ไม่พบผลการค้นหา
คุยกับ 'แกนนำมวลชนอาสา' มดงานภาคสนาม คนเบื้องหลังผู้ชุมนุมและเบื้องหน้าแกนนำ

"เขามาแล้วบอกว่าพี่ ผมอยากจะมาทำงานกับพี่ เราถามกลับว่าแล้วทำไมอยากเข้ามา เขาบอกอยากทดแทนสิ่งที่ทำพลาดไป มองว่าถ้ามาทำตรงนี้เหมือนได้อุทิศกับสิ่งที่ทำพลาดไปและเป็นการไถ่โทษ เพราะน้องบางคนเลือกบางพรรคที่เป็นรัฐบาล น้องบางคนไม่เคยไปเลือกตั้งเลย เขาบอกว่าผมรู้สึกผิดเลยขอมาทำตรงนี้"

ปิยรัฐ จงเทพ หรือ โตโต้ ผู้ร่วมก่อตั้งกลุ่มมวลชนอาสา เล่าถึงบรรยากาศการตื่นรู้ของกลุ่มคนรุ่นใหม่ ที่ขออาสาเข้ามาปกป้องมวลชนผู้ต่อสู้กับเผด็จการ ในห้วงยามการเคลื่อนไหวของกลุ่มเยาวชน นักเรียน นิสิต นักศึกษา และประชาชน ที่ลุกฮือออกมาต่อต้านรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

นับตั้งแต่ 'กลุ่มเยาวชนปลดแอก' หรือ 'แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม' จนถึงการผนึกกำลังจัดชุมนุมใหญ่ในนาม 'คณะราษฎร 2563' วันที่ 14 ต.ค. บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย แน่นอนว่าผู้คนมักจดจำกลุ่มแกนนำที่ผลัดเปลี่ยนกันขึ้นเวทีฉายแวว 'ดาวปราศรัย' 

แต่ยังมีอีก 'มดงาน' ที่เป็นฟันเฟืองสำคัญของการชุมนุม ผู้เป็นทั้งแนวหน้าและเบื้องหลัง ที่สวมปลอกสีเขียวเรืองแสง สลักอักษร 'มวลชนอาสา' หรือ 'WEvolunteer' ที่คอยอำนวยความสะดวกและป้องกันภัยอันตรายยามฉุกเฉิน ทั้งจากมือที่สามหรือเจ้าหน้าที่รัฐ

วอยซ์ออนไลน์ พูดคุยกับ 'โตโต้ -ปิยรัฐ จงเทพ' แกนนำมวลชนอาสา อดีตลูกพระจอมผู้ทิ้งไมค์ปราศรัยบนเวที สลัดหมวกที่สวมใส่กลับมาสวมปลอกแขนคอยยืนระวังหลังและเป็นพี่เลี้ยงกลุ่มผู้ชุมนุม

จากคนอยากเลือกตั้งสู่ปลดแอก

ปิยรัฐ จงเทพ คนอยากเลือกตั้ง ตำรวจ 0180523_Sek_06.jpg
  • บทบาทแกนนำคนอยากเลือกตั้ง

"เริ่มต้นจากกลุ่มสถาบันพระจอมเกล้า สถาบันเก่าที่ผมจบมาซึ่งรวมกับเด็กอาชีวะ เรารวมกันตั้งแต่ปี 2556 ซึ่งสมัยนั้นคือการเคลื่อนไหว กปปส. แต่กลุ่มเราไม่เคลื่อนไหวด้วย เพราะเห็นต่างกับ กปปส. ในกรณีต้องการปิดคูหาเลือกตั้ง วันที่ 2 กุมภาพันธุ์ 2557 เรามองว่ามันไม่ใช่แนวทางประชาธิปไตย จึงออกมาแสดงพลังจนกระทั่งเกิดกลุ่มลูกพระจอมปกป้องประชาธิปไตย" เรื่อยมาจนเป็น 'มวลชนอาสา'

ล่าสุดกลุ่มมวลชนอาสา ได้หวนย้อนคืนการทำกิจกรรมอีกครั้ง ในวันที่ 18 ก.ค. 2563 ซึ่งเป็นการเคลื่อนไหวครั้งใหญ่หลังรัฐประหารของกลุ่ม ‘เยาวชนปลดแอก’ ที่บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย แต่การกลับมาวันนั้นมีเพียงกลุ่มผู้ร่วมก่อตั้ง โดยไม่มีคนรุ่นใหม่เข้ามา เขาจึงมองว่าต้องดึงรุ่นน้องเข้ามาสู่บ้านหลังนี้ เพื่อขยายฐานมวลชนอาสา จึงมีการตกผลึกร่วมกันกับผองเพื่อนร่วมอุดมการณ์ว่า การทำงานหลังจากนี้คือทำงานอาสาสมัครจริงๆ

'สันติอสิงหา' โมเดลใหม่การ์ดชุมนุม

10 ปีสำหรับประสบการณ์เคลื่อนไหวทางการเมืองที่ผ่านมา ภาพลักษณ์ของ ‘การ์ด’ ชุมนุมมักถูกจดจำด้วยความรุนแรง โตโต้และเพื่อนจึงถอดบทเรียนจะทำอย่างไรกับระบบมวลชนอาสาผ่านหลัก 'สันติอสิงหา' เพื่อจัดแจงดูแลกลุ่มมวลชน ตั้งแต่จราจรตลอดจนสถานการณ์ฉุกเฉิน

"มันเป็นระบบที่ไม่เคยมีโมเดลที่ไหน แม้กระทั่งในโลกนี้ เราเรียนรู้จากการลองผิดลองถูก หลังทำงานการเมืองภาคสนาม 10 ปี ตั้งแต่ปี 2552 จึงเกิดระบบสายระบบระบบหน่วย โดยความรับผิดชอบของแต่ละหน่วย จะขึ้นตรงกับกองบัญชาการ"

"มันอาจฟังดูน่ากลัวแต่ของเราคือการทำงานดูแลความสงบเรียบร้อยและปราศจากอาวุธอย่างแท้จริง จะไม่ใช้ความรุนแรง ไม่ใช้ Hate Speech (วาทกรรมสร้างความเกลียดชัง) ใช้ความสุภาพมีมารยาทต่อกัน ดูแลพี่น้องผู้ชุมนุมดุจญาติ" โตโต้ บอกเล่าถึงระบบมวลชนเพื่อมวลชน 

ชุมนุม เยาวชนปลดแอก อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ภาณุพงศ์
  • ชุมนุมเยาวชนปลดแอก

ที่ผ่านมาการชุมนุมทางการเมือง อีกหนึ่งยุทธวิธีที่มักพบเจออยู่เสมอคือการ 'แฝงตัว' เป็นการ์ดรักษาความปลอดภัย ไม่ว่าจะเป็นจากกลุ่มคนขั้วอุดมการณ์ต่างกันหรือแม้กระทั่งการหาข่าวจากฝ่ายรัฐ ซึ่งการเคลื่อนไหวในห้วงเวลานี้ก็ประสบเจอเช่นเดียวกัน

"เราจะขอประวัติการศึกษา ชื่อ-เฟซบุ๊ก-ข้อมูลส่วนตัว รวมถึงการเคลื่อนไหวในอดีต เราจะนำประวัติเหล่านั้นไปสืบค้นเท่าที่จะหาได้ ถ้ายังไม่เคยเข้าร่วมชุมนุมจะจัดไว้อีกกลุ่ม ถ้าเคยแล้วก็จะเรียกมาสัมภาษณ์ อบรมทำงานก่อนลองปฏิบัติงานจริง"

"ทำแบบนี้มาแล้ว 5 ครั้ง ตอนนี้มีสมาชิกเมมเบอร์ประมาณ 150 คน ซึ่งเราต้องการจริงๆมากกว่านี้ แต่ด้วยสถานการณ์ที่ต้องคัดกรองพิเศษ อย่างที่มีข่าวลือเรื่องของการแอบแฝงเข้ามา ทำให้ต้องเพิ่มมาตรการเข้มงวดในการคัดกรองมากขึ้น"

อย่างไรก็ตาม โตโต้ยอมรับว่ามวลชนอาสาไม่มีกำลังเพียงพอสำหรับดูแลสถานการณ์ฉุกเฉินได้ แต่ถ้าผู้ชุมนุมรับผิดชอบร่วมกัน ทั้งเรื่องขยะหรือสอดส่องมือที่สามร่วมกันก็สามารถแบ่งเบาภาระร่วมกันได้ พร้อมรับว่าการทำงานไม่สามารถตอบโจทย์ได้ทั้งหมด หากมีชุมนุมข้ามวันข้ามคืน

จึงต้องวางแผนด้วยการแบ่งเวลาเป็นกะ ที่ผ่านมาหลายคนไม่ได้หลับนอนแต่เชื่อว่าผู้คนที่เข้ามาอาสามาสมัครต่างยอมรับได้ในจุดนี้ สำหรับแผนสำรองขณะนี้ ได้ประสานความร่วมมือกับทีมการ์ดของธรรมศาสตร์ที่มีประมาณ 60 คน

"ความรุนแรงที่เกิดขึ้นต้องไม่มาจากพวกเรา ซึ่งภาพลักษณ์ (การ์ด) ในอดีตอาจจะดูรุนแรง ผมต้องการภาพที่เป็นมิตรกับทุกฝ่าย ถ้ามีความรุนแรงเกิดขึ้นสิ่งหนึ่งที่ทำได้มากสุดคือปกป้องมวลชนให้ปลอดภัย หรือไปถึงจุดที่รักษาพยาบาลได้รวดเร็วที่สุด หน้าที่ของเรามีเท่านี้"

"ส่วนสันติวิธีอหิงสา จะนำไปสู้ชัยชนะหรือไม่ ผมคิดว่าประวัติศาสตร์การเมืองของโลกใบนี้ ก็ชัดเจนแล้วว่า แม้แต่สงครามรบราฆ่าฟันกันก็จบกันด้วยโต๊ะเจรจาหรือสันติวิธี ผมคิดว่าการต่อสู้และความสวยงาม คือความสงบไม่ใช่ความรุนแรง"

ไถ่บาป - คนเลือกผิดขอแก้ตัว

ธรรมศาสตร์ แฟลชม็อบ สนามหลวง เสื้อแดง 12445_7272447504464733107_n.jpg
  • ชุมนุม 19 ก.ย.

หลังประกาศรับสมัครอาสา โตโต้เล่าว่าผู้คนมากหน้าหลากหลายวัยที่เข้ามาสมัครจำนวนมาก แต่ที่น่าสนใจคือคนรุ่นใหม่ที่มีโอกาสเลือกตั้งครั้งแรกแล้ว สารภาพต่อเขาว่า "ขอทำงานเพราะเลือกข้างผิด"

"ส่วนใหญ่ที่เจอเป็นน้องๆ เพิ่งเลือกตั้งแต่ไม่ได้เลือกฝั่งประชาธิปไตย มีเยอะด้วยที่น้องพวกนี้ เพิ่งเคยรู้ว่าการเมืองเป็นอย่างไร ฝ่ายประชาธิปไตยหมายความว่าอย่างไร เขามาแล้วบอกว่าพี่ ผมอยากจะมาทำงานกับพี่ เลยถามกลับว่าแล้วทำไมอยากมา เขาบอกอยากทดแทนสิ่งที่เขาทำพลาดไป"

"เขามองว่าถ้าเขามาทำตรงนี้เหมือนเขาได้ไถ่โทษ เพราะน้องบางคนเลือกพรรคที่เป็นรัฐบาลตอนนี้ น้องบางคนไม่เคยไปเลือกตั้งเลย เขาบอกว่าผมรู้สึกผิดเลยขอมาทำตรงนี้" ผู้คัดกรองมวลชนอาสา เล่าด้วยสีหน้าภูมิใจต่อการตื่นรู้ของเด็กรุ่นใหม่

"ผมนิยามการต่อสู้ครั้งนี้ว่า เป็นการต่อสู้ของสิ่งใหม่ เพื่อเปลี่ยนแปลงสิ่งเก่า สิ่งใหม่ของผมจะไม่ใช้คำว่าคนรุ่นใหม่ เพราะสิ่งใหม่คือคนที่มีความคิดใหม่ๆ คนที่อยากเปลี่ยนแปลงอะไรก็ตามแต่ที่มันล้าหลัง"

"การต่อสู้ครั้งนี้มันเลยผนวกระหว่างคนรุ่นใหม่กับคนรุ่นก่อนแต่มีความคิดใหม่ๆ และการต่อสู้ครั้งนี้เป็นสัจธรรมของโลกใบนี้ ไม่มีอะไรยืนยงถาวรได้ ผมเชื่อว่าการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้หลีกเลี่ยงไม่ได้ และจะต้องเกิดขึ้นในเร็ววันนี้"

อนึ่งในสมัยปี 2552 ช่วงการเคลื่อนไหวของแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) โตโต้เป็นหนึ่งในเด็กหนุ่มจากแดนอีสานที่เข้ามาเรียนรู้และซึมซับการต่อสู้ของคนเสื้อแดง

ต่อมาเมื่อย่างวัยมหา'ลัย เขาร่วมกับเพื่อนก่อตั้งเพจ 'ANTI SOTUS' ที่มีจุดประสงค์ในการปฏิรูปการรับน้องในรั้วสถาบันการศึกษา จนเป็นที่ฮือฮาในช่วงปี 2554-2556

เขาได้เคลื่อนไหวทางการเมืองอย่างเต็มตัวหลังรัฐประหาร 2557 ไม่ว่าจะเป็นการเรียกร้องปล่อย 14 นักศึกษา ฉีกบัตรประชามติรับร่าง รธน. แกนนำคนอยากเลือกตั้ง รวมถึงเป็นผู้สมัคร ส.ส.พรรคอนาคตใหม่ แม้จะไม่ได้เข้าสภาแต่เขายังมั่นถืออุดมการณ์ เพื่อทวงคืนประชาธิปไตยจนถึงปัจจุบัน

สัมภาษณ์โตโต้ ปิยรัตน์

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง



พิชิตศักดิ์ แก่นนาคำ
ผู้สื่อข่าว Voice Online
91Article
1Video
0Blog