ต่อเนื่องจาก Pride Month หรือเดือนแห่งความหลากหลายทางเพศที่ผ่านมา เมื่อวานนี้ ได้มีงานเปิด LGBT+ Film Festival ขึ้น ขณะที่ สื่อต่างชาติก็มีการพูดถึงประเด็นการแบนหนังสือเด็กที่มีธีม LGBT วันนี้เราจะมาพูดคุยถึง ภาพยนตร์และหนังสือ ในฐานะเครื่องมือที่จะทำให้สังคมเปิดรับความหลากหลายทางเพศ
เมื่อวานนี้ Bangkok Screening Room มีงานเปิดเทศกาลภาพยนตร์ LGBT ขึ้น โดยวางโปรแกรม 10 เรื่อง 16 เซชชัน 4 หัวข้อเสวนา เพื่อเป็นหนึ่งในแนวทางให้ผู้เสพภาพยนตร์และสังคมเปิดกว้าง รับผลงานที่สะท้อนความหลากหลายทางเพศ ซึ่งก็ได้รับความร่วมมือจากสถานทูตออสเตรเลีย สถานทูตไอร์แลนด์ สถานทูตฟินแลนด์ สมาคมฝรั่งเศสกรุงเทพ และพันธมิตรค่ายภาพยนตร์ ในการนำผลงานคุณภาพ แต่อาจจะอยู่นอกกระแส มาให้ผู้ชมได้เลือกชม
ภาพยนตร์ที่ได้รับเลือกมาฉาย เช่น Tom of Finland , The Wound , Hard Paint , และ The Adventures of Priscilla, Queen of the Desert ซึ่งเรื่องนี้เป็นภาพยนตร์ปี 1994 สมัยที่ปัญหาการไม่ยอมรับทางเพศยังหนักกว่าปัจจุบัน มีคะแนน Rotten Tomatoes อยู่ที่ 94% เรียกได้ว่าทั้งหมดที่เลือกมาเป็นผลงานคุณภาพ และเหมาะกับคนรักภาพยนตร์ทั่วไป ไม่ได้จำกัดอยู่แต่กับกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศเท่านั้น
ภาพยนตร์บางเรื่องในเทศกาลนี้สะท้อนถึงปัญหาการถูกรังแก หรือ Bully โดยคนรอบข้างและสังคม ของตัวละครหลัก เท่ากับว่าผลงานเหล่านี้เป็นผลงานที่ชี้ให้เห็นปัญหาของการไม่ยอมรับความแตกต่างและหลากหลาย มากกว่าจะเป็นการนำเสนออัตลักษณ์ของความหลากหลายเสียอีก
ข้ามมาที่ฝั่งฮ่องกง ที่มีการรณรงค์โดยผู้ไม่เปิดรับความหลากหลายทางเพศ ให้ห้องสมุดประชาชนเก็บหนังสือและหนังสือเด็กที่มีธีม LGBT ให้ออกจากชั้นวาง ทำให้คนยิ่งหันมาสนใจประเด็นดังกล่าวเพิ่มขึ้น โดยจำนวนหนึ่ง แม้ไม่ใช่ผู้สนับสนุนความเท่าเทียมทางเพศ ก็ยังได้รับรู้ว่ามีหนังสือประเภทนี้ถูกผลิตขึ้น และมีให้ประชาชนทั่วไปเข้าถึงได้
ผู้ต่อต้าน LGBT ในฮ่องกงระบุว่า หนังสือเหล่านี้ ที่บางเล่มเป็นการ์ตูนอธิบายลักษณะครอบครัวที่มีคุณพ่อ 2 คน หรือคุณแม่ 2 คน มีเนื้อหาชี้นำให้เด็กสับสน ล่าสุด กลุ่มต่อต้านยังเรียกร้องให้หนังสือเหล่านี้ไม่สามารถวางจำหน่ายได้ในงานหนังสือ หรือ Book Fair ในช่วงปลายเดือนนี้แล้ว
หนังสือเด็กธีม LGBT เช่น Daddy, Papa, and Me , Mommy, Mama, and Me , Milly, Molly and Different Dads , และ And Tango Makes Three ที่เป็นเรื่องราวของเพนวินเพศผู้ 2 ตัว ที่นั่งฟักไข่และสร้างครอบครัวด้วยกัน โดยทั้งหมดนี้เป็นการนำเสนอภาพครอบครัวทางเลือกอย่างเข้าใจง่าย มองในมุมหนึ่ง คือการอธิบายความเป็นไปในสังคม มากกว่าที่จะชี้นำให้ผู้อ่านกระทำตาม
ทั้งนี้ ตัวแทนผู้จัดงาน Hong Kong Book Fair เบนจามิน โจว ออกมาให้ความเห็นว่า การห้ามไม่ให้จำหน่ายหนังสือประเภทใดประเภทหนึ่งถือเป็นการเซนเซอร์ ซึ่งไม่ควรเกิดขึ้นกับผลงานใด ๆ โดยเฉพาะการตีพิมพ์หนังสือ 'There is no censorship in publishing in Hong Kong.'
สำหรับผู้สนใจสามารถติดตามรอบฉายภาพยนตร์ในเทศกาล LGBT+ Film Festival ได้ที่เว็บไซต์และเฟซบุ๊กของ Bangkok Screening Room งานมีขึ้นถึงวันที่ 8 กรกฎาคม ส่วนงานหนังสือในฮ่องกงจะจัดขึ้นวันที่ 18 ถึง 24 กรกฎาคมนี้