ไม่พบผลการค้นหา
ในอดีตพระจักรพรรดิญี่ปุ่น ทรงครอบครองพระราชทรัพย์มากมายอันยากจะประเมิน แต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ทรัพย์สินราชวงศ์กลายเป็นของแผ่นดิน ปัจจุบันพระจักรพรรดิแทบไร้ "พระราชทรัพย์ส่วนพระองค์"

พระจักรพรรดิญี่ปุ่นมีประวัติศาสตร์การสืบราชสมบัติภายใต้ 'ราชวงศ์' เดียวมาต่อเนื่องยาวนานที่สุดในโลก นับตั้งแต่รัชสมัยพระจักรพรรดิจินมุ โดยสมเด็จพระจักรพรรดินะรุฮิโตะ ทรงเป็นพระจักรพรรดิลำดับที่ 126 ในสายการสืบสันตติวงศ์

ตลอดการสืบรัชสมัยของราชวงศ์ญี่ปุ่นที่มีอายุยืนยาวกว่า 2,000 ปี พระราชสถานะของ 'พระจักรพรรดิญี่ปุ่น' ถูกเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย จากบทบาท 'ผู้ปกครอง' ในอดีต ทว่า ปัจจุบันสถานะของพระจักรพรรดิลดลงเหลือเพียง 'บทบาทเชิงสัญลักษณ์' หลังญี่ปุ่นพ่ายแพ้สงครามโลกครั้งที่สองเมื่อพ.ศ. 2488 รัฐธรรมนูญญี่ปุ่นที่สหรัฐฯ จัดทำขึ้น แม้ยังคงรักษาสถาบันกษัตริย์ญี่ปุ่นไว้ แต่พระจักรพรรดิหมดสิ้นพระราชอำนาจทางการเมือง

ราชวงศ์ญี่ปุ่น


ทรัพย์สินมิอาจประเมินค่า

ก่อนสงครามโลกครั้งที่สอง ราชวงศ์ญี่ปุ่นถือได้ว่าเป็นหนึ่งในราชวงศ์ที่ร่ำรวยที่สุดในโลก พระจักรพรรดินับเป็นเจ้าแผ่นดินผู้ครองทรัพย์สินมิอาจประเมินค่าแทบทุกอย่างใต้หล้าแดนอาทิตย์อุทัย ขณะนั้น ยังไม่มีการแยกระหว่าง 'ทรัพย์สินพระจักรพรรดิ' (The Imperial Crown Estates) ซึ่งเป็นทรัพย์สินแผ่นดิน กับ 'ทรัพย์สินส่วนพระองค์'

กระทั่ง พ.ศ. 2454 'จักรวรรดิญี่ปุ่น' ตรากฎหมายพระราชทรัพย์ที่แบ่งแยกระหว่าง ‘ทรัพย์สินพระจักรพรรดิ’ กับ 'ทรัพย์สินส่วนพระองค์' ของพระจักรพรรดิและสมาชิกราชวงศ์ โดยคณะบุคคลของสำนักพระราชวังญี่ปุ่นรับหน้าที่บริหาร แต่อย่างไรก็ตาม พระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ของสมาชิกระดับสูงในราชวงศ์ญี่ปุ่น อาทิ พระจักรพรรดินี, มกุฎราชกุมาร, เจ้าหญิง แม้แต่พระราชปนัดดา ก็ได้รับการยกเว้นไม่ต้องเสียภาษี

ปี 2464 หรือตรงกับสมัยรัชกาลที่ 6 ญี่ปุ่นเผชิญสภาพปัญหาทางเศรษฐกิจ The Imperial Crown Estates จำเป็นต้องขายที่ดินราว 289,259 เอเคอร์ หรือราว 731,619 ไร่ หรือราว 26% ของที่ดินที่มีทั้งหมด นอกจากนั้นผลกระทบด้านเศรษฐกิจยังทำให้ ราชสำนักญี่ปุ่นจำต้องขายหรือโอน ปราสาทราชวังหลายแห่ง ให้ตกเป็นของรัฐบาลท้องถิ่นและภาคเอกชน อาทิ ปราสาทนาโกยา รวมถึงวิลล่าซึ่งเป็นสมบัติของพระจักรพรรดิอีก 6 หลัง

ช่วงญี่ปุ่นเข้าสู่สงครามโลกครั้งที่สอง ประเมินว่าพระราชทรัพย์ของจักรพรรดิโชวะ หรือสมเด็จพระจักรพรรดิฮิโรฮิโตะ อาจมีมูลค่าไม่น้อยกว่า 650 ล้านเยน (เทียบเท่ามูลค่าในปัจจุบันราว 603,500 ล้านบาท) โดยช่วงรัชสมัยของพระองค์ พระราชทรัพย์สมบัติมีมูลค่าเพิ่มขึ้นหลายร้อยล้านเยน จากการลงทุนในภาคธุรกิจต่างๆ รวมถึงลงทุนในสถาบันการเงินรายใหญ่ของญี่ปุ่น

ราชวงศ์ญี่ปุ่น


‘พระราชทรัพย์’ สู่ ‘สมบัติแผ่นดิน’

หลังพ่ายแพ้สงครามโลกครั้งที่สอง ทรัพย์สมบัติของราชวงศ์ถูกยึดครองโดยฝ่ายสัมพันธมิตร การปฏิรูปรัฐธรรมนูญส่งผลให้ราชวงศ์ต้องขายหรือสละทรัพย์สินเหล่านั้นให้กับเอกชนหรือรัฐบาล รวมถึงต้องลดเจ้าหน้าที่ในราชสำนักจาก 6,000 คน เหลือไม่เกิน 1,000 คน ที่ดินและพระราชสมบัติส่วนพระองค์ของพระจักรพรรดิ ส่วนใหญ่ถูกโอนไปเป็นกรรมสิทธิ์ของรัฐหรือเอกชน

มาตรา 8 หมวด 1 ของ รัฐธรรมนูญญี่ปุ่น ระบุว่า การโอนทรัพย์สินให้แก่ราชสำนัก หรือการที่ราชสำนักรับโอนทรัพย์สิน หรือมอบทรัพย์สินโดยเสน่หา ต้องเป็นไปตามความเห็นชอบของรัฐสภา

การบริหารทรัพย์สินส่วนพระจักรพรรดิญี่ปุ่น รัฐธรรมนูญระบุชัดเจนว่าทรงไม่มีทรัพย์สิน พระองค์และสมาชิกราชวงศ์รับเงินทูลเกล้าฯ ถวายจากรัฐบาล เพื่อใช้ในการประกอบราชกรณียกิจ และสำหรับการครองชีพการกินอยู่และค่าใช้จ่ายต่างๆ

สมาชิกราชวงศ์พึ่งพางบประมาณของรัฐทั้งสิ้น ทั้งยังมีการกำหนดเพดานรับหรือให้บริจาคอย่างชัดเจน ทั้งหมดนี้อยู่ภายใต้การบริหารของ 'สภาเศรษฐกิจ' ซึ่งประกอบด้วยสมาชิก 8 คน นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีกระทรวงการคลัง ประธานราชมนตรีสภา ประธานสภาผู้แทนราษฎรญี่ปุ่น และผู้แทนราชสำนัก มีสิทธิจัดสรรเพิ่มหรือลดเงินถวายรายปี รวมถึงมีอำนาจให้เงินค่าครองชีพก้อนสุดท้ายแก่สมาชิกราชวงศ์ที่สละฐานันดรศักดิ์

ราชวงศ์ญี่ปุ่น

ในปีงบประมาณ 2562 รัฐสภาญี่ปุ่นอนุมัติงบประมาณให้กับราชสำนัก รวมทั้งสิ้น 24,000 ล้านเยน หรือ เกือบ 7,000 ล้านบาท แบ่งออกเป็น 11,700 ล้านเยน สำหรับเป็นค่าใช่จ่ายเพื่อครองชีพของสมาชิกราชวงศ์ 324 ล้านเยนสำหรับค่าใช้จ่ายในสำนักพระราชวัง และค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับกิจการในวังอีก 11,100 ล้านเยน ซึ่งจะถูกใช้สำหรับการปฏิบัติพระราชกรณียกิจของสมาชิกราชวงศ์

แม้ไม่อาจประเมินพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ของสมเด็จพระจักรพรรดินะรุฮิโตะ องค์ปัจจุบันได้ แต่เมื่อกลางเดือน เม.ย. ที่ผ่านมา สำนักพระราชวังอิมพีเรียลประกาศว่า พระจักรพรรดิทรงพระราชทานเงินจำนวน 100 ล้านเยน หรือราว 30 ล้านบาท ให้กับองค์กรการกุศลสองแห่ง ซึ่งตามกฎหมาย พระจักรพรรดิและสมาชิกราชวงศ์ได้รับการยกเว้นภาษี แต่ยังมีหน้าที่ต้องจ่ายภาษีมรดกและภาษีประเภทอื่นๆ ว่ากันว่า คราวที่พระจักรพรรดิโชวะสวรรคต สมเด็จพระจักรพรรดิหลวงอะกิฮิโตะ ทรงเสียภาษีมรดกไปแล้ว 428 ล้านเยน จากการที่ได้รับมรดกทรัพย์สินจากพระราชบิดาเป็นเงินสด หุ้น และพันธบัตรลงทุนต่างๆ

ที่มา : ibtimes , kunaicho, kyodonews, japantoday, penntoday