รายการ คิดเล่นเห็นต่าง กับ คำผกา ประจำวันที่ 30 มิถุนายน 2556
ใบเตย อาร์สยาม ทำให้นายดำรงค์ ทองสม รองอธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม ถึงกับแน่นอก กล่าวถึงนักร้องลูกทุ่งนุ่งสั้นเสมอหูว่า ใบเตย อาร์สยาม ทำภาพลักษณ์วงการลูกทุ่งเสื่อม ขายเรือนร่างมากกว่าเสียงเพลง ทางพิธีกรคิดเล่นเห็นต่างกับคำผกากลับมองว่า รองอธิบดีคนนี้ น่าจะสอบตกในการส่งเสริมวัฒนธรรมซะมากกว่า..
เพลงลูกทุ่งเพิ่งเกิดในเมืองไทยไม่เกิน 60 ปี ทั้งนี้ยังไม่นับเพลงพื้นบ้าน เพลงฉ่อย ซึ่งเนื้อหาสองแง่สามง่าม บูชาความอุดมสมบูรณ์ของธรรมชาติ เพศ การก่อกำเนิดเป็นต้น
รักต้องเปิด(แน่นอก)ของใบเตย จังหวะเพลง ทำให้เกิดรู้สึกคึกคัก มีลักษณะThree to One ที่ผสมผสาน Hip Hop ลูกทุ่งผสมกัน และมีท่าเต้นที่เป็นสากล และแสดงความเป็นไทยเข้าไปด้วย ซึ่งเพลงของใบเตย จะเป็นเพลง POP ที่ใส่ความลูกทุ่งไปด้วย เช่นมีรถทัวร์ รถเทรลเลอร์ รถตุ๊กๆอยู่ในมิวสิควิดีโอ สิ่งเหล่านี้กระทรวงวัฒนธรรมน่าจะอุดหนุน หรือชูขึ้นมาขายได้ แต่กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กลับมาสอบตกเรื่องนี้ ไม่รู้จักเอาความเป็นไทยเข้าสู่ยุคสมัยใหม่ หรือสร้าง Popular Culture ขึ้นมาอาจเป็น T-POP แล้วนำมาเป็นจุดขายไปทั่วโลก เช่น J-POPที่ประสบความสำเร็จมาแล้ว
ส่วนอีกคน ที่ออกมาวิพากษ์วิจารณ์ เรื่องนี้ นางฉวีวรรณ พันธุ ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปการแสดง(หมอลำ) ปี 2536 ได้บอกว่า ไม่อยากให้เจ้าตัวทำตนเองให้เป็นสื่อ บางสิ่งนำเสนอในสิ่งที่ไม่เหมาะสมกับการเป็นนักร้อง เช่นการใช้ลีลา สรีระร่างกายมาแลกให้ตนเองดัง ให้สังคมยอมรับ แต่ควรจะรักนวลสงวนตัว ให้คนเขาคิดถึง ให้เขาเสียดาย และควรให้หางเครื่องเป็นผู้แสดงออกในการเต้นมากกว่า สังคมจะได้ไม่ดูถูกศิลปินอยากให้นักร้องคนรุ่นใหม่รักนวลสงวนตัว ให้มีคนคิดถึงเสียงเพลง คิดถึงอารมณ์ของเนื้อเพลงมากกว่า
คำผกาเห็นว่าหากต้องการรักษาวัฒนธรรมแบบไทยจริงๆ อาจต้องผู้หญิงมีสามีอายุ 12 ปี และมีลูกอายุ 15 หรือเปล่า เพราะสมัยโบราณเป็นอย่างนั้น หรือแม้แต่หมอลำพื้นบ้านเอง ก็บทสังวาสเช่นกัน และไม่เคยได้ยินว่าการเป็นนักร้องต้องรักนวลสงวนตัว เพราะหน้าที่ของนักร้องคือ ร้องเพลงได้ดี มีความสามารถ มีวินัย รักษาเสียงตัวเอง เพราะนักร้องไม่ใช่คุณหญิงกีรติแล้วทำไมต้องให้หางเครื่องโป๊ แสดงว่ามีการแบ่งชนชั้นระหว่างนักร้องกับหางเครื่อง นี่แสดงว่าถ้าเป็นเรื่องดีๆให้ทำตัวเป็นคุณหญิงกีรติ แต่ถ้าเป็นเรื่องขายตัวหาเงินเข้าประเทศกลายเป็นเรื่องของคนจน ทำให้เห็นว่าในสังคมไทย จะมีผู้หญิงบางกลุ่มเท่านั้นที่ได้รับการช่วยเหลือและปกป้อง แต่คนจนกลับถูกละเลย