ปริมาณน้ำตาลในเครื่องดื่มอัดลม หรือในน้ำผลไม้สด เป็นปัจจัยเสี่ยงต่อโรคระบบหลอดเลือดหัวใจ ไม่ควรดื่มมากเกินไป
เครื่องดื่มที่มีรสชาติหวานโดยมากแทบไม่มีคุณค่าทางโภชนาการ เต็มไปด้วยพลังงาน หรือแคลอรี่ และส่งผลเสียต่อสุขภาพ งานศึกษาชิ้นล่าสุดพบว่า การดื่มเครื่องดื่มที่มีรสชาติหวานหรือแม้กระทั่งน้ำผลไม้สด 100 % ก็สามารถเพิ่มความเสี่ยงในการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรได้ถึงประมาณ 9-42 % โดยงานวิจัยที่ถูกเผยแพร่ในวารสาร JAMA Network Open พบว่า น้ำตาลที่อยู่ในน้ำส้มมีปริมาณใกล้เคียงกับปริมาณน้ำตาลในเครื่องดื่มอัดลมหรือเครื่องดื่มที่มีรสชาติหวานอื่น ๆ
งานศึกษาชิ้นนี้ให้คำจำกัดความ 'เครื่องดื่มที่มีรสชาติหวาน' ซึ่งหมายถึงเครื่องดื่มที่มีการใส่น้ำตาลดับกระหาย ซึ่งรวมเครื่องดื่มอัดลม น้ำผลไม้สกัด และน้ำผลไม้แท้ 100 % ที่ไม่ได้ใส่น้ำตาลเพิ่ม เข้าไว้ด้วยกัน โดยยีนส์ เอ เวลส์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ คณะกุมารเวชศาสตร์ มหาวิทยาลัยเอเมอรี กล่าวว่า ในงานศึกษาก่อนหน้ามีการบ่งชี้ความสัมพันธ์ของการดื่มเครื่องดื่มดังกล่าวกับการเกิดโรคระบบหลอดเลือดหัวใจ ไม่ว่าจะเป็น โรคอ้วน และการมีไตรกลีเซอไรด์ ซึ่งคือเซลล์ไขมันในเลือดมากเกินไป
นอกจากนั้น เมื่ออ้างอิงจากงานศึกษาก่อนหน้า เวลส์และทีมวิเคราะห์ข้อมูลจากกลุ่มตัวอย่างวัยผู้ใหญ่อายุ 45 ปีขึ้นไป จำนวน 13,440 คน แบ่งเป็นผู้ชายประมาณ 60 % และ 71 % จากกลุ่มตัวอย่างทั้งหมดมีภาวะน้ำหนักเกินหรือเป็นโรคเบาหวาน เพราะการดื่มเครื่องดื่มรสชาติหวานปริมาณ 10 % หรือมากกว่าของแคลอรี่ต่อวัน จะเพิ่มความเสี่ยงในการเสียชีวิตจากโรคหัวใจตีบตันที่ 44 % และมีโอกาสเสียชีวิตไวกว่าคนที่ดื่มเครื่องดื่มรสชาติหวานในปริมาณ 5 % หรือน้อยกว่าของแคลอรี่ต่อวัน ถึง 14 %
นอกจากนั้น ยังพบว่าปริมาณน้ำผลไม้ 340 กรัมที่เพิ่มขึ้นต่อวัน ส่งผลให้เกิดความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตไวขึ้นถึง 24 % ขณะที่ ปริมาณเครื่องดื่มให้ความหวานอื่น ๆ เพิ่มขึ้นต่อวัน ส่งผลให้เกิดความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตไวขึ้นเพียง 11 % โดยงานวิจัยไม่พบความสัมพันธ์ระหว่างการดื่มเครื่องดื่มให้ความหวานอื่นกับการเสียชีวิตจากโรคหัวใจตีบตัน