ไม่พบผลการค้นหา
โหวตอีกรอบองค์ล่ม! สภาฯ ถกญัตติด่วนชง ครม. ทำประชามติแก้ รธน. ยกฉบับ ที่ประชุมลงมติเห็นชอบแล้ว แต่องค์ไม่ครบ ประธานฯ ขอโหวตใหม่ ชิงปิดประชุม ญัตติค้างคาไปสมัยประชุมรัฐสภาครั้งหน้า

วันที่ 15 ก.ย. 2565 ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ ส.ส.กทม. พรรคก้าวไกล เสนอญัตติด่วนด้วยวาจาตามข้อบังคับข้อที่ 54 (1) (2) (5) ขอให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) ดำเนินการตามที่สภาผู้แทนราษฎรมีมติในการออกเสียงประชามติเกี่ยวกับความเห็นของประชาชนต่อการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่

หลังสมาชิกฯ ได้อภิปรายถึงข้อเสนอให้มีการลือกตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) เพื่อแก้รัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ กันอย่างกว้างขวางเป็นเวลาชั่วโมงกว่าแล้ว จากนั้นศุภชัย โพธิ์สุ รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ประธานการประชุม จึงได้สั่งให้มีการลงมติ แต่ต้องรอสมาชิกฯ มาแสดงตนเป็นองค์ประชุมอยู่นาน

กระทั่งเวลา 15.32 น. ประธานฯ แจ้งว่าหลังจากรอองค์ประชุมมา 31 นาที แล้ว ตอนนี้ขาดอีก 5 คน จึงจะครบองค์ประชุม จึงจะขอรออีกเพียง 3 นาที เนื่องจากจำนวนสมาชิกฯ แทบไม่เพิ่มขึ้น

ทั้งนี้ มีรายงานว่า ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ ได้หายไปจากที่ประชุมเกือบทั้งหมด จน พิเชษฐ เชื้อเมืองพาน ส.ส.เชียงราย พรรคเพื่อไทย ได้ประกาศตามหา วีระกร คำประกอบ ส.ส.นครสวรรค์ พรรคพลังประชารัฐ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเวลาผ่านไปกว่า 40 นาที ผลปรากฎว่ามีสมาชิกแสดงตนเป็นองค์ประชุมครบด้วยจำนวน 242 คน จึงได้เข้าสู่ขั้นตอนการลงมติ แต่เมื่อลงมติเสร็จ ประธานฯ กลับขอให้ลบคะแนนเสียง และสั่งให้ลงมติอีกครั้ง ผลปรากฏว่า มีจำนวนผู้ลงมติ 227 คน เห็นด้วย 215 เสียง ไม่เห็นด้วย 6 เสียง งดออกเสียง 6 เสียง และ ไม่ลงคะแนนเสียง 0 เสียง

อย่างไรก็ตาม ประธานฯ ได้ประกาศว่า ผลการลงมติเป็นโมฆะ เนื่องจากองค์ประชุมไม่ครบในตอนลงมติ เนื่องจากจำนวนสมาชิกฯ หายไป แม้เมื่อแสดงตนจะครบแล้วก็ตาม โดยประธานฯ ชี้แจงว่า จากผลการลงมติถือว่าเสียงข้างมากเห็นด้วยกับญัตติ

อย่างไรก็ตาม จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ ส.ส.เชียงใหม่ พรรคเพื่อไทย ทักท้วงว่า ถ้าเป็นเช่นนั้นก็ควรถือว่าผลการลงมติเป็นโมฆะ เนื่องจากองค์ประชุมในขณะลงมติยังไม่ครบ หากเดินหน้าต่อจะกลายเป็นปัญหาภายหลัง และอาจเป็นข้ออ้างให้ผู้ไม่อยากแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้ได้ ควรยืนยันว่าเสียงไม่ครบ และปิดประชุม เพื่อยกยอดไปลงมติในครั้งต่อไปสมัยประชุมหน้า

จากนั้น สมาชิกฯ ได้ถกเถียงในประเด็นว่าจะดำเนินการต่ออย่างไร ในเมื่อผลการลงมติเห็นชอบกับญัตติ แต่องค์ประชุมยังไม่ครบ โดย ชาดา ไทยเศรษฐ์ ส.ส.อุทัยธานี พรรคภูมิใจไทย เห็นตรงกันว่า หากสรุปว่าญัตติผ่านแล้ว แต่องค์ประชุมไม่ครบ จะทำให้สูญเปล่า และมีปัญหาข้อกฎหมายที่ค้างคา นำไปสู่การร้องศาลรัฐธรรมนูญ พร้อมกับพยายามเสนอให้ว่า เมื่อองค์ไม่ครบ ควรปิดประชุมและเลื่อนการลงมติในครั้งถัดไป เพราะตัวญัตติยังมีความชอบ ไม่อยากให้ผ่านไปแล้วมีปัญหาทีหลัง

ในที่สุด ศุภชัย จึงชี้แจงอีกว่า จากผลการลงมติถือว่าที่ประชุมเห็นชอบกับญัตติ แต่ในเมื่อสั่งลงมติแล้วถึง 2 ครั้ง องค์ประชุมก็ยังไม่ครบ ทำให้ที่ประชุมไปต่อไม่ได้ ก็ต้องเป็นไปตามระบบกฎหมาย แล้วสั่งปิดการประชุมในเวลา 15.55 น.

ข่าวที่เกี่ยวข้อง