วันที่ 4 ก.ย. ผศ.ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยซูเปอร์โพล (SUPER POLL) เสนอผลสำรวจ เรื่อง เชื่อมั่นศาล บ้านเมืองสงบสุข กรณีศึกษาประชาชนทุกสาขาอาชีพทั่วประเทศ ดำเนินโครงการทั้งการวิจัยเชิงปริมาณ (Quantitative Research) และการวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) จำนวน 1,156 ตัวอย่าง ระหว่างวันที่ 31 ส.ค. – 3 ก.ย.65
เมื่อถามถึงความคิดเห็นของประชาชนต่อ การเมือง หลังศาลรัฐธรรมนูญรับพิจารณา 8 ปี ของนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 90.9 ระบุ ไม่ต้องการเห็นการเมืองพาคนลงถนน ชุมนุมใหญ่ เผชิญหน้า ขัดแย้งรุนแรงบานปลาย เสียภาพลักษณ์ กระทบการประชุมเอเปค การลงทุน ท่องเที่ยว เสียหายต่อเศรษฐกิจและบ้านเมือง รองลงมาคือ ร้อยละ 89.7 ระบุ เบื่อหน่ายการเมือง แก่งแย่งผลประโยชน์ ร้อยละ 88.4 หยุดนักการเมืองเคลื่อนไหวชี้นำ แทรกแซง กระบวนการยุติธรรม ร้อยละ 87.9 เป็นห่วง การเมืองขัดแย้ง ซ้ำเติมวิกฤติเศรษฐกิจ ปัญหาเดือดร้อน ปากท้องของประชาชน ร้อยละ 87.3 ไม่ต้องการรัฐประหาร วงจรอุบาทว์ สั่นคลอนบ้านเมือง ต่างชาติไม่ยอมรับ
ที่น่าพิจารณาคือ เมื่อถามถึงความคิดเห็นของประชาชนต่อ กฎหมาย ศาล และกระบวนการยุติธรรม เพื่อบ้านเมืองสงบสุข ประเทศชาติเดินหน้าต่อได้ พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 91.5 ระบุ ยึดกฎหมาย บ้านเมืองมีหลักยึด ไม่วุ่นวาย ร้อยละ 89.4 เชื่อมั่นต่อศาล ยอมรับผลการพิจารณา และร้อยละ 89.0 เชื่อมั่นต่อกระบวนการยุติธรรม
เมื่อถามถึง การให้โอกาสต่อ รักษาการนายกรัฐมนตรี พบว่าส่วนใหญ่หรือร้อยละ 62.8 ให้โอกาส ใครเป็นนายกก็ได้ ขอบ้านเมืองสงบสุข ไม่ซ้ำเติมวิกฤติ รองลงมาคือ ร้อยละ 14.7 ไม่ให้โอกาส ในขณะที่ ร้อยละ 22.5 ไม่มีความเห็น
ผอ.ซูเปอร์โพล กล่าวว่า ผลโพลชิ้นนี้ชี้ให้เห็นว่า ประชาชนส่วนใหญ่ไม่ต้องการตกอยู่วงจรอุบาทว์ ซ้ำเติมความเดือดร้อนทุกข์ยากของประชาชน ไม่ต้องการเห็นการเมืองยั่วยุ ปลุกปั่น พาคนลงถนน ชุมนุมใหญ่ เผชิญหน้า ขัดแย้งรุนแรงบานปลาย เสียหายต่อภาพลักษณ์ของประเทศ กระทบต่อการเป็นเจ้าภาพประชุมเอเปค ทั้งด้านการลงทุน การท่องเที่ยว จะเสียหายต่อเศรษฐกิจของประเทศและวิกฤติปัญหาปากท้องของประชาชน
โดยทางออกที่สอดคล้องกับเสียงของประชาชนคือ การยึดกฎหมายบ้านเมือง บ้านเมืองมีหลักยึด สังคมก็จะไม่วุ่นวาย ให้ทุกฝ่ายยอมรับการตัดสินของศาลและเชื่อมั่นต่อกระบวนการยุติธรรม รวมถึงการให้โอกาสรักษาการนายกรัฐมนตรีทำหน้าที่ในช่วงเวลาวิกฤติหลายด้านที่ยังน่าเป็นห่วง เช่น การบริหารจัดการน้ำจากภัยพิบัติทางธรรมชาติของรักษาการนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ที่เคยมีประสบการณ์กำกับดูแลบริหารจัดการน้ำที่ผ่านมาลดความเดือดร้อนทุกข์ยากของประชาชนและช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบในพื้นที่เสี่ยงต่อภัยพิบัติ และทำงานต่อเนื่องเตรียมความพร้อมของประเทศในการเป็นเจ้าภาพประชุมเอเปค ที่จะมีผลดีต่อการลงทุน ในหลายด้าน เช่น ด้านสุขภาพ และการท่องเที่ยว ฟื้นฟูประเทศกลับมาแข็งแกร่ง มั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน กว่าเดิมได้