บริษัทสำรวจเรตติงอย่าง นีลเส็น ประกาศรวบรวมข้อมูลจากครัวเรือน LGBT เป็นครั้งแรก เพื่อให้ทราบถึงพฤติกรรมผู้บริโภคและสร้างความเข้าใจโดยรวมของผู้บริโภคได้ดียิ่งขึ้น
นีลเส็น (Nielsen) บริษัทรวบรวมข้อมูลการตลาดระดับโลก ที่เป็นที่รู้จักดีจากการวัดเรตติงรายการโทรทัศน์ ประกาศขยายขอบเขตข้อมูลที่จะเปิดเผย โดยจะเปิดเผยเรตติงการดูโทรทัศน์แบบแยกเป็นครัวเรือนที่มีความหลากหลายทางเพศ หรือ LGBT ด้วย ซึ่งจะถือเป็นครั้งแรกตั้งแต่มีระบบวัดเรตติงมา
เว็บไซต์ Variety เป็นสำนักข่าวที่ได้รายงานเรื่องนี้แบบเอ็กคลูซีฟ โดยระบุว่า นีลเส็นได้ร่วมมือกับองค์กรตรวจสอบสื่อ Gay & Lesbian Alliance Against Defamation หรือ GLAAD เพื่อร่วมวางแนวทางที่จะสะท้อนภาพและนำเสนอความหลากหลายทางเพศในอุตสาหกรรมสื่อได้อย่างแม่นยำที่สุด รวมถึงการประเมินและหาวิธีระบุผู้ชมตามเพศสภาพ และเปิดโอกาสให้เข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการวัดเรตติงทั่วประเทศ
เบื้องต้น นีลเส็นได้เปิดเผยรายการโทรทัศน์ที่มีผู้ชม LGBT ชมสูงสุด หลังเก็บข้อมูลครัวเรือนที่เป��นคู่สมรสเพศเดียวกัน หรือคู่ชีวิตเพศเดียวกันที่ไม่ได้จดทะเบียนสมรส เป็นระยะเวลา 1 สัปดาห์ ช่วงที่ทุกสถานีเปิดตัวซีรีส์ใหม่ วันที่ 24 กันยายนที่ผ่านมา พบว่าซิตคอม Murphy Brown ที่มีการนำกลับมารีบูทใหม่ ทางช่อง CBS เป็นรายการที่มีผู้ชมอันดับ 1 คิดเป็นเกือบ 14 เปอร์เซ็นต์ หรือ 340,000 คน รองลงมาเป็นซีรีส์ดรามาเหนือธรรมชาติ Manifest ช่อง NBC และ American Horror Story ช่อง FX
หลังจากนี้ อุตสาหกรรมบันเทิงของสหรัฐฯ จะสามารถใช้ฐานข้อมูลดังกล่าวในเชิงการตลาด และสำรวจพฤติกรรมผู้บริโภค เพื่อสามารถผลิตผลงานให้ตรงกันความต้องการ หรือเพิ่มความหลากหลายและเท่าเทียมทางเพศสภาพในเนื้อหาของผลงานแต่ละประเภทได้ต่อไป
ขณะเดียวกัน รายงานประจำปี 2018 ขององค์กร GLAAD ที่มีชื่อรายงานว่า Where We are on TV ก็ชี้ให้เห็นว่า จำนวนตัวละคร LGBT ในโทรทัศน์สำหรับซีซัน 2018 ถึง 2019 มีมากเป็นประวัติการณ์ โดยตัวละครประจำ หรือ Regulars ในรายการของสถานีหลัก มีมากถึง 8.8 เปอร์เซ็นต์ หรือ 75 ตัวละคร และครั้งหนึ่งของตัวละครเหล่านั้น เป็นตัวละครผิวสี ยิ่งไปกว่านั้น สัดส่วนตัวละคร LGBT ยังแบ่งเป็นหญิงชายเท่า ๆ กัน พัฒนาขึ้นจากปีที่แล้ว ที่ตัวละคร LGBT เพศชายมีอยู่ 55 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่ เพศหญิง 45 เปอร์เซ็นต์
ด้านรายการทางเคเบิลทีวี ก็มีตัวละคร LGBT ในจำนวนมากเช่นกัน และตัวละคร LGBT ผิวสีคิดเป็น 46 เปอร์เซ็นต์จากทั้งหมด รวมบทหลักและบทสมทบ คิดเป็นตัวละครหลัก 120 ตัว และตัวละครสมทบ 88 ตัว ขณะที่ ทางช่องทางสตรีมมิงมี 48 เปอร์เซ็นต์ คิดเป็นตัวละครหลัก 75 ตัว และตัวละครสมทบ 37 ตัว
ซาราห์ เคต เอลลิส ประธานและซีอีโอองค์กร GLAAD กล่าวว่า การมีตัวละครเหล่านี้ทางโทรทัศน์เป็นสิ่งที่สำคัญมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคที่สหรัฐฯ และหลายประเทศยังคงมีนโยบายต่อต้านและกีดกันผู้มีความหลากหลายทางเพศอยู่ ซึ่งการเปิดโอกาสให้มี 'ตัวแทน' ของคนกลุ่มนี้ในผลงานต่าง ๆ จะทำให้ผู้คนเข้าใจและเปิดรับชาว LGBT มากขึ้น
ด้านผลงานในประเทศไทยช่วงไม่กี่ปีมานี้ ก็มีการเปิดกว้าง ยอมรับตัวละคร LGBT มากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ไม่เพียงแต่ซีรีส์วัยรุ่น Y หรือ Yaoi ที่มีตัวละครชายรักชาย ที่มุ่งให้แฟน ๆ รู้สึก 'จิ้น' ตัวละคร ต่อเนื่องจากกระแสความนิยมในนิยาย Y เท่านั้น แต่ละครทั่วไปก็มีบทคนรักเพศเดียวกัน ที่ใช้ชีวิตทั่วไปและเป็นส่วนหนึ่งของสังคม เช่น ซีรีส์ที่เน้นการเขียนบทอิงจากเรื่องจริงอย่าง Club Friday The Series ที่เคยดึง โทนี่ - อิรา รากแก่น และ เต๋า - เศรษฐพงศ์ เพียงพอ หรือ เต๋า AF8 มารับบทชายรักชาย จนกลายเป็นกระแสและสร้างความรับรู้ให้ผู้ชมที่ตามปกติแล้วอาจไม่รับชมผลงานประเภท Y ได้เข้าใจผู้มีความหลากหลายทางเพศในสังคมปัจจุบันมากขึ้น
ขณะที่ ซีรีส์ Y ที่เน้นสร้างคู่จิ้น และประสบความสำเร็จจนสามารถต่อยอดไปเป็นอีเวนต์หรือคอนเสิร์ตใหญ่ได้นั้น ก็นับเป็นปรากฏการณ์ครั้งสำคัญในวงการบันเทิงไทยเช่นกัน อย่างการจัดคอนเสิร์ต Y I Love U ของบริษัท GMM ที่ได้รับการตอบรับอย่างดี ไม่เพียงแต่กับแฟนซีรีส์ชาวไทยเท่านั้น แต่ยังมีแฟน ๆ จากหลายประเทศทั้งจีน เกาหลี ญี่ปุ่น หรือแม้แต่สวีเดน ที่เมื่อปีที่แล้ว วอยซ์ทีวีเคยได้ไปพูดคุยกับแฟนคลับชาวสวีเดนบริเวณหน้างานคอนเสิร์ต ที่พวกเธอเล่าว่าบินมาจากสวีเดนเพื่อร่วมคอนเสิร์ตโดยเฉพาะ และจะบินกลับในวันรุ่งขึ้น
สุดท้ายแล้ว การสำรวจผู้ชม LGBT และการเปิดพื้นที่ให้ตัวละคร LGBT ในรายการโทรทัศน์เช่นนี้ จะกลายเป็นกลไกสำคัญในการทำให้สังคมโดยรวมมีความตระหนักรู้ เข้าใจ และสร้างความเท่าเทียมทางเพศสภาพให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมและยั่งยืนในที่สุด ทั้งทางฝั่งฮอลลีวูด และในบ้านเรา