รายการ Talking Thailand ประจำวันที่ 24 มีนาคม 2563
นักวิเคราะห์ Talking Thailand จับสัญญาณ รัฐบาล “พล.อ.ประยุทธ์” ออกมาตรการช่วยคนตกงานเพราะโรคระบาด แจกเงิน 5,000 บาท นาน 3 เดือน โอ้โห! ทำไมคล้ายกับที่ “เพื่อไทย” เสนอ ชี้เป็นเรื่องดี ที่ยังรับฟัง ก่อนจะพังไปมากกว่านี้ แต่อยากให้ชี้แจงตัวเลขว่าทำไมถึงให้แค่ 3 ล้านคน ทั้งที่น่าจะมีมากกว่านั้น
ก่อนหน้านี้ ศูนย์โควิด-19 ของพรรคเพื่อไทย เสนอหลายมาตรการเพื่อป้องกัน และเยียวยาสถานการณ์โควิด-19 โดยเมื่อวันที่ 23 มีนาคมที่ผ่านมา ได้เสนอมาตรการสำหรับประชาชนที่ได้รับผลกระทบที่ต้องออกจากงาน ตกงาน หรือพักงาน เพราะผลกระทบจาก Covid-19 เดือนละ 5,000 บาท เป็นระยะเวลา 3 เดือน หากมีงานทำก่อน ก็ยกเลิกการอุดหนุนเบี้ยยังชีพนี้
ซึ่งมาตรการของรัฐบาล จะชดเชยรายได้ แก่แรงงานลูกจ้าง ลูกจ้างชั่วคราว อาชีพอิสระที่ไม่อยู่ในระบบประกันสังคม หรือผู้ได้รับผลกระทบอื่นๆ ของการแพร่ระบาดโควิด-19 เป้าหมาย 3 ล้านคน สนับสนุนรายละ 5,000 บาทต่อเดือน เป็นระยะเวลา 3 เดือน
นอกจากนี้ พรรคเพื่อไทยยังเสนอให้ พักชำระหนี้ ทั้งเงินต้น และดอกเบี้ยทุกประเภทให้ประชาชน ทั้งหนี้ผ่อนบ้าน ผ่อนมอเตอร์ไซค์ ผ่อนรถยนต์ ผ่อนเครื่องมือทำการ เกษตร หรือผ่อนเครื่องมือทำมาหากิน เช่น คอมพิวเตอร์ ที่เป็นหนี้มาก่อน ไม่ใช่หนี้ใหม่ เป็นเวลา 6 เดือน นับตั้งแต่เดือนมีนาคม ลดดอกเบี้ยเงินกู้ให้ประชาชนทุกประเภท สำหรับผู้ที่อยู่ในกลุ่มเฝ้าระวังต้องถูกกัดตัว 14 วัน ต้องจ่ายชดเชยรายได้ให้คนละ 5000 บาท ช่วยลดค่าน้ำค่าไฟ ให้ผู้มีรายได้น้อย ใช้ไม่เกิน 1000 บาท เป็นเวลา 3 เดือน
สำหรับเด็กนักเรียนที่ต้องเรียนออนไลน์ และพนักงานที่ต้องทำงานจากบ้านให้ใช้อินเตอร์เน็ตฟรี โดยรัฐเป็นผู้สนับสนุนงบประมาณ รวมทั้งให้เอกชนช่วยสนับสนุนบางส่วน ขอความร่วมมือภาคเอกชนงดเก็บค่าเช่าให้แก่ผู้ประกอบการรายเล็กอย่างน้อย 3 เดือน โดยลดภาษีให้ผู้ประกอบการ
ขณะที่รัฐบาลออกมาตรการ สินเชื่อพิเศษรายละ 50,000 บาท ในอัตราดอกเบี้ย 0.35% ต่อเดือน โดยต้องมีหลักประกัน รัฐบาลกันงบไว้สำหรับมาตรการนี้เป็นจำนวน 20,000 ล้านบาท สินเชื่อฉุกเฉิน 10,000 บาท ต่อราย ในอัตราดอกเบี้ย 0.1% ต่อเดือน โดยไม่ต้องมีหลักประกัน กรอบวงเงินรวม 40,000 ล้านบาท สำนักงานธนานุเคราะห์ รับจำนำดอกเบี้ยต่ำ โดยคิดดอกเบี้ยจากประชาชนในอัตราไม่เกิน 0.125% ต่อเดือน รวมเป็นวงเงินที่เตรียมสนับสนุน 2,000 ล้านบาท
การยืดระยะเวลาการเสียภาษีบุคคลธรรมดาออกไปเป็นเดือนสิงหาคม 63 ปรับเพิ่มวงเงินลดหย่อนค่าเบี้ยประกันสุขภาพจาก 15,000 บาท เป็น 25,000 บาท ยกเว้นเงินได้สำหรับค่าเสี่ยงภัยให้บุคลากรทางการแพทย์ การฝึกอบรม เพิ่มทักษะอาชีพ หรือจัดกิจกรรมเพื่อสังคมรวมถึงนักศึกษาที่ยังหางานไม่ได้ รวมถึงขยายฝึกอบรมผ่านภาคีเครือข่ายต่าง ๆ
ส่วนมาตรการภาคธุรกิจ ที่พรรคเพื่อไทยเสนอ ให้เร่งช่วยผู้ประกอบการรายเล็ก รายกลาง SMEs กลุ่มท่องเที่ยว กลุ่มผู้ผลิต ขนาดเล็กขนาดกลาง ร้านค้าปลีก ร้านอาหาร รับจัดอีเว้นท์ สปาฯลฯ ที่ได้รับผลกระทบทั้งหมด โดย พักชำระหนี้ทั้งเงินต้น และดอกเบี้ย เป็นเวลา 6 เดือนก่อนในเบื้องต้นนับตั้งแต่เดือนมีนาคม เป็นต้นไป
ลดดอกเบี้ยเงินกู้ให้ธุรกิจเล็ก กลางที่ได้รับผลกระทบ ให้เหลือ 3% พร้อมทั้งปรับโครงสร้างหนี้ เพื่อให้เอกชนพอที่จะยืนอยู่ได้ ในสภาวะเช่นนี้ ให้ soft Loan สินเชื่อเพื่อต่อชีวิตธุรกิจ ในอัตราดอกเบี้ย1% เพื่อเสริมสภาพคล่องให้ธุรกิจSMEs โดยให้ธนาคารแห่งประเทศไทยผ่อนปรนหลักเกณฑ์ในการให้สินเชื่อ และค้ำประกันเงินกู้ให้ธนาคารพาณิชย์
ให้เงินอุดหนุนนายจ้าง”ไม่ให้เลิกจ้างพนักงาน” โดยช่วยสนับสนุนค่าจ้างพนักงานบางส่วน ลดราคาน้ำมันตามราคาตลาดโลก โดยเฉพาะให้ยกเลิกการเก็บภาษีน้ำมันดีเซล เพื่อลดต้นทุนการผลิต เลื่อนการจ่ายภาษีนิติบุคคลออกไปอีกหกเดือน สำหรับธุรกิจSMEs และธุรกิจที่ได้รับผลกระทบ
ขณะที่มาตรการภาคธุรกิจของรัฐบาล ประกอบด้วย ให้สินเชื่อรายย่อยไม่เกิน 3 ล้านบาทต่อราย ในอัตราดอกเบี้ย 3% ใน 2 ปีแรก โดยธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลาง และขนาดย่อมแห่งประเทศไทยเป็นผู้ดูแลในวงเงินสินเชื่อรวม 10,000 ล้านบาท ขยายระยะเวลาในการเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลออกไป เช่น ภ.ง.ด. จากเดิมภายในเดือน พ.ค. ไปเป็นภายใน 31 ส.ค. 2563 และ ภ.ง.ด. 51 จากเดิมในเดือน ส.ค. ขยายออกไปภายใน 30 ก.ย. 2563
ยืดการเสียภาษีสรรพสามิตให้ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมน้ำมันและผลิตภัณฑ์น้ำมัน เป็นระยะเวลา 3 เดือน เลื่อนกำหนดเวลายื่นแบบและชำระภาษีทุกประเภทเป็นระยะเวลา 1 เดือน ยกเว้นอากรขาเข้าสินค้าที่ใช้รักษาโรคและป้องกันโรคโควิด-19 เป็นระยะเวลา 6 เดือนถึงช่วงก.ย. 2563 เลื่อนการยื่นแบบภาษีและชำระภาษีสถานบริการออกไปอีก 3 เดือน ตังแต่ 1 มี.ค. – 31 พ.ค. 2563 โดยให้เสียภาษี 15 ก.ค. 2563 แทน และการยกเว้นภาษีและลดค่าธรรมเนียมการปรับปรุงโครงสร้างหนี้
นอกจากนี้ พรรคเพื่อไทย ยังเสนอมาตรการสำหรับเกษตรกร ผู้ได้รับผลกระทบจากปัญหาภัยแล้งและกำลังมีปัญหาผลกระทบจาก Covid-19 เช่น พักชำระหนี้เกษตรกร ทุกชนิด 6 เดือน หากสถานการณ์ทางเศรษฐกิจไม่ดีขึ้น อาจขยายเวลาเพิ่มขึ้น เร่งจ่ายชดเชยค่าภัยแล้ง ไร่ละ 2,500 บาท ไม่เกิน 20 ไร่ ส่วนเกษตรกรที่มีพื้นที่น้อยให้ขั้นต่ำรายละ 25000 บาท จัดสรรเงิน SML 500,000-800,000-1,000,000 บาท ให้หมู่บ้านนำไปพัฒนาแหล่งน้ำ ถนน ในหมู่บ้าน โดยให้ใช้แรงงานในพื้นที่เท่านั้น แต่รัฐบาลยังไม่มีมาตรการเกี่ยวกับเกษตรกร
ก่อนหน้านี้(17 มีนาคม) คุณหญิงสุดารัตน์ ยังเคยโพสต์คำแนะนำ เกี่ยวกับการจัดการวิกฤตโควิด-19 ภายใต้ ‘ยุทธการ สยบ COVID 21 วัน’ โดย ”ปิด” ไม่ให้ผู้ติดเชื้อรายใหม่เข้าประเทศอย่างเด็ดขาด โดยประกาศปิดประเทศ ไม่รับผู้เดินทางจากต่างประเทศ หรือ ประกาศให้ผู้เดินทางจากประเทศกลุ่มเสี่ยง ต้องถูกกักตัวเฝ้าระวังสังเกตอาการ 14 วัน โดยรัฐบาลเช่าโรงแรมเป็นสถานที่กักกันตัว มีเจ้าหน้าที่ดูแล ตาม พ.ร.บ. ควบคุมโรคอย่างเคร่งครัด ใครฝ่าฝืนมีโทษ และ “เปิด” ปฏิบัติการค้นหาผู้ติดเชื้อ X-Ray ปูพรมทั้งประเทศ เพื่อนำผู้ติดเชื้อรายใหม่เข้าระบบให้มากที่สุดและเร็วที่สุด โดยปูพรมเอกซเรย์ทุกหมู่บ้านให้ผู้ที่มีอาการป่วยมีไข้ ไอ เข้า #ตรวจเชื้อ Covid19 ฟรี ภายใต้การวินิจฉัยของแพทย์ โดยใช้กลไกของสาธารณสุขที่มีทั้งโรงพยาบาลชุมชน, โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพ และ อสม. อยู่ทั่วประเทศ โดยใช้กลไกของมหาดไทยช่วยสนับสนุน กรุงเทพฯ ใช้ กทม. เข้ามาช่วย X-RAY ปูพรมทั้งประเทศ 3 รอบให้เสร็จภายใน 21 วัน