วันที่ 10 ส.ค. 2565 ที่รัฐสภา ในการประชุมร่วมกันของรัฐสภา พิจารณาร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ตามที่คณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญได้พิจารณาเสร็จสิ้นแล้วในวาระที่ 2 ซึ่งเป็นการพิจารณารายมาตรา โดยมี ชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา ทำหน้าที่ประธานการประชุม
โดย นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ลุกขึ้นหารือก่อนเข้าสู่ระเบียบวาระพิจารณาร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. โดยเสนอญัตติขอให้มีการตรวจสอบองค์ประชุม โดยระบุว่า เหตุที่จะเสนอญัตตินี้ร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ที่รัฐสภากำลังจะพิจารณาเป็นร่างกฎหมายสำคัญมากต่อประเทศชาติและรัฐสภา ความเห็นขณะนี้เราพิจารณาถึงมาตรา 24 และผ่านมาตรา 23 มีความเห็นแตกต่างมาก หลังจากที่รัฐสภามีมติเห็นชอบกับการแก้ไขเพิ่มเติม การเสนอคำแปรญัตติการสงวนความเห็นให้เป็นแบบระบบจัดสรรปันส่วนผสม แบบบัตรสองใบเป็นสูตรหารด้วย 500 เปลี่ยนไปจากกฎหมายหลัก ที่เป็นระบบคู่ขนาน ก่อนจะพิจารณากฎหมายนี้องค์ประชุมมีความสำคัญ
"ต้องตรวจสอบองค์ประชุมเพื่อให้มีความชัดเจน ในฝ่ายไม่เห็นด้วยคือเสียงข้างน้อยเป็นสิทธิ การปกครองระบอบประชาธิปไตยที่ต้องเคารพเสียงข้างน้อยที่บอกกล่าวไม่เห็นด้วยการกระทำของเสียงข้างมาก เป็นเหตุการณ์ที่ใช้มาตลอด การใช้องค์ประชุมเพื่อไม่ให้องค์ประชุมดำเนินได้เพื่อบอกเสียงข้างมากในการระงับยับยั้งว่ากฎหมายไม่ชอบด้วยกฎหมาย อีกทั้งยังกล่าวล่วงการแบ่งแยกระบอบการปกครอง ทำให้เปลี่ยนแปลงในสภาฯ ทำให้ต้องตรวจสอบเสียงข้างมาก" นพ.ชลน่าน กล่าว
เหตุผลที่เสียงข้างน้อยระงับยับยั้ง เรื่องที่หนึ่งเป็นการใช้อำนาจที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญเปลี่ยนจากระบบหาร 500 มาเป็นหาร 100 ในการคำนวณส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ และขัดต่อรัฐธรรมนูญ
นพ.ชลน่าน กล่าวว่า สิ่งที่พบคือการที่สมาชิกรัฐสภาจะเดินตามกระบวนการพิจารณา เมื่อถึงวาระที่ 3 ตอนนี้สมาชิกรัฐสภากึ่งหนึ่งต้องได้ 365 เสียงขึ้นไปถึงจะผ่านกฎหมายนี้ มีความเป็นไปได้ว่าเสียงข้างมากจะไม่ถึง 365 เสียงคือทำให้กฎหมายตกไป เริ่มต้นกันใหม่ แต่จะเป็นเหตุให้แก้ไขรัฐธรรมนูญกลับไปสู่ระบบเดิมที่ทำลายระบบรัฐสภาอย่างย่อยยับ
ถ้ากลับไปตรงนั้นคงยอมไม่ได้ แม้หาร 500 ผ่านวาระที่ 3 ประธานรัฐสภาส่งให้ กกต. และถ้าส่งเฉพาะ กกต. คงตอบมาแน่ว่าปฏิบัติหน้าที่ไม่ได้ เพราะไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ถ้าตอบมาแค่นี้ไม่มีหน้าที่วินิจฉัยความชอบด้วยรัฐธรรมนูญจะแก้ไขอย่างไร ทั้งนี้ การยื่นศาลรัฐธรรมนูญเป็นการเข้าชื่อว่าขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ โดยศาลรัฐธรรมนูญทักท้วงมาแก้ไข ถ้าประธานส่งช่องทางศาลรัฐธรรมนูญจะดีที่สุดจะทำให้แก้ไขได้ใน 30 วัน
สาระสำคัญของร่าง พ.ร.ป.ตอนนี้ขัดกับรัฐธรรมนูญโดยสิ้นเชิง ถ้าศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าขัดก็จะทำให้ร่างพ.ร.ป.ตกไป ไม่มีกฎหมายใช้ในการเลือกตั้ง ถ้ามีเหตุการณ์ในระยะนี้ก็จะเป็นรัฐบาลรักษาการยาวไม่มีการเลือกตั้ง ถ้า จะออก พ.ร.ก.หรือประกาศกกต.ได้หรือไม่ มีความเห็นสองทาง เชื่อว่า กกต.และรัฐบาลไม่กล้า ออก พ.ร.ก.และประกาศ กกต. เพราะรัฐธรรมนูญให้ใช้กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ การออก พ.ร.ก.มา รัฐธรรมนูญเขียนไว้ใช้เหมือน พ.ร.บ. เป็นกฎหมายระดับ พ.ร.บ. ไม่สามารถใช้เป็น พ.ร.ป. เชื่อว่ารัฐบาลไม่กล้าออก พ.ร.ก. ทำให้รัฐบาลรักษาการยาว
นพ.ชลน่าน ระบุว่า การใช้สิทธิฝ่ายค้านระงับยับยั้งส่วนหนึ่งเสียงข้างมากเห็นชอบด้วย เพื่อให้ได้กฎหมายที่เราแก้ไขมาเป็นไปตามมาตรา 132 ของรัฐธรรมนูญ
"มีความจำเป็นขอให้รัฐสภาช่วยการพิจารณาก่อนพิจารณาจะตรวจสอบองค์ประชุมให้ชัดเจนมีเสียงข้างมากรองรับการพิจารณาหรือไม่ ผมเชื่อว่าส่วนหนึ่งเห็นช่องทางตามรัฐธรรมนูญจะเป็นทางออกที่ดีที่สุดที่จะพิจารณา จึงขออนุญาตประธานตรวจสอบองค์ประชุม" นพ.ชลน่าน กล่าว
แต่ ชินวรณ์ บุณยเกียรติ ส.ส.นครศรีธรรมราช รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ลุกทักท้วงญัตติที่ นพ.ชลน่าน เสนอขอนับองค์ประชุมว่า เป็นญัตติที่มองข้ามขั้นไป ควรดำเนินการพิจารณามาตรา 24/1 และมาตรา 26 ที่คณะกรรมาธิการฯ นำร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.กลับไปทบทวนใหม่ตามมติสูตรคำนวณหารด้วย 500 ตามมาตรา 23 แล้วจึงดำเนินการประชุมไปตามข้อบังคับ ส่วนองค์ประชุมจะครบหรือไม่ให้เป็นไปตามธรรมชาติ
ต่อมา ศุภชัย ใจสมุทร ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ พรรคภูมิใจไทย ทักท้วง นพ.ชลน่าน ว่า เป็นการพูดเหมือนกล่าวร้ายว่าฝ่ายตรงข้ามกระทำสิ่งที่ไม่ชอบธรรม สำหรับพรรคภูมิใจไทยนั้น ก้าวข้ามเรื่องสูตรคำนวณหาร 100 หรือหาร 500 ไปแล้ว และพร้อมยอมรับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญไม่ว่าจะเป็นทางใด
ทำให้ นพ.ชลน่าน ใช้สิทธิพาดพิงว่า ไม่มีเจตนากล่าวหาให้ร้ายสมาชิกที่เข้าร่วมประชุม แต่ฝ่ายเรามีสิทธิของเสียงข้างน้อยในการประชุม อย่าเอาเรื่องลงมติตามใบสั่ง กับเรื่องการนั่งเป็นองค์ประชุมเป็นเรื่องเดียวกัน
"พรรคเพื่อไทยประกาศชัดแล้วว่า ไม่อยากร่วมเป็นองค์ประชุม ไม่ร่วมสังฆกรรม ขอออกจากห้องประชุม ยกเว้นผมคนเดียวที่อยู่ในห้อง เพราะเป็นผู้เสนอญัตติ" นพ.ชลน่าน กล่าว
จากนั้น ชาดา ไทยเศรษฐ์ ส.ส. อุทัยธานี พรรคภูมิใจไทย ได้ตอบโต้ว่า ไม่มีการลงมติตามใบสั่ง เพราะไม่มีใครสั่งเราได้ คำพูดของ นพ.ชลน่าน ไม่ถูกต้อง ถ้าตนพูดว่ามีใบสั่งมาจากแดนไกล ก็คงถูกหาว่าก้าวร้าวอีก อุดมการณ์เป็นเรื่องของแต่ละคน ไม่ควรกล่าวร้ายผู้ที่เห็นต่าง ตนเคยพูดแล้วว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญนี้จะมีปัญหา แต่เมื่อถึงตอนนี้เราต้องดำเนินการให้จบ พรรคภูมิใจไทยนั้นพร้อมสู้ทั้งสูตรหาร 100 และหาร 500 เพราะทุกอย่างอยู่ที่ประชาชน
"ผมเป็นนักกีฬาที่ไม่เลือกกติกา ได้ทุกระบบ แต่ความวุ่นวายที่เกิดขึ้นนี้ เป็นเพราะเราให้นักกีฬามาเลือกกติกา" ชาดา กล่าว
'ชวน' ย้ำถ้าอยู่ไม่ครบ ปิดประชุมทันที
จากนั้น ชวน ได้สั่งลงมติว่าที่ประชุมเห็นด้วยกับที่ นพ.ชลน่าน เสนอให้ตรวจสอบองค์ประชุมก่อนการพิจารณาหรือไม่ เพราะเป็นการเสนอญัตติที่อยู่นอกเหนือแนวปฏิบัติของสภา
"กฎหมายหลังจากนี้ ที่กรรมาธิการพิจารณาไปแล้วตั้งแต่มาตราแรก ถ้าองค์ประชุมไม่ครบ ผมปิดประชุม ไม่รอ 53 นาที ถ้าตรวจสอบแล้วเป็นเจตนาที่ต้องการปิดประชุม ก็เป็นไปตามนั้น เป็นสิทธิโดยชอบตามกฎหมาย" ชวน กล่าว
จากนั้น ชวน ได้สั่งลงมติว่าที่ประชุมเห็นด้วยกับที่ นพ.ชลน่าน เสนอให้ตรวจสอบองค์ประชุมก่อนการพิจารณาหรือไม่ แต่ นพ.ชลน่าน ย้ำว่า ญัตติที่ตนเสนอให้ตรวจสอบองค์ประชุมเป็นธรรมเนียมปฏิบัติของรัฐสภาอยู่แล้ว แต่ประธานฯ กลับนำมาถามเป็นมติเหมือนญัตติทั่วไป ตนเห็นว่าไม่ชอบด้วยข้อบังคับ ไม่จำเป็นต้องขอความเห็น
ชวน อธิบายว่า การตรวจสอบองค์ประชุมเป็นเพียงหลักการ ไม่ใช้แนวปฏิบัติ ในเมื่อมีสมาชิกไม่เห็นด้วยต่อญัตติที่ นพ.ชลน่าน เสนอ จึงจำเป็นต้องเปิดให้มีการลงมติ
รัฐสภายังไม่ล่ม! เดินหน้าลุยต่อแต่ยังเสี่ยงล่ม
จากนั้นตรวจสอบองค์ประชุมมีสมาชิกอยู่ 376 คน โดยที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภามีมติ 283 ต่อ 27 เสียง
ในที่สุดที่ประชุมมีมติเสียงข้างมาก 283 ต่อ 27 เสียง ไม่เห็นด้วยกับญัตติที่ นพ.ชลน่าน เสนอให้ตรวจสอบองค์ประชุม จากผู้แสดงตนเป็นองค์ประชุม 374 คน
จากนั้น ชวน ได้ได้ดำเนินการประชุมเข้าสู่วาระพิจารณาร่าง พ.ร.ป.การเลือกตั้ง ส.ส. หลัง กมธ.ได้ถอนกลับไปแก้ไขเพิ่มเติมให้สอดคล้องกับสูตรคำนวณแบบหาร 500 ซึ่ง ชวน ได้ย้ำว่า นับตั้งแต่มาตรานี้เป็นต้นไป หากมีการลงมติ แล้วองค์ประชุมไม่ครบ ตนจะสั่งปิดประชุมทันที
'ชวน' แจ้งก่อนประชุม มีสมาชิกลาเพียบ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนการประชุมร่วมกันของรัฐสภารัฐสภา เพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) กำหนดระยะเวลาดำเนินงานในกระบวนการยุติธรรม พ.ศ. …. ชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา ที่ทำหน้าที่เป็นประธานการประชุม ได้แจ้งต่อที่ประชุมว่า ขณะนี้ มีสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ลงชื่อ 152 คน และ ส.ส. ลงชื่อ 216 คน รวม 368 คน ซึ่งเกินกึ่งหนึ่ง 364คน จึงถือว่าครบองค์ประชุม
นอกจากนี้ นายชวน ยังได้แจ้งที่ประชุมว่า วันที่มีสมาชิกลาพิเศษจำนวน 32 คน ลาเพราะติดเชื้อโควิด-19 จำนวน 4 คน และลาที่ไม่ได้เจ็บป่วยจำนวน 28 คน เหนือสิ่งอื่นใดต้องขอขอบคุณเพื่อนสมาชิกที่กรุณามาประชุม
จากนั้น ที่ประชุมได้พิจารณามาตราของร่าง พ.ร.บ.กำหนดระยะเวลาดำเนินงานในกระบวนการยุติธรรม พ.ศ.เป็นไปอย่างราบรื่นและลงมติเห็นชอบในวาระที่ 3 ด้วยคะแนนเสียงเห็นด้วย 442 ไม่เห็นด้วย 6 เสียง งดออกเสียง 2 เสียง และไม่ลงคะแนน 6 เสียงถือว่าที่ประชุมเห็นชอบกับร่าง พ.ร.บ.ฯ ฉบับนี้
ข่าวที่เกี่ยวข้อง