รายการ Talking Thailand ประจำวันที่ 9 มีนาคม 2563
นักวิเคราะห์มองสงสัย “โดนคนด่า” หลัง “บิ๊กตู่” พูดชัด ชะลอแจกเงินคนละพัน นาน 2 เดือนฝ่าวิกฤตโควิด ทั้งที่ผ่านมติ ครม.เศรษฐกิจ ที่ “ประยุทธ์” นั่งหัวโต๊ะ และเป็น หน.ทีมเศรษฐกิจ
“คำผกา” มองกระบวนการทำงานล้มเหลว ไม่อธิบายประชาชน แถมขุนคลัง “อุตตม” หายจ้อย ด้าน “ใบตองแห้ง” บอกนโยบายกลับไปกลับมา ทำให้รัฐบาลดูเงอะงะ
ระหว่างที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และรมว.กลาโหม กำลังเข้าร่วมประชุมคณะหัวหน้าส่วนราชการระดับกระทรวงพลังงาน / ผู้สื่อข่าวถามว่าได้คุยกับ ร.อ.ธรรมนัส กรณีผู้ติดตาม ร.อ.ธรรมนัสเกี่ยวข้องกับการกักตุนหน้ากากอนามัย แต่นายกฯ ไม่ตอบ และมีสีหน้าเรียบเฉย
ต่อมา ในระหว่างการแถลงผลการประชุม นายกฯ ได้กล่าวแค่ปัญหาขาดแคลนหน้ากากอนามัย โดยระบุว่าเพียงแค่การจัดสรรหน้ากากอนามัย โดยย้ำว่าปัจจุบันไทยผลิตสูงสุดราว 38 ล้านชิ้น/เดือน จากโรงงานผลิตทั้ง 11 แห่ง หรือ 1.8 ล้านชิ้น/วัน จะจัดสรรไปสู่บุคลากรทางการแพทย์ตามโรงพยาบาลต่าง ๆ ที่มีสัดส่วนชัดเจน แต่ พบว่าปัจจุบันตามร้านค้ายังไม่มีของ ต้องไปตรวจสอบว่าการกักตุน และสั่งการให้กระทรวงอุตสาหกรรมหารือผู้ผลิตให้เพิ่มสายการผลิต คาดว่าจะเพิ่มได้อีก 20 ล้านชิ้น/เดือน และน่าจะช่วยรองรับความต้องการได้
พล.อ.ประยุทธ์ ยังกล่าวถึงการประชุม ครม.10 มี.ค. ยังไม่พิจารณามาตรการช่วยเหลือประชาชนด้วยการแจกเงิน [เดือนละ 1,000 บ. นาน 2 เดือน] จะชะลอไว้ก่อน แต่จะพิจารณามาตรการอื่น เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการและประชาชน ลดผลกระทบจากสถานการณ์แพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่ทำให้เศรษฐกิจชะลอ
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ที่เคยอนุมัติในที่ประชุม ครม.เศรษฐกิจ เมื่อวันศุกร์ / หลายอย่างอาจไม่ออกตามแผนเดิม เพราะหลายหน่วย งานมีทั้งเห็นชอบและไม่เห็นชอบ แต่สิ่งที่ยืนยันได้ คือต้องหาแนวทางเพื่อช่วยเหลือประชาชน โดยหารือกระทรวงพลังงานเพื่อนำเงินค่าประกันมิเตอร์ไฟฟ้ามาคืนให้กับประชาชน แทนการแจกเงินรายละ 1 พันบาท เป็นเวลา 2 เดือน โดยเงินประกันนี้จะคืนให้เฉพาะประชาชนเท่านั้น ไม่รวมผู้ประกอบการขนาดใหญ่
นายกฯ กล่าวอีกว่า รัฐบาลต้องหาเม็ดเงินเพื่อดูแลผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบด้วย เช่น การท่องเที่ยว ผู้ประกอบการร้านค้า ผู้จัดอีเว้นท์ ผู้ประกอบการขนส่งที่มีรถรับส่งนักท่องเที่ยว เป็นต้น โดยเฉพาะผู้ประกอบการโรงแรมที่ถูกกระทบมาก ส่งผลถึงการปรับลดแรงงาน ก็อาจหามาตรการภาษีเพื่อช่วยเหลือตรงส่วนนี้ได้หรือไม่ จะดำเนินการให้ได้ภายใน 2 เดือนก่อนเป็นขั้นแรกเพราะงบประมาณมีจำกัด รวมถึงมาตรการภาษี เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ เป็นต้น
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวอีกว่า การประชุมหัวหน้าส่วนราชการในวันนี้ ได้หารือเรื่องการบริหารราชการแผ่นดิน ได้เน้นย้ำให้ทุกหน่วยงานบูรณาการในเรื่องสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นการแก้ปัญหาสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ปัญหาภัยแล้ง และภาวะเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการให้บริการประชาชน และการทำงานที่ยังมีความเข้าใจคลาดเคลื่อนระหว่างหน่วยงาน หากติดขัดตรงไหนก็ให้แจ้งเข้ามา เพื่อให้เกิดความเชื่อมั่นในการทำงานของรัฐบาล
นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รมว.พลังงาน กล่าวว่า จะใช้เวทีคณะกรรมการ บริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) หารือเร่งด่วนตามนโยบายของนายกฯ ในการดูแลผลกระทบค่าครองชีพประชาชน โดยเฉพาะการพิจารณาคืนเงินค่าประกันมิเตอร์ไฟฟ้า และการลดค่าไฟฟ้าระยะสั้น เป็นเวลา 2 เดือน เมื่อได้ข้อสรุปแล้วจะนำเสนอเข้าสู่ที่ประชุมครม. ในวันที่ 10 มี.ค.ต่อไป
"วงเงินรวม ๆ สำหรับมิเตอร์ไฟน่าจะประมาณ 2 หมื่นล้านบาท อาจคืนเฉพาะประชาชน ส่วน SMEs เล็ก ๆ จะดูว่าข้อมูลแยกได้แค่ไหน คาดว่าจะคืนเป็นเงินสด เท่ากับว่าเราเอาเงินคืนให้กับพี่น้องประชาชน” ส่วนมาตรการช่วยเหลือด้านราคาน้ำมันและก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) จะนำเข้าที่ประชุม ครม.ในโอกาสต่อไป