ไม่พบผลการค้นหา
‘ก้าวไกล' ชงญัตติด่วนกลางสภาฯ ดัน ครม. ทำประชามติ ตั้ง ส.ส.ร. แก้ รธน. ทั้งฉบับ 'เพื่อไทย' เห็นด้วยช่วยดัน ชี้เร่งด่วนจำเป็นต่อประเทศ มองการเลือกตั้งอีกไม่นาน ด้าน 'วิปรัฐบาล' ไม่ติดใจ

วันที่ 15 ก.ย. 2565 ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ ส.ส.กทม. พรรคก้าวไกล เสนอญัตติด่วนด้วยวาจาตามข้อบังคับการประชุมสภาฯ ข้อที่ 54 (1) (2) (5) ขอให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) ดำเนินการตามที่สภาผู้แทนราษฎรมีมติในการออกเสียงประชามติเกี่ยวกับความเห็นของประชาชนต่อการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เนื่องจากเป็นผลประโยชน์ต่อแผ่นดิน และยังไม่ทราบว่าจะได้เลือกตั้งเมื่อใด จึงควรพิจารณาก่อนปิดสมัยประชุมสภาผู้แทนราษฎร

อย่างไรก็ตาม อรรถกร ศิริลัทธยากร ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ ในวิปรัฐบาล) ลุกขึ้นกล่าวว่า น่าเสียดาย เพราะ พิจารณ์ เชาวพัฒนวงศ์ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ รองหัวหน้าพรรคก้าวไกล ประสานมาวันอังคาร (13 ก.ย.) แต่พรรคร่วมรัฐบาลได้ประชุมวิปกันเมื่อวันจันทร์ (12 ก.ย.) จึงไม่มีโอกาสนำเรื่องนี้ไปหาทางออกในวิปรัฐบาล ตลอดจนในสภาฯ มีหน่วยงานมารอชี้แจงตั้งแต่เช้าแล้ว จึงอยากขอเรื่องรับทราบรายงานเข้าก่อนสัก 3 เรื่องให้ผู้ชี้แจงจากหน่วยงานภายนอกมาทำหน้าที่ในสภาผู้แทนราษฎรให้เรียบร้อย

ต่อมา จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ ส.ส. เชียงใหม่ พรรคเพื่อไทย วิปฝ่ายค้าน กล่าวสนับสนุนญัตติให้เปลี่ยนวาระการประชุม เพราะเข้าใกล้กระบวนการเลือกตั้งจนต้องเร่งกระบวนการให้แล้วเสร็จ ไม่ว่าสภาฯ จะมีมติไปทิศทางใดก็ตาม ส่วนของเรื่องรับทราบรายงานนั้นฝ่ายค้านไม่มีปัญหา เพราะก็มีทุกสัปดาห์ไม่ว่าช้าหรือเร็ว เมื่อสัปดาห์นี้เป็นสัปดาห์สุดท้ายของสมัยประชุมนี้แล้ว สิ่งที่ร้องขอมาก็เป็นเรื่องสำคัญจริง แต่ขอปรึกษาท่านประธานฯ ให้พิจารณาญัตติด่วนที่น่าจะใช้เวลาไม่นาน ประมาณ 2-3 ชั่วโมง ก่อนรับทราบรายงานต่อไป ก็จะจบได้ภายในวันนี้ทุกประการตามที่ได้วางแผนไว้

ทำให้ สุชาติ ตันเจริญ รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ประธานการประชุมขณะนั้น ขอให้หารือกันกับวิปรัฐบาล ซึ่ง อรรถกร ก็ได้บอกว่า รับทราบ และไม่ติดใจ สุชาติ จึงเปิดโอกาสให้ณัฐพงษ์ อภิปรายถึงเหตุผลของการเสนอญัตติ

ณัฐพงษ์ อภิปรายเหตุผลของการเสนอญัตติด่วนให้ ครม. จัดทำประชามติ โดยตั้งคำถามว่า "ท่านเห็นชอบหรือไม่ว่า ประเทศไทยควรจะมีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ทั้งฉบับ แทนที่รัฐธรรมนูญ พุทธศักราช 2560 ฉบับปัจจุบัน โดยสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน" 

สืบเนื่องจากสถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองที่ผ่านมา มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางว่ามีต้นตอมาจาก กระบวนการจัดทำรัฐธรรมนูญ 2560 ฉบับปัจจุบัน เนื่องจากเป็นรัฐธรรมนูญที่จัดทำมาจากคณะรัฐประหาร รับรองโดยเปิดทางมติที่ไม่เสรี ไม่เป็นธรรมกับประชาชน เนื้อหาสาระมีความถดถอยทางประชาธิปไตย อาทิ การขยายอำนาจของสถาบันทางการเมืองที่ไม่ได้มาจาการเลือกตั้ง กลไกสืบทอดอำนาจ

หลังจากนั้น ได้มี ส.ส.ทั้งฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาลได้อภิปรายแสดงความเห็นต่อประเด็นดังกล่าวกันอย่างกว้างขวาง