ผลวิจัยชี้ มลพิษทางอากาศเป็นสาเหตุสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อสติปัญญาของมนุษย์ และยังส่งผลกระทบต่อสังคมมากกว่าแค่เรื่องสุขภาพร่างกาย เกินกว่าที่เรารับรู้กันในปัจจุบัน
เว็บไซต์ The Guardian รายงานอ้างอิงผลการศึกษาจากวารสาร Proceedings of the National Academy of Sciences ระบุว่า ดัชนีค่ามลพิษทางอากาศมีความสัมพันธ์กับผลคะแนนทดสอบคณิตศาสตร์ และผลทดสอบเรื่องการพูดของมนุษย์ ซึ่งเป็นผลสำรวจจากหน่วยงานครอบครัวของจีน ที่สำรวจประชากรจีนจำนวน 32,000 คนระหว่างปี 2010 และ 2014 อายุตั้งแต่ 25 ปีขึ้นไป และทำการสำรวจใน 86 เมืองใหญ่ทั่วประเทศ ด้วยชุดข้อสอบทั้งหมด 2 แบบ คือ คำถามทางคณิตศาสตร์ 24 ข้อ และคำถามด้านภาษาอีก 34 ข้อ
จากการสำรวจพบว่า คะแนนการทดสอบพูดและคะแนนคณิตศาสตร์ของผู้เข้าร่วมทดสอบนั้นลดลง สวนกับค่าดัชนีมลพิษทางอากาศที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการทดสอบทักษะด้านการพูด โดยปรากฏว่าในกลุ่มเพศชายมีคะแนนน้อยลงกว่าในกลุ่มเพศหญิง แม้ว่าการสำรวจนี้จะจัดทำขึ้นในประเทศจีน แต่ข้อมูลสามารถเชื่อมโยงกันได้ในระดับนานาชาติ
สอดคล้องกับผลสำรวจที่มีการเผยแพร่ออกมาก่อนหน้านี้ จาก Health Effects Institute ในเดือนเมษายนที่ผ่านมา ซึ่งระบุว่าประชากรโลกมากกว่า 95 เปอร์เซ็นต์ ต้องใช้ชีวิตอยู่กับอากาศที่เป็นมลพิษ และแน่นอนว่ากลุ่มประชากรโลกที่ได้รับผลกระทบหนักที่สุด ก็คือกลุ่มคนยากจน และผู้มีรายได้น้อยทั่วโลก ที่ไม่สามารถเข้าถึงอุปกรณ์ หรือเครื่องฟอกอากาศที่ทันสมัย และมีราคาแพงได้ ซึ่งประชากรส่วนใหญ่ที่อาศัยอยู่ในถิ่นทุรกันดารของโลก ก็มักจะเผชิญกับการเผาไหม้ของถ่านฟืนต่าง ๆ ซึ่งเป็นมลพิษทางอากาศโดยตรง
นายสี เฉิน สมาชิกหนึ่งในทีมวิจัยจากวิทยาลัยสา��ารณสุข มหาวิทยาลัยเยล ของสหรัฐฯ กล่าวว่า อากาศที่เป็นพิษสามารถเป็นสาเหตุที่ทำให้ความรู้ความสามารถในการศึกษาของทุกคนลดลงได้ภายใน 1 ปี ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่มาก แต่ทั้งนี้ ผลกระทบดังกล่าวจะเกิดขึ้นในกลุ่มผู้สูงอายุ โดยเฉพาะคนที่มีอายุ 64 ปีขึ้นไปมากที่สุด และถ้านำค่าเฉลี่ยทั้งหมดมาคำนวณจะพบว่า การที่มลพิษทางอากาศจะส่งผลกระทบต่อการรับรู้และความสามารถด้านการศึกษานั้น จะใช้เวลาประมาณ 2- 3 ปี
นอกจากนี้ นายเฉินยังเรียกร้องให้รัฐบาลในประเทศกำลังพัฒนา หันมาใส่ใจในการลดมลพิษทางอากาศอย่างจริงจัง เนื่องจากปัญหานี้ส่งผลกระทบต่อทรัพยากรมนุษย์ ซึ่งเป็นทรัพยากรสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ขณะที่ จีนเอง แม้ว่าจะสามารถลดมลพิษทางอากาศได้ แต่ก็ยังเกินค่ากำหนดขององค์การอนามัยโลก หรือ WHO อยู่ถึง 3 เท่า
การศึกษาเรื่องผลกระทบจากมลพิษที่ส่งผลต่อมนุษย์เมื่อปี 2016 พบว่า ค่าดัชนีมลพิษทางอากาศที่เพิ่มสูงขึ้น สัมพันธ์กับความเสี่ยงในการเกิดโรคอัลไซเมอร์ที่เพิ่มขึ้นตามไปด้วย โดยด็อกเตอร์ลิเลียน กาลเดรอง-การ์ซิดูเอนยาส แพทย์และนักพิษวิทยา จากมหาวิทยาลัยมอนทานา และทีมวิจัย ได้ตีพิมพ์ผลวิจัยลงในนิตยสารวิชาการ Journal of Environmental Research ระบุว่า เด็กและเยาวชนที่อาศัยอยู่ในเมืองใหญ่ที่มีมลพิษ จะมีความเสี่ยงเป็นโรคอัลไซเมอร์และเสี่ยงฆ่าตัวตายมากขึ้น
ทีมวิจัยได้ตรวจร่างกายกลุ่มตัวอย่าง 203 คนในกรุงเม็กซิโก ซิตี้ ซึ่งเป็นเมืองที่ประชาชนต้องเผชิญกับฝุ่นละอองขนาดเล็กกว่า 2.5 ไมครอนทุกวัน โดยกลุ่มตัวอย่างมีตั้งแต่อายุ 11 เดือน ถึง 40 ปี ด้วยวิธีติดตามดูโปรตีนผิดปกติ 2 ชนิดในสมองเด็กและเยาวชน และพบพัฒนาการของโรคอัลไซเมอร์ ที่สัมพันธ์กับการเผชิญมลพิษ รวมถึงการติดตาม Apolipoprotein E หรือ APOE 4 ซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงทางพันธุกรรมต่อโรคอัลไซเมอร์
สัญญาณขั้นเริ่มต้นของโรคอัลไซเมอร์เกิดขึ้นในเด็กอายุต่ำกว่า 1 ขวบ และอาการของโรคจะเพิ่มขึ้นเมื่ออายุมากขึ้น และพบว่าร้อยละ 99.5 จากกลุ่มตัวอย่าง มีสัญญาณของโรคอัลไซเมอร์ด้วย นอกจากนี้ ผู้ที่เป็นพาหะ APOE 4 ยังมีความเสี่ยงสูงที่จะเป็นโรคอัลไซเมอร์ฉับพลัน และอัตราการฆ่าตัวตายยังเพิ่มขึ้นถึง 4.92 เปอร์เซ็นต์
เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา องค์การอนามัยโลก หรือ WHO ได้เปิดเผยรายงานการประเมินผลและผลกระทบจากมลพิษทั่วโลก พบว่าประชากรโลก 9 ใน 10 คน มีฐานะยากจน และอาศัยอยู่ในเมืองที่มีมลพิษทางอากาศสูง ขณะที่ ทุก ๆ ปี ประชากรโลกกว่า 7 ล้านคน เสียชีวิตจากมลพิษทางอากาศที่รุนแรง โดยเฉพาะในประเทศกำลังพัฒนา แม้ว่ารัฐบาลในหลายประเทศเริ่มหันมาให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาเรื่องมลพิษต่อสิ่งแวดล้อมแล้วก็ตาม
สำหรับสาเหตุของการเกิดมลพิษทางอากาศนั้น ส่วนใหญ่มาจากการใช้รถยนต์ ที่มีการเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิล การเผาไหม้จากโรงงานอุตสาหกรรม การเผาไม้ ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญที่ก่อให้เกิดโรคหัวใจล้มเหลวเฉียบพลัน โรคมะเร็งปอด และโรคปอดเรื้อรัง และยังพบว่าแต่ละปีประชากรในเมืองที่ยากจนกว่า 3.8 ล้านคน โดยเฉพาะผู้หญิงและเด็ก เสียชีวิตจากมลพิษทางอากาศ ที่เกิดจากกิจกรรมภายในครัวเรือน ซึ่งจะมีการเผาถ่าน เผาไม้ สำหรับปรุงอาหาร และให้ความอบอุ่นกับร่างกาย ขณะที่ กว่าอีก 4.2 ล้านคน เสียชีวิตจากการสูดมลพิษทางอากาศนอกบ้าน
ด้านกลุ่มประเทศร่ำรวย อย่างในภูมิภาคยุโรปและอเมริกา ต่างมีระดับมลพิษทางอากาศที่ต่ำมาก ดร. มาเรีย เนรา ผู้อำนวยการด้านสาธารณสุข สิ่งแวดล้อมและสุขภาพทางสังคมของ WHO กล่าวว่า ประเทศที่มีปัญหาทางการเมืองต่ำ จะนำไปสู่การลงทุนที่มีคุณภาพ ตัวอย่างเช่น ประเทศในแถบสแกนดิเนเวีย ที่มีพื้นฐานการพัฒนาทางเศรษฐกิจที่แข็งแรง ปราศจากการทำลายสิ่งแวดล้อม และปราศจากการทำร้ายสุขภาพของประชาชนด้วย