ไม่พบผลการค้นหา
สำรวจอุณหภูมิการเมือง จากกรณีจับนักข่าว-ช่างภาพ และแรงกะเพื่อมปมขบวนเสด็จฯ แต่ละฝ่ายกำลังเผชิญกับความยากลำบากอย่างไร และนิรโทษกรรม-ทิศทางคดี 112 จะไปยังไงต่อจากนี้
  • แรงกระเพื่อมรอบทิศ

นับตั้งแต่ 4 ก.พ. ‘ตะวัน’ และเพื่อนในนามกลุ่ม ‘ทะลุวัง’ เผยแพร่คลิปเถียงกับตำรวจผู้ทำการปิดกั้นการจราจรเพื่อขบวนสเด็จ ไม่กี่วันต่อมามันกลายเป็นประเด็นใหญ่ในโซเชียลมีเดีย

เหตุการณ์นี้นำไปสู่แรงกระเพื่อมมากมาย ทั้ง 1.การตื่นตัวของกลุ่มผู้มีแนวคิดอนุรักษนิยมเข้มข้น 2.ความรุนแรงทางกายภาพต่อคนเห็นต่าง 3. hate speech หรือถ้อยคำปลุกความเกลียดชังในหมู่ประชาชน 4. ผลกระทบต่อพรรคก้าวไกล 5. แรงกดดันรัฐบาลเพื่อไทย 6. การผลักดันกฎหมายนิรโทษกรรมที่จะให้รวมมาตรา 112 ที่ยิ่งยากขึ้น 7.การถอนประกันนักเคลื่อนไหว 8.แนวทางพิจารณาคดีของศาลในอนาคต

  • ข้อเท็จจริงพื้นฐาน

ข้อเท็จจริงพื้นฐานเท่าที่รวบรรวมได้ก็คือ ขบวนดังกล่าวเพิ่งทราบกันในภายหลังว่าเป็นขบวนเสด็จของกรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ , ไม่ได้มีการปิดถนนทั้งหมด แต่มีการปิดกั้นรถในจุดทางแยกเพื่อให้ขบวนเคลื่อนผ่านก่อน โดยขบวนจะมีรถนำและรถตามจำนวนหนึ่ง, กลุ่มของตะวันมีการบีบแตรและโต้เถียงกับตำรวจ, บางคลิปที่เผยแพร่รูปจากกล้องวงจรปิดพยายามบอกว่ามีความพยายามขับแทรกในช่วงท้ายขบวน

ตะวันได้ออกมาโพสต์ชี้แจงหลังกลายเป็นกระแสใหญ่ว่า ไม่รู้มาก่อนว่าจะมีขบวนเสด็จ ไม่มีความตั้งใจป่วน ไม่ได้ขวางขบวนตามที่เป็นข่าว

“แต่เพียงขับรถเร็วและไม่ระมัดระวังจริงๆ เพียงเพื่อจะรีบไปให้ถึงอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิตามที่เราจะไปทำธุระ เราทบทวนเหตุการณ์นั้น และคิดได้ว่าการขับรถเร็วและไม่ระมัดระวังแบบนั้นเป็นสิ่งที่ไม่ควรกระทำ จึงได้ขอโทษในส่วนนี้ไป และจะนำไปปรับปรุงเพื่อไม่ให้เกิดขึ้นอีก

“เรายังคงยืนยันในสิทธิและเสรีภาพในการตั้งคำถามแบบที่เราได้ถามไปตามไลฟ์โดยที่เราเรียกตำรวจว่าพี่และตัวเราไม่ได้พูดคำหยาบใดๆ กับตำรวจ มีเพียงการตั้งคำถามเท่านั้น”

  • ถ้อยคำรุนแรง เมล็ดพันธ์ุแห่งความเกลียดชัง

สิ่งที่น่ากังวลเห็นจะเป็นประเด็นความเกลียดชังที่พุ่งทะยาน คำขู่เอาชีวิตกลุ่มของตะวันผุดขึ้นเป็นดอกเห็ดโดยไม่สามารถแยกแยะได้ชัดเจนว่าเป็น IO หรือบุคคลทั่วไป นี่คือสัญญาณไม่ดีสำหรับความแตกต่างทางความคิด บทสนทนากันอย่างมีเหตุผล พื้นที่ปลอดภัยที่หลายฝ่ายพูดถึงจะเกิดขึ้นได้หรือไม่

ตัวอย่างความเห็นใน x และ Facebook

“ผมจะไปยืนทำโพล ว่าสิ่งที่ตะวันทำกับขบวนเสด็จในวันนั้น สมควรโดนส้นตีนไหม 1. สมควรตาย 2. แดกส้นตีนพอ”

“ช่วยกันเก็บตะวันเป็นคนแรก เชือดไก่ให้ลิงดู อาวุธในมือทุกคนเตรียมพร้อมให้ดี”

“ครั้งหน้าเจออีก จับโยนลงสกายวอร์ค ทุกอย่างจบ ทุกคนเห็นด้วยไหม”

“เอาจริงควรเล่นมันทั้งโคตรเหง้าเลยพวกหนักแผ่นดินชิงหมาเกิด”

  • ‘เด็กดื้อ’ กำลังถูกโดดเดี่ยว

ตะวัน และกลุ่มทะลุวัง เป็นกลุ่มเคลื่อนไหวเล็กๆ ที่แสดงออกในประเด็นแหลมคมมาตั้งแต่ปี 2-3 ปีก่อนในลักษณะที่ ‘แหลม’ และ ‘เป็นเอกเทศ’ กิจกรรมขึ้นชื่อคือการทำโพลเกี่ยวกับบทบาทของสถาบันกษัตริย์ ตะวันและแบมเคยถูกคุมขังในเรือนจำด้วยคดีอาญามาตรา 112 จากการจัดกิจกรรมสอบถามความคิดเห็นประชาชนเกี่ยวกับขบวนเสด็จ หน้าห้างสยามพารากอน เมื่อ 8 ก.พ. 2565 มีการอดข้าวประท้วงยาวนานราว 50 วันจึงได้รับกาประกันตัว หลังจากนั้นตะวันยังคงเคลื่อนไหวต่อเนื่อง จนถึงกรณีขบวนเสด็จนี้ ซึ่งมีนักวิเคราะห์ที่ให้นิยามว่า ‘เลยธง’ หรือ ‘แหลมเกินไป’ จนนำไปสู่การถูกทำให้โดดเดี่ยวโดยสังคมและฝ่ายต่างๆ 

ขณะที่แนวร่วมอื่น เช่น พรรคการเมือง นักวิชาการ นักเคลื่อนไหวบางส่วนดูจะมีท่าทีลำบากใจในการอธิบาย ด้านหนึ่งก็เป็นเสรีภาพทางความคิด ในอีกด้านก็เป็นเรื่องความเหมาะสมของการกระทำ ประกอบกับกระแสตีกลับอย่างหนักของสังคม

คำถามคือ เราจะจัดการกับคนรุ่นใหม่ที่มีแนวคิดแนวทางเคลื่อนไหวแบบนี้อย่างมีวุฒิภาวะและไม่โดดเดี่ยวพวกเขาให้ได้รับอันตรายได้อย่างไร

  • ปลุกขวาสุดโต่ง ความรุนแรงทางกายภาพต่อเนื่อง

10 ก.พ.หลังกระแสลุกลาม ตะวันจัดกิจกรรมทำโพลขบวนเสด็จอีกครั้งที่ BTS สยาม โดยระหว่างนั้นตะวันแถลงโดยกำลังจะอธิบายเพื่อขอโทษต่อการกระทำของตนเอง แต่พูดยังไม่ทันจบ กลุ่ม ศปปส.ได้บุกเข้าจู่โจมจะทำร้ายร่างกายตะวัน ขณะที่การ์ดเข้าป้องกันได้ทัน และมีการปะทะชุลมุนกันพักหนึ่ง จนบาดเจ็บทั้งสองฝ่ายรวมทั้งเจ้าหน้าที่ตำรวจที่เข้าควบคุมสถานการณ์ 

อาจกล่าวได้ว่า เสรีภาพในการแสดงออกของคนรุ่นใหม่กลุ่มหนึ่งได้ปลุกพลังฝ่ายขวาที่ซุ่มซ่อนตัวเงียบให้แสดงตัวชัดเจนขึ้นในทุกช่องทาง และโดยเฉพาะกลุ่ม ‘ขวาจัด’ อย่างศูนย์รวมประชาชนปกป้องสถาบัน ( ศปปส.) ซึ่งมีบทบาทในการแจ้งความดำเนินคดีมาตรา 112 กับประชาชนทั่วไปจำนวนมาก

ก่อนหน้านี้ช่วงปี 2563-2564 นพดล พรหมภาสิต ประธานศูนย์ช่วยเหลือด้านกฎหมายผู้ถูกล่วงละเมิด bully ทางสังคม (ศชอ.) ซึ่งที่ปรึกษา ศปปส.เคยจัดตั้งขบวนการรวบรวมข้อมูลผู้แสดงความเห็นต่อสถาบันทั่วประเทศเพื่อส่งให้ บก.ปอท.ดำเนินคดี โดยเมื่อเดือน ก.ค.2564 ศชอ.ยื่นหลักฐานให้ตำรวจถึง 1,275 รายชื่อ

ศปปส. เคยมีกรณีบุกทำร้ายนักกิจกรรมอยู่หลายครั้ง เช่น 5 ธ.ค.65 บุกชก ‘สายน้ำ’ หนึ่งในกลุ่มทะลุวังจนได้รับบาดเจ็บคิ้วแตก, 15 เม.ย.66 อานนท์ กลิ่นแก้ว แกนนำ ศปปส.ขู่ฆ่า ‘หยก’ ผ่านเฟซบุ๊กไลฟ์, กลุ่ม ศปปส.บุกเข้าไปด่าทอและขว้างปากของใส่ ‘บัสบาส’ มงคล ถิระโคตร ซึ่งปีนขึ้นไปนั่งประท้วงบนป้ายสำนักงานศาลอาญาซึ่งอยู่ติดกับพระบรมฉายาลักษณ์ ร.10 

จะเห็นว่าความรุนแรงทางกายภาพเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องระหว่าง ‘กลุ่มเข้มข้น’ ทั้งสองขั้วความคิด ซึ่งมีความสุ่มเสี่ยงที่ความรุนแรงอาจเพิ่มดีกรีกลายเป็นความไม่ปลอดภัยในชีวิตของนักกิจกรรม หรือเป็นไปได้หรือไม่ว่ากลุ่มที่กระทำความรุนแรงอาจขยายตัวในอนาคตหากได้เชื้อเพลิงที่มากพอ คำถามคือ ตำรวจและรัฐบาลจะจัดการกลุ่มที่มีปฏิบัติการความรุนแรงทางกายภาพเหล่านี้อย่างไร

  • นายร้อย จปร.- สว.เคลื่อนไหว

ในอีกด้านหนึ่ง โรงเรียนนายร้อย จปร.จัดกิจกรรม ‘ถวายกำลังใจ ทูลกระหม่อมอาจารย์’ (แม้ต่อมามีการเปลี่ยนชื่อ) มีนัยที่ตอบโต้กับปมขบวนเสด็จชัดเจน แต่หน่วยงานด้านความมั่นคงอื่นยังไม่ปรากฏความเคลื่อนไหว

ส่วน สว.นำโดยนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา ผู้บริหาร ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาก็ร่วมใส่ชุดสีม่วง แสดงพลังถวายกำลัง สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี

นอกจากนี้ในโซเชียลมีเดียยังมีการรณรงค์ให้ข้าราชการสวมชุดสีม่วงในวันแห่งความรักเพื่อถวายความจงรักภักดีด้วย 

  • ก้าวไกลถูกโยงเบื้องหลัง  

พรรคก้าวไกลถูกตั้งสมมติฐานว่ามีความเชื่อมโยงกับปฏิบัติการของตะวันและเพื่อน โดยผู้ที่พูดชัดเจนที่สุดคือ ผบ.ตร.ที่ขอเวลารวบรวมพยานหลักฐานก่อนจะแถลงข่าวถึงเครือข่ายทั้งหมด 

สว.และนักการเมืองหลายคนออกมาแสดงการตำหนิอย่างรุนแรงต่อการกระทำของตะวัน พร้อมตั้งคำถามขยี้เพิ่มเติมกับพรรคก้าวไกล นั่นทำให้ สส.หลายคนของก้าวไกลต้องออกมาอธิบาย ‘ความไม่เชื่อมโยง’ กับกลุ่มทะลุวัง, สส.บางคนสนับสนุนเสรีภาพในการแสดงออกเต็มที่ , สส.บางคนท้วงติงพฤติกรรมของตะวันอย่างชัดเจน ส่วนพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ กล่าวถึงสถานการณ์ที่เกิดขึ้นว่าทั้ง ‘กังวลใจ’ และ ‘เข้าใจ’ และพยายามเสนอให้สังคมตั้งสติร่วมกันหาทางออกอย่างสันติ

พรรคก้าวไกลนับว่านำเสนอเรื่องสถาบันกษัตริย์แหลมคมที่สุดในบรรดาพรรคการเมืองทั้งหมด ผ่านการอภิปรายในสภา และการยื่นเสนอกฎหมายตามกระบวนการนิติบัญญัติปกติ แต่ไม่นานนี้ศาลรัฐธรรมนูญก็เพิ่งวินิจฉัยเรื่องคดีล้มล้างการปกครองฯ ซึ่งมีความเสี่ยงอย่างสูงที่จะเชื่อมไปสู่การยุบพรรค สถานการณ์ที่ยากอยู่แล้วของก้าวไกลยิ่งยากขึ้น เพราะเมื่อมีการเคลื่อนไหวของเยาวชนที่ ‘แหลม’ ออกมา พรรคก็จะตกเป็นเป้าทางการเมืองทันที 

  • สภาร้อน เร่งหารือมาตรฐานขบวนเสด็จ

14 ก.พ.นี้ จะมีการยื่นญัตติด่วนเรื่องทบทวนมาตรฐานรักษาความปลอดภัยขบวนเสด็จ โดย เอกนัฏ พร้อมพันธุ์ เลขาธิการพรรครวมไทยสร้างชาติ เป็นผู้เสนอญัตติ ท่ามกลางเสียงตอบรับทั้งจากพรรคภูมิใจไทย ชาติไทยพัฒนา ยังต้องจับตาว่าญัตติดังกล่าวจะเปลี่ยนแปลงมาตรการถวายความปลอดภัยให้เข้มงวดมากขึ้นเพียงไหน

ด้านพริษฐ์ วัชรสินธุ จากพรรคก้าวไกล หวังว่าญัตติดังกล่าวจะตอบ 2 โจทย์ใหญ่ 1. ออกแบบมาตรการอย่างไรเพื่อหาสมดุลระหว่างการรักษาความปลอดภัยกับความพยายามลดผลกระทบที่อาจมีต่อประชาชนผู้สัญจรไปมา 2.จะบริหารความขัดแย้งในสังคมอย่างไร เพื่อไม่ให้เกิดความรุนแรง

กรณีญัตติเรื่องขบวนเสด็จไม่ได้เกิดขึ้นครั้งแรก เมื่อปี 2563 ระหว่างการชุมนุมใหญ่ของกลุ่มราษฎรหน้าทำเนียบรัฐบาล มีขบวนเสด็จของสมเด็จพระราชินีขับเข้ามาในพื้นที่การชุมนุมโดยไม่มีการแจ้งล่วงหน้า ขบวนเคลื่อนผ่านไปได้อย่างช้าๆ แม้ไม่มีเหตุการณ์ความรุนแรงใด แต่ผลสุดท้ายก็มีผู้ถูกดำเนินคดีคือ เอกชัย หงส์กังวาน และพวกรวม 5 คนที่ปรากฏตัวบริเวณดังกล่าว พวกเขาถูกฟ้องด้วยมาตรา 110 ประทุษร้ายต่อเสรีภาพพระราชินี แต่สุดท้ายศาลพิพากษายกฟ้อง 

ขณะที่สภาในขณะนั้นก็มีการอภิปรายเรื่องนี้กันอย่างกว้างขวางดุเดือด แต่อาจกล่าวได้ว่ากระแสังคมไม่ได้รุนแรงเท่าเวลานี้ มีการนำเสนอญัตติด่วน เรื่องขอให้สภาแต่งตั้งคณะกรรมาธิการศึกษาข้อเท็จจริงในข้อบกพร่องการกำหนดเส้นทางเสด็จของสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินี เมื่อวันที่ 14 ต.ค. 2563 โดย พล.ต.ต.สุพิศาล ภักดีนฤนาถ รองหัวหน้าพรรคก้าวไกล แต่ญัตตินี้ก็ถูกดองไว้และไม่ได้พิจารณาในสภา

  • จับนักข่าว-ช่างภาพ รายงานข่าวพ่นกำแพงวัดพระแก้ว

แม้เรื่องนี้จะเป็นคนละเรื่อง แต่ก็ต่อเนื่องอย่างยิ่งกับปมร้อนขบวนเสด็จ เพราะห่างกัน 4 วัน ตำรวจไปจับนักข่าวประชาไท-ช่างภาพอิสระ ในข้อหาสนับสนุนการทำลายโบราณสถาน จากกรณีไปรายงานข่าวผู้กำลังพ่นสัญลักษณ์อนาคิสต์และตัวเลข 112 พร้อมการขีดฆ่า กำแพงวัดพระแก้ว

เหตุเกิดเมื่อ 28 มี.ค.2566 ผู้พ่นกำแพงถูกจับในที่เกิดเหตุและถูกแจ้งข้อหาทำลายโบราณสถานและได้ประกันตัว ส่วนหมายจับคนรายงานข่าวออกเมื่อ พ.ค.66 โดยเจ้าตัวไม่ทราบเรื่อง ไม่มีเคยมีหมายเรียกรับทราบข้อกล่าวหา แล้วจู่ๆ ก็บุกจับกุมเมื่อ 12 ก.พ.ที่ผ่านมา ทำเอาสะเทือนทั้งวงการ

ในชั้นตำรวจไม่อนุญาตให้ประกันตัว และแยกขังคนละ สน. หลังนอนห้องขังสน.1 คือน รุ่งขึ้นมีการส่งตัวฝากขังต่อศาล ทนายผู้ต้องหาขอไต่สวนคัดค้านการฝากขัง แต่ศาลไม่อนุญาตและได้อนุมัติการฝากขังเป็นเวลา 12 วัน ทนายผู้ต้องหาจึงได้ทำการยื่นประกันตัว วางหลักทรัพย์เป็นเงินสดคนละ 35,000 บาท ศาลอนุญาตให้ประกัน

เกิดคำถามตามมามากมาย เมื่อสื่อทั้ง 2 คนที่ได้รับข้อหาสนับสนุนการกระทำของผู้พ่นกำแพงนั้น เพราะเหตุการณ์ในวันนั้นได้รับการรายงานข่าวหลากหลายช่องทาง อาทิ ช่อง 8, Thairath, เรื่องเล่าเช้านี้, ประชาไท, มติชน, NBT 2HD, TOP NEWS, คมชัดลึก, CH7HD news, VoieTV, The Standard เป็นต้น

  •  รัฐบาลเพื่อไทยถูกตั้งคำถาม 

กรณีของตะวันกับขบวนเสด็จและการปะทะกับกลุ่ม ศปปส. ทำให้ด้านหนึ่งรัฐบาลถูกตั้งคำถามถึงการจัดการความปลอดภัยของพระบรมวงศานุวงศ์ ขณะอีกด้านหนึ่งก็ต้องจัดการความรุนแรงจากการปะทะกันของกลุ่มคน โดยนายกฯ ได้ออกมาขอร้องให้ทุกฝ่ายพูดคุยกันผ่านตัวแทนของตนเองในรัฐสภา และสร้างพื้นที่ปลอดภัยในการสนทนา ไม่ทำร้ายกัน

คำถามต่อรัฐบาลหนักขึ้นเมื่อเกิดกรณีจับนักข่าวประชาไท-ช่างภาพอิสระ เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่าทำไมเหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นในรัฐบาลประชาธิปไตย 

  • นิรโทษกรรมจะไปยังไงต่อ

ยังต้องจับตาดูอย่างใกล้ชิดว่า ผลสะเทือนของเรื่องนี้ที่ดูเหมือนจะปลุกกระแสอนุรักษนิยมให้มีพลังขึ้นอย่างยิ่งนั้น จะส่งผลอย่างไรต่อคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการตราพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม ที่ สส.พรรคเพื่อไทยเสนอญัตติให้จัดตั้งขึ้น เพื่อหาทางออกของแนวทางนิรโทษกรรม

ปัจจุบันมี 3 ร่างกฎหมายหลักที่ดูเหมือนยังหาทางออกร่วมกันไม่ได้สำหรับปมคดี 112 แบ่งเป็น

  1. ร่างของภาคประชาชนที่อยู่ระหว่างรวบรวมรายชื่อ ขณะได้ราว 20,000 รายชื่อเสนอกฎหมายที่จะนิรโทษให้แก่คดีนี้ด้วย
  2. ร่างของพรรคก้าวไกลที่เสนอให้ตั้งคณะกรรมการพิจารณาว่าจะนิรโทษให้คดีใดบ้าง โดยไม่ตัดคดี 112 ออก
  3. ร่างของพรรครวมไทยสร้างชาติที่ไม่รวมคดี 112 โดยเด็ดขาด 

หากพิจารณาแนวโน้มของ สส. สว.ในสภา พรรคร่วมรัฐบาลและพรรคร่วมฝ่ายค้านอย่างประชาธิปัตย์รวมถึง สว.แทบทั้งหมด ‘เสียงแข็ง’ ที่จะไม่นิรโทษกรรม 112 พรรคเพื่อไทยพยายามหาทางออกด้วยกระบวนการพูดคุย ขณะที่พรรคก้าวไกลนั้นอยากให้รวมมาตรา 112 แต่ก็เสนอมาตรการกลางๆ 

ส่วนภาคประชาชนนั้นกดดันอย่างเข้มข้นให้รวมมาตรา 112 เนื่องจากมีคดีความที่กำลังจะพิพากษาอีกหลายสิบคดี และมีผู้ต้องขังคดี 112 ที่ไม่ได้รับการประกันตัวหรือคดีสิ้นสุดแล้วที่อยู่ในเรือนจำตอนนี้ 23 คน ในจำนวนนี้เป็นเยาวชน 2 คน (คดีอื่น 15 คน)

  • ทิศทางคดี 112 ในอนาคต?

หากวิเคราะห์ข้อมูลจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนเราอาจเห็นความเปลี่ยนแปลงบางอย่างในกระบวนการยุติธรรม

คดี 112 มีการแจ้งข้อหากับผู้ต้องหา/จำเลยทั้งหมด 263 คน ผู้ที่ถูกคุมขังมี 23 คน แปลว่าคนจำนวนมากนั้นอยู่นอกเรือนจำ สามารถประกันตัวได้

คดีที่จำเลยต่อสู้คดี และศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาแล้ว 67 คดี แบ่งเป็น 

> ศาลยกฟ้อง 19 คดี

> ศาลลงโทษจำคุกโดยให้รอลงอาญา 9 คดี

> ศาลลงโทษจำคุกโดยไม่รอลงอาญา 30 คดี  (สู้คดีต่อ) 

> ศาลยกฟ้องข้อหามาตรา 112 แต่ลงโทษในข้อหาอื่นๆ 6 คดี

> ศาลยกฟ้องจำเลยบางคน แต่ลงโทษจำคุกจำเลยอีกราย 3 คดี

แม้ไม่อาจกล่าวได้ว่า คดี 112 เป็นคดีปกติปราศจากปัญหา แต่ทิศทางที่ผ่านมาก็ยังพอมองเห็นความหวัง คำถามคือ แรงกระเพื่อมครั้งนี้จะส่งผลต่อทิศทางการพิจารณาคดี ตั้งแต่ชั้น ตำรวจ อัยการ ศาล ให้เข้มข้นขึ้นหรือไม่ สถานการณ์จะยิ่งหนักหน่วงขึ้นหรือไม่สำหรับผู้ที่ถูกดำเนินคดีซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนรุ่นใหม่ หากผลออกมาเป็นเช่นนั้น เสียงวิพากษ์วิจารณ์และแรงเสียดทานทางสังคมก็จะวนกลับไปที่กระบวนการยุติธรรมอีกมหาศาล