กรณีวานนี้ (7 มี.ค. 2565) มีวิดีโอคลิปผู้เข้าชมคอนเสิร์ตแบล็คพิ้งก์ #BORNPINKinBANGKOK เผยให้ช่วงเวลาก่อนเริ่มแสดง เวทีเปิดเพลงสรรเสริญพระบารมี พร้อมข้อความ 'โปรดยืนถวายความเคารพ' มีเสียงโห่ แสดงความไม่พอใจของผู้ชมเกิดขึ้น
'วอยซ์' ชวนทำความรู้จักต้นกำเนิดเพลงสรรเสริญฯ - ทำไมจึงมาแทรกตัวในมหรสพต่างๆ พร้อมทั้งยกตัวอย่างคดีความเกี่ยวกับเพลงสรรเสริญฯ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ
#มีมา 150 ปี
- ประเทศที่มีกษัตริย์เป็นประมุขย่อมต้องมีเพลงสรรเสริญพระบารมี อังกฤษมี God Save The Queen/King ซึ่งเป็นเพลงชาติด้วย ส่วนของไทยก็มี 'เพลงสรรเสริญพระบารมี' ที่มีอายุกว่า 150 กว่าปีแล้ว
- เพลงสรรเสริญฯ ถือกำเนิดในรัชกาลที่ 5 เพราะพระองค์ทรงประพาสต่างประเทศบ่อย ในเอกสารของราชการระบุว่า ราวปี 2413 เมื่อพระองค์ประพาสชวา ขณะประทับที่สิงคโปร์ ทหารอังกฤษใช้เพลงก็อดเซฟเดอะควีนรับเสด็จฯ
- "เมื่อเสด็จฯ ถึงเมืองปัตตาเวีย พวกฮอลันดาคงจะถามถึงเพลงชาติของไทยเพื่อนำไปบรรเลงรับเสด็จฯ จึงได้มีพระราชดำริที่จะให้มีเพลงถวายความเคารพของไทย สำหรับแตรวงบรรเลงรับเสด็จฯ ขึ้น"
- เพลงสรรเสริญพระบารมีปรับปรุงเป็นเวอร์ชั่นที่เราคุ้นหูและใช้มาจนปัจจุบันโดยรัชกาลที่ 6 อย่างไรก็ดี ตอนแรกเพลงนี้มีหลายเวอร์ชั่น เพราะในปี 2441 (ก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครอง) มีการปรับคำร้องหลายแบบให้นักเรียนได้ขับร้อง โดยมีเวอร์ชั่นโรงเรียนหญิงล้วน โรงเรียนชายล้วน หรือแม้แต่ทหารบก ทหารเรือก็ใช้คนละเวอร์ชั่น
#แล้วเพลงนี้มาอยู่ในมหรสพได้ยังไง?
- ชาญวิทย์ เกษตรศิริ นักประวัติศาสตร์เคยเล่าไว้ว่า อังกฤษเริ่มเปิดเพลงนี้ ‘หลังฉายหนังจบ’ ในยุคที่กำลังจะต้องทำสงครามกับเยอรมนี (ทศวรรษ 1910) เพื่อปลุกใจคนในชาติ ต่อมาทศวรรษ 1950-1960 ช่วงต้นของควีนอลิซาเบธที่ 2 สงครามสงบลงแล้ว สังคมเริ่มมีเสรีภาพ นักศึกษาก็เริ่มประท้วงเพลงนี้ โดยนั่งบ้าง ลุกเดินออกบ้าง สุดท้ายอังกฤษก็ ‘ยกเลิก’ เปิดเพลงสรรเสริญพระบารมีในโรงภาพยนตร์กันไปในช่วงทศวรรษ 1970 หรือราว 50 ปีมานี้เอง
- สำหรับการเข้ามาของเพลงสรรเสริญในโรงภาพยนตร์ไทย ยังไม่พบการศึกษาทางประวัติศาสตร์อย่างชัดเจน นักวิชาการบางส่วนให้ความเห็นว่าน่าจะเป็นการเลียนแบบมาจากอังกฤษ ปรากฏในโรงภาพยนตร์ไทยมายาวนานตั้งแต่ยังเป็นภาพยนตร์เงียบ ช่วงนั้นอาศัยใช้แตรวงเล่นเพลงสรรเสริญฯ ต่อมาก็เปิดจากแผ่น แต่ทั้งหมดนี้ ‘เปิดหลังหนังจบ’ เช่นเดียวกับอังกฤษ
- ในทางกฎหมาย ประชาไทรวบรวมเอาไว้ว่าปี 2478 (หลังเปลี่ยนแปลงการปกครองได้ 3 ปี) มีการออก พ.ร.ก.ให้บรรเลงเพลงนี้หลังจากภาพยนตร์จบ ต่อมาปี 2485 มีการออก พ.ร.บ.วัฒนธรรมแห่งชาติ ระบุว่า บุคคลต้องเคารพเพลงชาติ เพลงสรรเสริญพระบารมี และเพลงเคารพอื่นๆ ซึ่งบรรเลงในงานทางราชการ งานสังคม หรือในโรงมหรสพ แล้วยังเพิ่มบทลงโทษสำหรับผู้ฝ่าฝืน ปรับ 100 บาท หรือจำคุกไม่เกิน 1 เดือน หรือทั้งจำทั้งปรับ
- จนกระทั่งราวปี 2523 ได้มีการผลิตภาพประกอบเพลงสรรเสริญเป็นครั้งแรก แล้วก็ย้ายมา ‘เปิดก่อนหนังฉาย’ ด้วย
- ช่วงทศวรรษ 2530 อุตสาหกรรมภาพยนตร์เริ่มขยายตัว เราจะเห็น 'MV เพลงสรรเสริญ' ของแต่ละค่ายที่ค่อนข้างหวือหวา แตกต่างกันไปตามคอนเซ็ปท์ของแต่ละที่ โดยภาพจะเล่าเรื่องพระราชกรณียกิจของรัชกาลที่ 9 เป็นสำคัญ
#คดีความเกี่ยวกับเพลงสรรเสริญฯ
- อังกฤษโดนต่อต้านจนยกเลิกการเปิดเพลงนี้ในโรงภาพยนตร์ไป ในไทยเองก็มีคดีความเกี่ยวกับ 'การไม่ยืนในโรงหนัง' อยู่เหมือนกัน เช่น
ปี 2521 : อนุชิต ตะโกนตอนเปิดเพลงว่า “เฮ้ย เปิดเพลงอะไรโว้ย ฟังไม่รู้เรื่อง” ตามข้อมูลที่สืบค้นได้ ไม่แน่ใจว่าใครเป็นคนแจ้งความดำเนินคดี แต่เขาถูกศาลพิพากษาจำคุก 2 ปีในความผิดมาตรา 112
ปี 2551 : โชติศักดิ์และพวก ไม่ยืนขณะเปิดเพลงสรรเสริญ โดยพวกเขาไม่ได้ตะโกนอะไร แต่ถูกประชาชนในโรงภาพยนตร์ที่ไม่พอใจขว้างป็อบคอร์นใส่และแจ้งความดำเนินคดี 112 ช่วงนั้นสังคมเริ่มตื่นตัว เกิดเป็นแคมเปญ 'ไม่ยืนไม่ใช่อาชญากรรม' ท้ายที่สุด อัยการสั่งไม่ฟ้องคดี
- บริบททางสังคมเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ปี 2562 อาจเรียกได้ว่าเป็นจุดคิ๊กออฟที่เราเริ่มเห็นภาพ 'คนยืนบ้าง นั่งบ้าง ในโรงหนัง' ใครใคร่ยืนก็ยืน ใครใคร่นั่งก็นั่ง แม้จะมีเสียงต่อว่าด่าทอกันในโลกโซเชียลบ้างก็ตาม แต่ไม่มีเหตุรุนแรงหรือการดำเนินคดีกับคนจำนวนมาก
- กระทั่งกระแสนี้กลายเป็นกิจกรรม โดยแอดมินเพจ 'นักการมีม' จัดกิจกรรม "Not Stand at Major Cineplex" เมื่อ 31 ส.ค.2562 นัดหมายทางเฟซบุ๊กเชิญชวนให้คนที่ไปชมภาพยนตร์ไม่ลุกขึ้นยืนระหว่างการเปิดเพลงสรรเสริญฯ
- แน่นอน ผลกระทบแม้ไม่ปรากฏเป็นคดีความ แต่ก็มีการพยายามตักเตือนหรือ 'เชิญออก' ของเจ้าหน้าที่โรงภาพยนตร์ หรือมีตำรวจนอกเครื่องแบบมาติดตาม ปรับทัศนคติ แต่ดูเหมือนเสียงของคนธรรมดาจะดังขึ้นมาก เมื่อหญิงสาวคนหนึ่งเล่าในทวิตเตอร์ว่าพนักงานเชิญให้ออกจากโรงหนังเพราะไม่ยืน เกิดการรีทวีตและวิพากษ์วิจารณ์ในวงกว้าง จนเครือเมเจอร์ กรุ๊ปต้องออกแถลงการณ์ (28 ก.ย. 2562) ชี้แจง
"กรณีพบเห็นผู้ไม่ลุกยืนเคารพเพลงสรรเสริญพระบารมี ทางบริษัทจะขอความร่วมมือให้ลุกยืนเพื่อถวายความเคารพ ซึ่งถือปฏิบัติต่อกันมาอย่างยาวนาน แต่จะไม่มีการเชิญลูกค้าออกจากโรงภาพยนตร์แต่ประการใด เพราะบริษัทไม่มีนโยบายให้เชิญลูกค้าออกจากโรงภาพยนตร์ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความสมัครใจของท่านลูกค้า จึงเรียนมาเพื่อความเข้าใจที่ถูกต้อง"
#เพลงที่ ‘ฮอต’ ขึ้นเรื่อยๆ
- ความฮอตของเพลงสรรเสริญฯ ยังคงมีเป็นระยะ เพราะเพลงนี้คงไปผุดโผล่ตามกิจกรรมต่างๆ ของประชาชน ท่ามกลางโลกที่หมุนไปและผู้คนที่เริ่มเปลี่ยนโฉมหน้า-ความคิด กรณีล่าสุดคือคอนเสิร์ตแบล็กพิงก์ที่สนามศุภชลาศัยเมื่อวันที่ 7 ม.ค.ที่ผ่านมา
- อย่างไรก็ดี หากเราดู ‘คู่มือ’ อย่างเป็นทางการว่า เพลงถวายความเคารพต่างๆ นั้นใช้อย่างไร จะพบว่าในราชกิจจานุเบกษา (10 พ.ค.2562) มีระเบียบส่วนราชการในพระองค์ ว่าด้วยการบรรเลงดุริยางค์ในการพระราชพิธีหรือพิธีการ
- พูดง่ายๆ ว่าระเบียบนี้เป็นแนวทางที่รัชกาลที่ 10 ให้ไว้สำหรับงาน ‘ทางการ’ ซึ่งมีรายละเอียดมากมาย แต่ในหัวข้อของการเสด็จพระราชดำเนินไปยังที่ต่างๆ ของพระบรมวงศานุวงศ์นั้น กำหนดให้
>ดุริยางค์บรรเลงเพลง 'สรรเสริญพระบารมี' ทั้งรับและส่งเสด็จ สำหรับ 4 พระองค์เท่านั้น คือ พระมหากษัตริย์, สมเด็จพระราชินี, สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ, สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพฯ
>ดุริยางค์บรรเลงเพลง 'มหาชัย' กับพระบรมวงศานุวงศ์อื่นๆ
=================
#VoiceOnline
#BORNPINKinBANGKOK