ประเทศที่ขึ้นชื่อเรื่องอุตสาหกรรมไวน์ที่สุดในโลก ก็คือฝรั่งเศส แต่ในสมรภูมิที่ขับเคี่ยวกันอย่างหนักของผู้ทำไวน์ฝรั่งเศส มีหญิงไทยได้แจ้งเกิดที่นั่น และเธอได้เปิดเผยถึงมุมมองต่ออุตสาหกรรมไวน์ในไทย ที่แม้จะดำเนินมาหลายสิบปีแล้ว แต่ยังไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร
ในฝรั่งเศส มีนักทำไวน์ไม่มากนักที่ได้รับเหรียญตราเชิดชูเกียรติจากประธานาธิบดี และในจำนวนนั้น ยังมีน้อยมากที่เป็นผู้หญิง แต่เหมียว สาคร-เซร์เย่ ผู้หญิงชาวไทย เป็นหนึ่งในนั้น เธอเกิดในครอบครัวชาวนาของภาคอีสาน ติดพรมแดนไทย-กัมพูชา เหมียวแต่งงานกับสามีชาวฝรั่งเศสในไทย ก่อนจะย้ายไปยังฝรั่งเศส ที่ซึ่งเธอได้เรียนการทำไวน์ในบอร์กโดซ์ เมืองหลวงไวน์ของโลก
เหมียวกลับมาใช้ชีวิตในไทยตั้งแต่ปี 2002-2006 โดยทำงานกับบริษัทสยามไวเนอรี พัฒนาไร่ไวน์แบบฝรั่งเศสและฝึกอบรมพนักงานให้กับบริษัท แต่ปัจจุบันเธอกลับมาทำงานให้กับไร่ไวน์ในเขตพีเรนิส ทางตะวันตกเฉียงใต้ของฝรั่งเศส โดยรับตำแหน่งเป็นทั้งผู้จัดการไร่และ Cellar Master หรือผู้ควบคุมกระบวนการผลิตไวน์ ตำแหน่งที่ไม่เคยมีผู้หญิงไทยคนใดเคยได้รับมาก่อน
เหมียวให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าว South China Morning Post ของฮ่องกง ว่าเธอหลงรักการทำไวน์ เพราะมีพื้นฐานเรื่องการเกษตรตั้งแต่เด็ก เนื่องจากครอบครัวเป็นชาวนา แต่หากจะให้เธอทำธุรกิจไวน์ในไทย ถือเป็นเรื่องยาก และเธอคงทำได้เพียงการฝึกอบรมให้ความรู้กับผู้ที่สนใจ มากกว่าที่จะทำธุรกิจของตัวเอง
เหตุผลที่ทำให้นักทำไวน์ผู้มากประสบการณ์ในฝรั่งเศส ดินแดนที่การแข่งขันด้านคุณภาพไวน์เข้มข้นดุเดือดที่สุดในโลก มองว่าเป็นเรื่องยากที่จะเข้ามาทำธุรกิจไวน์ในไทย เป็นเพราะหลายปัจจัย ตั้งแต่สภาพภูมิอากาศที่ค่อนข้างร้อน และแปรปรวน ทำให้ยากต่อการควบคุมคุณภาพองุ่น นอกจากนี้ กฎหมายต่างๆยังไม่เอื้อกับการประกอบอุตสาหกรรมเท่าไหร่นัก โดยเฉพาะสำหรับผู้ประกอบการรายย่อย การทำธุรกิจแอลกอฮอลในไทย ต้องใช้เงินลงทุนสูงมาก และต้องมีสายป่านยาว จึงจะสามารถประคองธุรกิจไปได้ โดยทุกวันนี้ มีผู้ผลิตไวน์เจ้าใหญ่ในไทยเพียง ประมาณ 6 ราย ที่อยู่ในสมาคมไวน์ไทย ได้แก่ อัลซิดินี (Alcidini) กราน มอนเต้ (GranMonte) พีบีวัลเล่ย์ เขาใหญ่ (PB Valley) สยามไวเนอรี่ (Siam Winery) ซิลเวอร์เลค พัทยา (Silverlake) และวิลเลจฟาร์ม (Village Farm)
ภายใต้กฏหมายของกรมสรรพสามิต ผู้ผลิตสุราที่จะนำออกจำหน่ายต้องส่งตัวอย่างไปวิเคราะห์ที่กรมสรรพสามิต 1 ครั้ง หลังจากนั้นก็อาจไม่มีการตรวจวิเคราะห์อีก นอกจากนั้นเกณฑ์มาตรฐานด้านสารเคมีในไวน์ที่กรมสรรพสามิตใช้ ก็ยึดของสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) ที่กำหนดมาตรฐานเฉพาะสารเคมีในไวน์ที่อาจก่อให้เกิดอ้นตราย แต่ไม่มีมาตรฐานสารเคมีที่บ่งบอกคุณภาพของไวน์ เช่นปริมาณกรดน้ำส้ม หรือในวงการไวน์เรียกว่ากรดระเหย ทำให้การควบคุมคุณภาพไวน์เป็นไปอย่างไม่เคร่งครัด เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาไวน์ในประเทศ
อย่างไรก็ตาม มาตรฐานที่ไม่เคร่งครัดก็ไม่ได้ช่วยให้ผู้ประกอบการรายย่อยแจ้งเกิดในอุตสาหกรรมไวน์ได้ เพราะถึงกฎหมายจะไม่เคร่งครัดมากนัก แต่การผลิตและทำการตลาดไวน์สู้กับเจ้าใหญ่ ก็ต้องใช้ต้นทุนสูงมาก รวมถึงการจดทะเบียน ขออนุญาตเป็นผู้ผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอลมีขั้นตอนซับซ้อน
โดยต้องเป็นผู้ได้รับใบอนุญาตให้ทำสุราจากกรมสรรพสามิต ต่อด้วยการขอมีเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากร (ในรูปแบบบุคคลธรรมดา หรือนิติบุคคล) จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ในกรณีที่มีรายได้จากการขายไวน์ผลไม้เกินกว่า 1.8 ล้านบาทต่อปี หรือหากรายได้ไม่เกินนี้แต่ต้องการเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียน ก็สามารถยื่นขอจดทะเบียนได้เช่นกัน และยังต้องจดทะเบียนพาณิชย์ กับกรมพัฒนาธุรกิจการค้าด้วย
ขั้นตอนดังกล่าวและข้อจำกัดด้านทุนและเทคนิคการทำไวน์ ทำให้กลุ่มเกษตรกรที่หวังแปรรูปผลไม้ท้องถิ่นเป็นไวน์ เพิ่มมูลค่า ไม่ประสบความสำเร็จมากนัก โดยเฉพาะเมื่อไม่ได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ