เกาหลีใต้ฟ้อง Facebook ฐานทำอินเทอร์เน็ตช้า
ดูเหมือนว่าช่วงนี้ เฟซบุ๊ก ผู้ให้บริการโซเชียลมีเดียรายใหญ่ทั่วโลกจะมีงานเข้าอยู่เรื่อยๆ ล่าสุดองค์การโทรคมนาคมของเกาหลีใต้ หรือ เคซีซี ฟ้องร้องเฟซบุ๊ก เป็นมูลค่ากว่า 396 ล้านวอน หรือประมาณ 12 ล้านบาท ฐานที่ทำให้อินเทอร์เน็ตของผู้ใช้งานในเกาหลีใต้ช้าลงในปี 2016 และปี 2017
รายงานจาก เอบีซี นิวส์ กล่าวว่า เคซีซี เริ่มการสอบสวนเฟซบุ๊กเมื่อเดือนพฤษภาคมปีที่ผ่านมา และพบว่าเฟซบุ๊กจำกัดการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตของผู้ใช้งานอย่างผิดกฏหมาย ซึ่งตามกฎหมายท้องถิ่นของเกาหลีใต้ ไม่อนุญาตให้ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต เชื่อมต่อผู้ใช้ไปยังเครือข่ายในต่างประเทศ เช่น ฮ่องกง และสหรัฐฯ แทนที่การให้บริการอินเทอร์เน็ตในท้องถิ่นโดยไม่มีการแจ้งให้ผู้ใช้งานทราบล่วงหน้า ซึ่งในบางกรณีการเชื่อมต่อไปยังเครือข่ายต่างประเทศนั้น ทำให้การเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตในเกาหลีใต้ช้าตามไปด้วย และส่งผลกระทบต่อผู้ใช้งานมากขึ้นถึง 4.5 เท่า นอกจากนี้ การที่เฟซบุ๊กจำกัดการเข้าถึงของอินเทอร์เน็ตของผู้ใช้งานอย่างผิดกฏหมายนั้น ส่งผลกระทบต่อผู้ใช้งานกว่า 14.5 ล้านคนในเกาหลีใต้เมื่อปีที่แล้ว และมีทีท่าว่าจะเพิ่มขึ้นมาเป็น 14.84 ล้านคนในปีนี้
ที่ผ่านมา มีผู้ใช้งานในเกาหลีใต้ร้องเรียนผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตท้องถิ่นว่าอินเทอร์เน็ตเริ่มช้าลง ระหว่างเข้าใช้งานเฟซบุ๊กและอินสตาแกรมหลายครั้งต่อวัน และเฟซบุ๊กได้ออกมาแสดงความเห็นเกี่ยวกับคำชี้แจงของเคซีซีว่ารู้สึกผิดหวังกับการติดสินครั้งนี้ แต่จะยังมุ่งมั่นที่จะส่งมอบประสิทธิภาพที่ดีที่สุดสำหรับผู้ใช้งานทุกคน และจะยังคงทำงานร่วมกับผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตในเกาหลีใต้ต่อไป
Facebook เก็บข้อมูลส่วนตัวของผู้ใช้ Android
ยังต่อเนื่องที่กรณีของเฟซบุ๊ก เดอะเวิร์จ เว็บไซต์ข่าวเทคโนโลยีต่างประเทศ รายงานว่า แอปพลิเคชันเฟซบุ๊กได้ทำการบันทึกประวัติการโทรและการส่งข้อความทาง SMS จากอุปกรณ์ต่างๆที่รันด้วยระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์มาเป็นเวลานานร่วมปี ซึ่งมีผู้ใช้งานทวิตเตอร์หลายคนออกมาทวีตว่า ข้อมูลดังกล่าวในมือถือของเขา ถูกเฟซบุ๊กบันทึกไว้ ทั้งประวัติการโทร และเบอร์ติดต่อของคนในครอบครัว ทั้งที่พวกเขาได้ลบข้อมูลต่างๆเหล่านั้นออกจากเครื่องแล้ว
แอปพลิเคชันเฟซบุ๊กมีการแจ้งเตือนให้ผู้ใช้อนุญาตการเข้าถึงข้อมูลต่างๆในเครื่อง และแจ้งเตือนให้ผู้ใช้อัปโหลดข้อมูลต่างๆจากเครื่องลงในเฟซบุ๊ก เช่น เบอร์ติดต่อ ข้อมูล SMS และประวัติการโทรในเครื่อง เพื่อนำข้อมูลเหล่านี้ไปใช้ในอัลกอริทึมสำหรับเพื่อวิเคราะห์และแนะนำเพื่อน เฟซบุ๊กได้รวบรวมข้อมูลเหล่านี้ผ่านแอปพลิเคชัน เมจเซนเจอร์ ด้วยเช่นกัน ซึ่งทำให้ผู้ใช้งานแอนดรอยด์รู้สึกว่าแอปเมจเซนเจอร์เป็นโปรแกรมสำหรับส่ง SMS ที่ฝังมากับเครื่องโดยเฉพาะ
ทางโฆษกของเฟซบุ๊กได้ออกมาแถลงว่า เป็นเรื่องปกติที่แพลตฟอร์มผู้ให้บริการการเชื่อมต่อกับบุคคลอื่นๆ นั้น จะขออนุญาตเข้าถึงข้อมูลการติดต่อในเครื่องของผู้ใช้งาน เพื่อทำการวิเคราะห์และทำให้เชื่อมต่อกับผู้ใช้งานคนอื่นๆง่ายมากขึ้นนั่นเอง ซึ่งปัญหาดังกล่าว ไม่พบในผู้ใช้งานอุปกรณ์ที่รันด้วย ไอโอเอส เนื่องจากแอปเปิลมีแอปพลิเคชันที่ชื่อว่า 'คอลคิท' ที่สามารถจำกัดการเข้าถึงข้อมูลในเครื่องของผู้ใช้งานจากแอปพลิเคชันต่างๆได้