รายการ Intelligence EXCLUSIVE ประจำวันที่ 28 ธ.ค. 54
คดีของนายอำพล หรือ "อากง" ชายวัย 61 ปี ที่ต้องคำพิพากษาจำคุก 20 ปี ด้วยข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ โดยการส่งข้อความสั้นทางโทรศัพท์มือถือ 4 ครั้ง ถึงเลขานุการส่วนตัวของคุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ในช่วงเดือนพฤษภาคม 2553 ในช่วงเหตุการณ์รุนแรงทางการเมือง
คดีนี้ก่อให้เกิดข้อถกเถียงอย่างอย่างกว้างขวาง ทั้งหลักฐาน และการใช้เหตุผลในการพิจารณาคดี ปัญหาของประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และตอกย้ำให้เห็นปัญหาของกระบวนการยุติธรรมไทย หลังศาลมีคำพิพากษา มีปฏิกิริยาจากองค์กรระหว่างประเทศและเครือข่ายนักวิชาการในประเทศ ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้ไทยยึดมั่นหลักนิติธรรม ประชาธิปไตย และการเคารพสิทธิมนุษยชน
ผศ.ดร.พวงทอง ภวัครพันธ์ จากคณะรัฐศาสตร์จุฬา ซึ่งร่วมลงนามในแถลงการณ์เครือข่ายสันติประชาธรรม ในแถลงการณ์เรื่อง " สิทธิและความยุติธรรมสำหรับนักโทษ 112 หายไปไหน" แสดงความเห็นว่า กฎหมายมาตรา 112 และ พรบ.ว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ กลายเป็นเครื่องมือสร้างความหวาดกลัว มากกว่าสร้างความยุติธรรมในสังคมไทย การกระทำนี้ตอกลิ่มความแตกแยก และความเกลียดชังในสังคมให้รุนแรงขึ้น แต่ไม่สามารถสร้างความมั่นคงให้สถาบันกษัตริย์ได้เลย จึงเรียกร้องให้มีการปล่อยตัว หรืออนุญาติประกันตัวผู้ต้องหาในคดีหมิ่นฯ ทบทวนกฎหมายเกี่ยวกับการลงโทษฐานละเมิดอำนาจศาลอย่างจริงจัง และเรียกร้องไปยังพรรคการเมือง กลุ่มการเมืองยุติการใช้ข้อกล่าวหาไม่จงรักภักดีต่อสถาบัน เพื่อขจัดผู้มีความเห็นต่างทางการเมือง
อ.สาวตรี สุขศรี จากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หนึ่งในกลุ่มนิติราษฏร์ ชี้ให้เห็นว่ากระบวนการพิจารณาคดี "อากง" มีปัญหาที่ต้องตั้งข้อสังเกตุ ตั้งแต่ สิทธิการได้รับการประกันตัว การพิจารณาคดี และคำตัดสิน โดยเฉพาะความข้องใจเรื่องพยานหลักฐานในคดี ฝ่ายโจทก์ไม่สามารถพิสูจน์ให้สิ้นสงสัยได้ว่า จำเลยเป็นผู้ส่งเอสเอ็มเอส การใช้ประจักษ์พยานแวดล้อมที่นำสืบ เพื่อชี้เจตนาของเจำเลย ขัดต่อวิธีพิจารณาความอาญาที่ฝ่ายโจทก์ต้องพิสูจน์ ไม่ใช่ให้จำเลยพิสูจน์ความบริสุทธ์ตัวเอง
ในฐานะนักกฎหมาย อ.สาวตรี แสดงความมั่นใจว่า ถ้า "อากง" เลือกที่จะอุทธรณ์ต่อสู้คดี ยังมีประเด็นต่อสู้อีกมาก โดยเฉพาะเรื่องการพิสูจน์หมายเลขประจำเครื่อง การพิสูจน์ความถูกต้องว่าไม่ได้เป็นผู้ส่งข้อความ โดยอาศัยการพิสูจน์ประจักษืพยาน และพยานแวดล้อม ซึ่งจำเป็นต้อง
มีผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีมาให้ปากคำเพิ่มเติมในประเด็นที่ยังมีข้อสงสัย นอกจากนี้ อ.สาวตรี ยืนยันว่ากลุ่มนิติราษฏร์ ยังจะผลักดันการแก้ไข มาตรา 112 ต่อไป ตามแนวทางที่เสนอต่อสาธารณะชนเมื่อต้นปี 2554
Produced by VoiceTV