์มนี้จะเน้นให้คำแนะนำวิธีการใช้งานเฟซบุ๊กขั้นพื้นฐานที่หลายคนอาจจะทราบกันดีอยู่แล้ว เช่น วิธีการลบเพื่อน หรือบล็อกผู้ใช้งานคนอื่น แต่จะเน้นแนะนำไปที่เยาวชนในกลุ่มเจนแซ็ด (Gen Z) โดยเฉพาะ
นอกจากนี้ ยังมีการให้คำแนะนำการใช้งานเฟซบุ๊กอย่างเหมาะสม เช่น แนะนำให้คิดทบทวนสัก 5 วินาที ก่อนที่จะพิมพ์คอมเมนต์หรือโพสต์อะไรลงในเฟซบุ๊ก ซึ่งท้ายที่สุดแล้ว แพลตฟอร์มนี้ช่วยแนะนำการใช้งานที่เหมาะสมเท่านั้น อาจจะไม่ได้ช่วยควบคุมการกลั่นแกล้งบนโลกออนไลน์ได้โดยตรง ขึ้นอยู่กับว่าผู้ใช้งานจะนำไปปรับใช้ได้มากน้อยแค่ไหน โดยแพลตฟอร์ม ยูธ พอร์ทัล นี้ เปิดให้ไปดูคำแนะนำได้แล้ว ซึ่งข้อมูลทั้งหมดถูกแปลไว้กว่า 60 ภาษาสำหรับผู้ใช้งานทั่วโลก รวมทั้งภาษาไทยอีกด้วย
เฟซบุ๊ก ให้ร้องเรียนแชตได้ใน 'เมสเซนเจอร์' ได้แล้ว
เฟซบุ๊ก เพิ่มเครื่องมือใหม่สำหรับรายงานข้อความที่ไม่เหมาะสมและละเมิดมาตรฐานชุมชนที่กำหนดไว้ ไม่ว่าจะเป็น ข้อความสร้างความเกลียดชัง ข้อความกลั่นแกล้ง รวมถึงข้อความที่แสดงแนวโน้มในการฆ่าตัวตายด้วย โดยก่อนหน้านี้ ผู้ใช้เฟซบุ๊กสามารถรายงานพฤติกรรมไม่เหมาะสมได้เฉพาะทางเว็บเท่านั้น แต่ตอนนี้สามารถรีพอร์ตได้ทางแอปพลิเคชัน 'เมสเซนเจอร์' เพิ่มเติม ซึ่งจะช่วยให้ผู้ใช้สามารถร้องเรียนได้คล่องตัวมากขึ้นผ่านทางสมาร์ตโฟน
เฟซบุ๊ก กล่าวว่า มีทีมงานที่เชี่ยวชาญด้านภาษากว่า 50 ภาษาทั่วโลกร่วมพัฒนาระบบคัดกรองข้อความไม่เหมาะสมและละเมิดข้อตกลงการใช้งานอยู่ตลอด โดยเครื่องมือรายงานข้อความที่ไม่เหมาะสมนี้เปิดให้ใช้งานแล้วทั้งระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์และไอโอเอส