นักวิจัยจากสวีเดนสร้างสรรค์วีอาร์สามมิติเป็นภาพทางช้างเผือก โดยหวังว่าผลงานนี้จะช่วยให้นักดาราศาสตร์ค้นพบสิ่งใหม่ในอวกาศได้เพิ่มขึ้น
ทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยลุนด์ ทางตอนใต้ของประเทศสวีเดน ซึ่งประกอบด้วยนักดาราศาสตร์ฟิสิกส์ ออสการ์ เอเกิร์ซ (Oscar Agertz) และอาจารย์จากคณะวิศวกรรม แมสเทียส วอลเลอร์การ์ด (Mattias Wallergård) ได้นำข้อมูลดวงดาวกว่าพันล้านดวงที่ได้จากดาวเทียมไกอา มาพัฒนาเป็นกาแล็กซี่แบบอินเตอร์แอคทีฟที่คนทั่วไปสามารถสัมผัสได้ผ่านแว่นวีอาร์สามมิติ โดยทีมเชื่อว่าเทคโนโลยีเสมือนจริงนี้จะช่วยขยายขอบเขตให้นักดาราศาสตร์สำรวจอวกาศได้มากขึ้น ซึ่งการใช้วิธีปัจจุบันอาจยังไม่เอื้อในการค้นพบใหม่
นักวิจัยในโครงการมองว่า ระบบนี้จะทำให้ศึกษาอวกาศได้ละเอียดขึ้น นอกจากนั้น ยังสามารถระบุโครงสร้างของข้อมูลดาราศาสตร์ฟิสิกส์ที่ซับซ้อนได้ และสามารถระบุรูปแบบของธารดาวฤกษ์ หรือ Stellar streams ซึ่งเป็นดาวฤกษ์ที่มารวมตัวกันและเคลื่อนที่ไปพร้อมกันในลักษณะยาวคล้ายลำธาร โดยทีมงานคาดว่า จะสามารถนำระบบนี้มาใช้งานได้จริงภายในปีนี้
นอกจากจะนำวีอาร์มาใช้ในการศึกษาอวกาศ ยังมีอีกทีมวิจัยในมหาวิทยาลัยลุนด์ที่นำวีอาร์มาช่วยในการศึกษาเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือด โดยโปรเจกต์นี้นำทีมโดยชามิต โซนจิ (Shamit Soneji) เมื่อผู้ใช้สวมแว่นวีอาร์และชี้ไปยังจอคอมพิวเตอร์ ก็จะเห็นสเต็มเซลล์ต่าง ๆ ในโลกเสมือนจริง
โซนจิ เชื่อว่าแพทย์จะเรียนรู้วิธีการใช้อุปกรณ์วีอาร์ได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งจะช่วยให้ทราบรายละเอียดว่าแต่ละยีนทำงานอย่างไรภายในเซลล์ หรือแม้แต่คนที่ไม่คุ้นเคยกับชีววิทยาทางการแพทย์ ก็สามารถศึกษาได้ไม่ยาก และยังสนุกสนาน ผ่านการใช้วีอาร์เพียง 30 นาที