ผลการวิจัยล่าสุดจากอเมริกาชี้ว่า การทิ้งคอนแทคเลนส์ใช้แล้วลงชักโครกหรือท่อระบายน้ำ เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดมลพิษไมโครพลาสติกในแหล่งน้ำ
กวิจัยจากมหาวิทยาลัยรัฐแอริโซนา เปิดเผยการค้นพบล่าสุดภายในงานประชุมและจัดแสดงผลงานของสมาคมเคมีแห่งสหรัฐอเมริกาว่า ในแต่ละปีมีปริมาณขยะพลาสติกที่เกิดจากเลนส์และบรรจุภัณฑ์เทียบเท่ากับแปรงสีฟัน 400 ล้านอัน ซึ่งตัวเลขนี้นับเฉพาะแค่ในอเมริกาเท่านั้น แต่ก่อให้เกิดมลพิษมหาศาลต่อสิ่งแวดล้อม โดยแต่ละปีจะมีคอนแทคเลนส์ถูกทิ้งลงแหล่งน้ำในอเมริกากว่าพันล้านเลนส์ ซึ่งรวมแล้วหนักประมาณสองหมื่นกิโลกรัม โดยคิดเป็นบรรจุภัณฑ์ที่ทำจากพลาสติกโพลีโพรพิลีนราว 13 ล้านกิโลกรัม
ปัจจุบันมีคนใส่คอนแทคเลนส์ในอเมริกาประมาณ 45 ล้านคนต่อปี ซึ่งหมายความว่าต้องใช้คอนแทคเลนส์อย่างน้อยหนึ่งหมื่นสามพันล้านคู่ต่อปี โดยผลสำรวจได้เผยว่า คนใส่คอนแทคเลนส์ในอเมริกา 15 - 20 เปอร์เซ็นต์นิยมทิ้งเลนส์ลงชักโครกหรืออ่างล้างหน้า ซึ่งแม้เลนส์เหล่านี้จะแยกออกเป็นชิ้น ๆ แต่ไม่สามารถย่อยสลายได้เองตามธรรมชาติ โดยเศษพลาสติกเหล่านี้จะไหลไปรวมกันในมหาสมุทร หรือไม่ก็กลายเป็นตะกอนในท่อน้ำเสีย ซึ่งของเหลวที่ไหลออกมาจากตะกอนเหล่านี้จะไหลไปปนเปื้อนมหาสมุทรได้เช่นกัน
สำหรับ ‘ไมโครพลาสติก’ เป็นพลาสติกที่มีเส้นผ่านศูนย์กลางน้อยกว่า 5 มิลลิเมตร และถือเป็นอันตรายต่อสิ่งมีชีวิตตามแหล่งน้ำ เพราะปลาเล็กและแพลงตอนอาจหลงไปกินพลาสติกได้ เพราะนึกว่าเป็นอาหาร ซึ่งพลาสติกที่ย่อยสลายไม่ได้เหล่านั้นจะวนเวียนอยู่ในห่วงโซ่อาหาร จนกลายมาเป็นอาหารของมนุษย์ในท้ายที่สุด
นักวิจัยหวังว่าการศึกษานี้จะกระตุ้นผู้ใช้ให้ทิ้งคอนแทคเลนส์ไว้ร่วมกับขยะมูลฝอยอื่น ๆ และส่งสัญญาณไปยังบริษัทผู้ผลิตคอนแทคเลนส์ให้ใส่ใจสิ่งแวดล้อมมากขึ้น เพราะตอนนี้มีผู้ผลิตเพียงเจ้าเดียวเท่านั้นที่ระบุในบรรจุภัณฑ์ว่า ควรทิ้งคอนแทคเลนส์ให้ถูกที่