ไม่พบผลการค้นหา
เสวนา ครป. คลับเฮ้าส์ ร่วมชำแหละขบวนการค้ามนุษย์โรฮิงญาคึกคัก เสนอให้สัญชาติเปิดรับแรงงานเพื่อนบ้านขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศเนื่องจากทำงานที่คนไทยขาดแคลน เรียกร้องรัฐบาลตั้งกรรมการพิเศษดำเนินคดีขบวนการค้ามนุษย์ต่อให้สิ้นซาก กันพล.ต.ต.ปวีณ เป็นพยานและขอข้อมูลเพิ่มเติม จี้รัฐทำเป็นวาระแห่งชาติ

วานนี้ คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย(ครป.) ร่วมกับสถาบันสังคมประชาธิปไตย จัดเสวนา เรื่อง “โรฮิงญา/การค้ามนุษย์/อาชญากรรมข้ามชาติ” ผ่านแอปพลิเคชั่น Clubhouse โดยมีผู้ร่วมเสวนาคือ ฐปณีย์ เอียดศรีไชย บรรณาธิการบริหาร The Reporters , เมธา มาสขาว เลขาธิการคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย(ครป.) พ.ต.อ.วิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร อดีตรองผู้บังคับการจเรตำรวจ เลขาธิการสถาบันเพื่อการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม(สป.ยธ.) , สมพงค์ สระแก้ว ผู้อำนวยการมูลนิธิเครือข่ายส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงาน (LPN) และปรีดา เตียสุวรรณ์ ที่ปรึกษาเครือข่ายธุรกิจเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อม (SVN-Thailand) ดำเนินการเสวนาโดย วรภัทร วีรพัฒนคุปต์ กรรมการคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.)

วรภัทร วีรพัฒนคุปต์ เปิดประเด็นว่า จากการอภิปรายของรังสิมันต์ โรม สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคก้าวไกล ได้ทำให้ประเด็นเรื่องขบวนการค้ามนุษย์ โดยเฉพาะชาวโรฮิงญา ได้รับการสนใจจากสังคมอีกครั้งในมุมกลับ จากที่เมื่อประมาณ 7 ปีก่อน คนที่พูดเรื่องขบวนการค้ามนุษย์ในไทยจะถูกกล่าวหาว่าทำลายภาพลักษณ์ของประเทศ คนที่พูดเรื่องโรฮิงญามักจะถูกประชดประชัน แต่มาวันนี้สังคมตื่นตัวและใส่ใจต่อปัญหาเหล่านี้มากขึ้น ทั้งนี้ตนในฐานะทีมจัดทำรายงานสถานการณ์สิทธิมนุษยชนปี 2564 ของสมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน(สสส.) ซึ่งในรายงานดังกล่าว มีการกล่าวถึงปัญหาที่ประเทศไทยถูกลดอันอับความจริงจังในการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ลงมาอยู่ที่ระดับ Tier2 Watch List นั้นไม่ใช่เพียงปัญหาเรื่องมนุษยธรรมที่ไกลจากชีวิตประจำวันพวกเรา แต่มันหมายถึงความน่าเชื่อถือของประเทศไทยในเวทีโลก และส่งผลกระทบต่อการค้าส่งออกระหว่างประเทศของเราด้วย

สมพงค์ สระแก้ว กล่าวว่า ประเทศไทยมีสถานการณ์ด้านการค้ามนุษย์อยู่ในระดับหนักหน่วงมาตั้งแต่ปี 2557 ซึ่งลำดับที่เราถูกจัดโดยสหรัฐอเมริกาก็อยู่ที่ Tier 3 (ประเทศที่ไม่สนับสนุน ปฎิบัติ ดำเนินการสอดคล้องกับมาตรฐานขั้นต่ำ ตามกฎหมายคุ้มครองเหยื่อการค้ามนุษย์ หรือ Trafficking Victims Protection Act: TVPA และไม่มีความพยายามแก้ไข) ทีนี้ในประเด็นส่วนโรฮิงญา ต้องเข้าใจว่า ชาวโรฮิงญาในรัฐยะไข่ของพม่า เป็นชนกลุ่มที่ไม่ได้ถูกยอมรับว่าเป็นชนกลุ่มน้อยที่อยู่ในกว่า100กลุ่มของพม่า ทางการเมียนมาร์พยายามอธิบายว่าพวกเขาคือผู้อพยพมาจากบังคลาเทศ ชาวโรฮิงญาถูกกดดันจากทางการเมียนมาร์ในหลายยุคหลายสมัยให้ออกไปจากประเทศ จนในที่สุดเป้าหมายสุดท้ายของชาวโรฮิงญาที่ตั้งใจจะไปประเทศที่สาม 

ประเทศหนึ่งที่จะรองรับพวกเขาได้ นั่นก็คือมาเลเซีย (นอกเหนือจากซาอุดิอาระเบีย หรือยุโรป) ซึ่งมีศูนย์อพยพที่รองรับชาวโรฮิงญาถึงกว่า4,000ครอบครัว การจะไปมาเลเซียนั้น พวกเขาต้องยอมเสียสละที่ดิน ทรัพย์สินขายให้นายทุน นายหน้าเป็นมูลค่ามหาศาลด้วยหวังจะไปมีชีวิตที่ดีกว่า ขบวนการนายหน้าก็เป็นชาวโรฮิงญาด้วยกันเองที่รู้ช่องทางในการเดินทาง ร่วมกับเจ้าหน้าที่ของทางการเมียนมาร์บางหน่วย เท่าที่ตนทราบคือต้องใช้เงินประมาณ 3 ล้านจัตพม่า(ประมาณแสนกว่าบาทไทย) ต่อหัว เป็นต้นทุนที่ชาวโรฮิงญาคนหนึ่งต้องมีเพื่อที่จะได้ไปมีชีวิตใหม่ที่มาเลเซีย โดยเดินทางออกจากรัฐยะไข่ ผ่านมาที่เมืองย่างกุ้ง ในขบวนการนายหน้าก็จะมีการเอาคนเหล่านี้ไปพักไว้ กักขังในห้องเล็กๆแคบๆสกปรก มีนายหน้านำอาหาร น้ำมาส่งให้ ซึ่งก็ไม่ค่อยจะพออิ่มท้อง จะออกไปซื้อเองก็ไม่ได้ เขาจึงต้องรอที่จะเดินทาง ในระหว่างที่รออยู่ในเมืองย่างกุ้งก็จะมีนายหน้าเรียกเงินเก็บเพิ่มโดยใช้วิธีการโทรหาญาติของผู้อพยพแล้ววิดิโอคอลเพื่อขอเงินเพิ่ม ถ้าไม่ให้ ผู้อพยพก็จะถูกทำร้ายร่างกาย ส่วนผู้หญิงก็อาจถูกข่มขืนกระทำชำเรา นายหน้าก็จะถ่ายภาพแล้วส่งกลับให้ญาติดูเพื่อต่อรองเอาเงินเพิ่ม พวกญาติก็ต้องยอมขายทรัพย์สิน เป็ด ไก่ วัว ควายหาเงินเพื่อที่จะโอนมาให้ขบวนการนายหน้าเพื่อให้ลูกหลานตัวเองมีชีวิตที่ดีกว่า จากย่างกุ้งมาถึงชายแดนไทยซึ่งเป็นทางผ่านไปยังมาเลเซียอันเป็นปลายทางที่พวกเขามุ่งหวังจะไปถึง ก็ต้องเดินทางผ่านภูเขาหลายลูกด้วยความยากลำบาก บางทีพวกนายหน้าก็อาจมีการวางแผนให้เจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุมก็เป็นได้  

พอเข้ามาในไทยก็อาจต้องเสียเงินเพิ่มอีกประมาณ 30,000-50,000 บาท มีสองแบบ แบบแรกเสียเงินมา กับอีกแบบคือไม่ต้องเสียเงินมา แต่พอให้มาอยู่ที่ไทยหรือเดินทางไปต่อจนถึงที่มาเลเซีย ก็ต้องทำงานใช้หนี้มูลค่ามากกว่าเท่าตัว ขบวนการนายหน้ามีการส่งต่อผู้อพยพมาเป็นทอดๆ ทางเหนือของไทยก็แถวๆแม่สอด แม่สะเรียงก็จะเป็นทางที่จะต่อลงมาเพื่อไปยังภาคใต้ ต่อไปถึงชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช สงขลา ระนอง นราธิวาส ซึ่งกลางทางก่อนจะมาถึงจังหวัดภาคใต้ที่กล่าวมา จุดพักก็จะมีที่กรุงเทพฯ นครปฐม สมุทรสาคร ไปจนเพชรบุรี ซึ่งการที่จะเดินทางผ่านมาได้ขนาดนี้ก็แน่นอนว่าต้องมีผู้มีอิทธิพล บุคคลมีสีคอยอำนวยความสะดวก เป็นผลประโยชน์มหาศาล และประมาณปีสองปีที่ผ่านมา ก็พบว่ามีการส่งผู้อพยพชาวโรฮิงญามาทางเรือด้วย อาจจะพาคนมาลงแถวสมุทรปราการ แล้วล่องลงภาคใต้ไปผ่านทางน้ำ 

ก่อนที่โรฮิงญาจะไปถึงมาเลเซียได้ ถ้าเป็นเด็กผู้หญิงหน้าตาดีหน่อยก็อาจจะถูกจับแยกไปค้าบริการทางเพศ และยังมีโรฮิงญาที่อยู่ในไทยแบบมีสถานะเป็นแรงงานต่างด้าวขึ้นทะเบียนถูกกฎหมาย แต่ก่อนจะขึ้นมาถูกกฎหมายได้ก็ต้องผ่านระบบใต้ดินมาก่อน และการที่ทางการเมียนมาร์ไม่ยอมรับว่าพวกเขาเป็นประชากรของตน (ซึ่งจะหมายถึงสิทธิในการได้เป็นแรงงานต่างด้าว 3 สัญชาติที่สามารถขึ้นทะเบียนได้) ก็ทำให้พวกเขาต้องจ่ายเงินใต้โต๊ะ เมื่ออยู่ในไทยอาชีพก็อาจจะขายน้ำดื่ม ขายโรตี ซึ่งจริงๆตามกฎหมายไทย พวกเขามาเป็นเจ้าของร้านขายเองไม่ได้ เขาก็ต้องมีนายจ้าง หรือบางทีก็ขายเอง แต่ต้องแบ่งรายได้กับนายจ้าง 

“ที่ผ่านมาจับขบวนการนายหน้าได้ แต่เอาผิดฐานค้ามนุษย์ไม่ได้ เอาผิดได้เพียงแค่ฐานลักลอบนำพา เพราะองค์ประกอบความผิดไม่เข้าหลักที่จะถือเป็นการค้ามนุษย์ เพราะยังไม่ผู้ส่งต่อ ยังไม่มีผู้รับไว้” สมพงษ์กล่าว  

ปรีดา เตียสุวรรณ์ กล่าวว่า โดยภูมิศาสตร์ เราถูกล้อมรอบโดยประเทศเพื่อนบ้าน4ประเทศตั้งแต่มาเลเซีย กัมพูชา ลาว และพม่าซึ่งเป็นถิ่นใหญ่ที่โรฮิงญาอาศัยอยู่ นโยบายการดูแลประชากรประเทศเหล่านี้จึงมีความสำคัญ ตอนนี้ประเทศเรากำลังมีภาวะประชากรถดถอยเหมือนสิงคโปร์ ก็เลยมีเรื่องนโยบายการให้สิทธิประโยชน์เพื่อให้ประชาชนมีบุตรอย่างที่ประเทศไทยกำลังทำในปีนี้ แต่ในกรณีสิงคโปร์ที่มีปัญหานี้มาก่อนไทยราวๆ10ปี ก็ทำไม่สำเร็จจนสุดท้ายต้องเปิดให้แรงงานจากต่างชาติเข้ามาเพื่อไม่ให้ประชากรลดน้อยถอยลง โดยเขาเอาประชากรจากต่างประเทศเข้ามาประมาณ1ล้านคนที่มีลักษณะ ทักษะเหมาะกับประเทศเขามาเสริมที่ประเทศเขาไม่มี เขาเลยได้คนจากทางด้านอินโดนีเซียจำนวนมากมาเป็นแรงงานที่ไม่ได้ต้องมีทักษะมากจนเกินไปนัก  

ในกรณีของไทย เรากำลังอยู่ในภาวะแบบเดียวกับเมื่อ 10 ปีก่อนของสิงคโปร์ ที่พยายามมจะเพิ่มจำนวนประชากรเพื่อหวังมาเป็นแรงงานของประเทศเอง แต่ประสบการณ์ของสิงคโปร์ก็ล้มเหลวมาแล้วดังที่กล่าว ทั้งยังมีตัวอย่างของประเทศอื่นอย่างเช่นฝรั่งเศสที่ยอมลดเวลาการทำงาน 42 ชั่วโมงต่อสัปดาห์เหลือ35ชั่วโมงต่อสัปดาห์เพื่อให้ประชากรวัยแรงงานมีเวลาอยู่กับครอบครัวมากขึ้น หวังจะช่วยให้คนฝรั่งเศสมีบุตรมากขึ้น แต่หลังจากที่ฝรั่งเศสเริ่มใช้เงินไปอย่างมหาศาลอย่างที่ไทยกำลังจะใช้ ก็ไม่ได้ช่วยประชากรเพิ่มขึ้นอย่างที่ตั้งเป้าหมาย ช่วยได้แค่ลดระดับของการ “ลด” จำนวนประชากรเท่านั้นเอง จึงเป็นสิ่งที่ไทยต้องทบทวนว่าที่เรากำลังจะทุ่มงบประมาณเพื่อให้คนไทยมีประชากรเพิ่มด้วยการมีบุตร ยังไม่มีประเทศไหนประสบความสำเร็จเลย 

ดังนั้นเมื่อเราล้อมรอบด้วยสามประเทศที่มีแรงงานมากโดยเฉพาะพม่า การมีแรงงานจากพม่าเข้ามาก็เป็นเรื่องดี ซึ่งจำนวนแรงงานพม่าก็ถือเป็นจำนวนแรงงานจากต่างชาติที่มีมากที่สุดในประเทศไทย อย่างน้อยก็สัก 5-6 ล้านคน ซึ่งถ้าคนเหล่านี้กลับประเทศตัวเองก็จะมีผลต่ออุตสาหกรรมของเรา รวมถึงข้าวของที่เราบริโภคทุกวันนี้ก็จะราคาแพงขึ้น ดังนั้นนโยบายที่เราต้องพึ่งแรงงานต่างชาติจึงจำเป็น โจทย์จึงอยู่ที่การควบคุมให้เขาเป็นแรงงานที่ดีและไม่สร้างปัญหาต่อเรา นโยบายของตนก็มาจากมุมมองสิทธิมนุษยชน เมื่อ 10 กว่าปีมาแล้วตนเคยพูดให้กับหัวหน้าพรรคการเมืองที่มีชื่อและเป็นพรรคเก่าแก่พรรคหนึ่งฟังว่า เราต้องดูแลเขา(แรงงานข้ามชาติ)เป็นเหมือนญาติมิตร ให้เขารู้สึกว่าตนเป็นที่ต้องการในประเทศไทย เราต้องเห็นว่าเขาเป็นผู้ที่จะเข้ามาช่วยผลิตของกินของใช้ในราคาที่ดี ฉะนั้นเราควรทำให้เขารู้สึกอยากเข้ามา แล้วเปลี่ยนสัญชาติเป็นคนไทยในท้ายที่สุด ซึ่งหัวหน้าพรรคการเมืองที่ได้ฟังนี้ก้กระโดดขึ้นมาบอกว่า ถ้าตนได้จัดตั้งรัฐบาล จะเอานโยบายนี้มาใช้  

ฉะนั้นในแง่ของโรฮิงญา ตอนนี้ประเทศที่พวกเขาสนใจเป็นลำดับต้นๆซึ่งไม่ใช่บังคลาเทศ เพราะคนประเทศนั้นก็ตั้งแง่รังเกียจโรฮิงญาและในประเทศเองก็มีแรงงานล้นหลาม มีคนว่างงานอยู่มากมาย ฉะนั้นบังคลาเทศก็ไม่ใช่ความฝันของชาวมุสลิมโรฮิงญา เพราะไปถึงก็อาจไม่ได้มีงานให้ทำมากมาย ดังนั้นประเทศในฝันของเขาไม่ว่าจะเป็นซาอุดิอาระเบียหรือมาเลเซียก็ตาม การที่โรฮิงญาจะต้องเดินทางผ่านเข้ามาทางประเทศไทย แล้วเกิดปัญหาการคอรัปชั่นหากินกับคนเหล่านี้ แล้วมีคนเหล่านี้หลงเหลืออยู่ในประเทศไทย โดยสรุปก็คือ การที่เราจะมีแรงงานเดินทางมาจากพม่าแม้จะเป็นชาวมุสลิม(โรฮิงญานับถือศาสนาอิสลาม) เราก็น่าจะรับเขาไว้ เพราะพม่าก็มีนโยบายชัดเจนที่จะไม่ยอมรับประชากรเหล่านี้ พวกเขาก็จะเป็นกำลังแรงงานส่วนหนึ่งในภาวะที่ประเทศไทยกำลังขาดแรงงาน มีประชากรเกิดใหม่ลดน้อยถอยลง และมีคนชรามากขึ้น เมื่อพวกเขาเข้ามาสร้างผลผลิต และจ่ายภาษีให้เรา มันก็จะทดแทนส่วนที่เป็นภาระของเราจากการที่มีประชากรวัยชรามากขึ้น แล้วการคลังเราติดลบ เป็นหนี้ คนเหล่านี้ที่พร้อมทำงาน เราจึงควรรับเขาเข้ามา และทำให้เขาอยู่ในระบบกฎหมายเพื่อที่จะได้เก็บภาษีอากรเต็มที่

เมธา มาสขาว กล่าวว่า ประเทศไทยมีอัตราการว่างงานต่ำที่สุดประเทศหนึ่งในโลก มีทรัพยากร มีงานให้คนไทยทำมากมาย จนสามารถเปิดรับให้แรงงานข้ามชาติและแรงงานประเทศเพื่อนบ้านเข้ามาในไทยได้จำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นพม่า กัมพูชา ลาว ซึ่งส่วนใหญ่เราก็พบว่าแรงงานเหล่านี้ทำงานที่คนไทยไม่อยากทำ เช่น แรงงานในสวนยาง แรงงานก่อสร้าง แรงงานประมง ซึ่งเศรษฐกิจของไทยส่วนหนึ่งขับเคลื่อนโดยการช่วยเหลือของแรงงานข้ามชาติเหล่านี้หลายล้านคน ซึ่งก็ถือว่าไทยมีโครงสร้างเศรษฐกิจที่ดี แต่เรามีนโยบายสาธารณะที่ไม่สอดคล้อง จึงเกิดความเหลื่อมล้ำมหาศาล และมีการหาผลประโยชน์จากช่องว่างทางกฎหมาย แทนที่จะเปิดรับแรงงานข้ามชาติทั้งหลายมาร่วมพัฒนาเศรษฐกิจไทยอย่างเป็นระบบ ทีนี้เรื่องการเคลื่อนย้ายถ่ายเทชาวโรฮิงญาทั้งทางบกและทางเรือเพื่อไปมาเลเซียหรือโลกที่สาม ได้มีขบวนการค้ามนุษย์เข้ามาฉกฉวยผลประโยชน์อย่างเป็นระบบ มีเจ้าหน้าที่รัฐไทยเกี่ยวข้องในเส้นทางที่พวกเขาจะข้ามไปมาเลเซีย หรือการค้าแรงงานเถื่อนโดยระบบนี้ก็มีการเรียกค่าไถ่ จ่ายค่านายหน้า จ่ายส่วยให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งหลังจากการเป็นคดีความเมื่อปี 2558 และสิ่งที่ รังสิมันต์ โรม (สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคก้าวไกล) ได้นำมาเปิดเผยในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร มันทำให้เห็นภาพขบวนการทั้งขบวนการที่ประชาคมโลกเฝ้าจับตาดูอยู่ ซึ่งรัฐบาลไทยต้องแก้ไขเพื่อเพิ่มระดับความน่าเชื่อถือในการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ ซึ่งตนมองว่าการแก้ปัญหาต้องทำอย่างเป็นระบบ เพราะขบวนการนี้ทำงานเป็นขบวนการข้ามชาติ มันไม่ได้ทำเป็นเอกเทศน์ จากรัฐยะไข่ทั้งทางบกและทางเรือตามที่คุณฐปณีย์ เอียดศรีไชย ได้เคยทำข่าวก็เห็นภาพชัดเจน 

สมัยก่อนหน้านั้น คนโรฮิงญาด้วยกันเองเป็นนายหน้าในการค้ามนุษย์โรฮิงญา คนพวกนี้พูดได้ 3 ภาษาคือภาษาโรฮิงญา พม่า และอังกฤษ เป็นผู้ควบคุมเส้นทางการเดินทาง ที่จะขนคนโรฮิงญาออกจากฝั่งมาขึ้นเรือใหญ่กลางทะเล และขึ้นฝั่งตามหลายๆ จังหวัดของไทยตามแนวชายทะเลด้านอันดามัน จนเมื่อปี 2558 เรื่องนี้เป็นประเด็นขึ้นมาเมื่อมีการจับกุมรถขนส่งชาวโรฮิงญาร่วมร้อยกว่าคน แล้วมีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 3 คนภายในรถ จนมีการสืบสวนสอบสวนขึ้นมา ตามที่พลตำรวจตรีปวีณ พงศ์สิรินทร์ ได้เป็นหัวหน้าชุดทำคดีพยายามคลี่คลายเรื่องนี้จนพบว่าก่อนหน้านี้ขบวนการนี้มีชาวโรฮิงญาเองเป็นนายหน้าโดยตรง ต่อมาที่เจ้าหน้าที่ไทยเป็นผู้รับส่วยเข้าร่วมเป็นนายหน้าด้วย จนทำงานเป็นขบวนการ มีช่องว่างในนโยบายของฝ่ายความมั่นคงที่จะลำเลียงโรฮิงญาออกจากประเทศไทย ไม่ต้องการให้พวกเขาอยู่เนื่องจากว่าไม่สามารถส่งไปที่ไหนได้ แต่พยายามลำเลียงโดยวิธีนอกกฎหมายจากฝ่ายทหารและตำรวจ รวมถึงคนในกลไกการปกครองของมหาดไทย ตามที่มีผู้นำท้องถิ่นเข้ามามีส่วนร่วมและถูกดำเนินคดี มีผู้ถูกฟ้องร้องกันไปหลายร้อยคนที่ผ่านมา แล้วหลังจากที่ ส.ส. รังสิมันต์ โรม ออกมาอภิปรายในสภาผู้แทนราษฎรล่าสุด (18ก.พ. ที่ผ่านมา) มีการกลั่นแกล้งผู้รับผิดชอบคดีจนถึงขั้นต้องลี้ภัยออกนอกประเทศ แสดงว่าขบวนการค้ามนุษย์ที่มีเจ้าหน้าที่รัฐระดับสูงยังดำรงอยู่ จึงสามารถกลั่นแกล้งพนักงานสืบสวนสอบสวนขนาดนั้นได้ ซึ่งรัฐบาลไทยจะต้องจัดการ มิเช่นนั้นจะถูกครหาได้ว่ามีส่วนเกี่ยวข้อง หรือสนับสนุนให้มีการค้ามนุษย์อย่างเป็นระบบ รวมถึงเรื่องการใช้อำนาจโดยมิชอบในการสั่งย้ายพนักงานสอบสวนที่กำลังทำคดีได้อย่างมีประสิทธิภาพด้วยเหตุผลอะไร

พ.ต.อ. วิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร กล่าวในมุมมองของตำรวจว่า ปัญหาการค้ามนุษย์เกิดขึ้นในไทยมานานมาก เกิดขึ้นตลอดจนปัจจุบัน แต่เราไปคิดเรื่องการค้ามนุษย์เฉพาะตามในนิยามของกฎหมายป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ ที่ระบุว่จะต้องมีลักษณะการบังคับใช้แรงงาน หรือการนำเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปีมาค้าประเวณี ถึงจะเข้าข่ายการค้ามนุษย์ เป็นการให้คำจำกัดความที่ไม่สอดคล้องกับข้อเท็จจริง การใช้แรงงานการหลอกลวงคนมาทำงานแม้ไม่ได้อายุต่ำกว่า18ปี ตนมองว่าก็เป็นการค้ามนุษย์อยู่ดี  การบังคับใช้กฎหมายของบ้านเราโดยตำรวจมันรวมศูนย์ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ(สตช.) ประเทศที่เจริญทั่วโลกตำรวจเขาไม่รวมศูนย์อย่างเรา แต่จะกระจายอยู่ตามทุกกระทรวงทบวงกรม พอมาถึงเรื่องโรฮิงญาที่เป็นข่าว เรื่องการรับส่วยมันมีแน่นอน ใครๆก็รู้ว่าคนต่างด้าวก็ต้องจ่ายส่วยกันทั้งสิ้น อยู่ที่ว่าผู้มีอำนาจระดับสูงอย่างตำรวจ เวลาเขารับส่วย มันมีการส่งเงินส่วยกันเป็นรายเดือนหรือรายสะดวก ก็จะมีทั้งเรื่องยาเสพติด แรงงานต่างด้าว โสเภณี รถผิดกฎหมาย น้ำมันเถื่อน รวมกันอยู่  กรณีโรฮิงญาเมื่อปี 2558 มีการหลั่งไหลของโรฮิงญาที่หนีจากเมียนมาร์เพื่อต้องการชีวิตที่ดีขึ้นหรือจากการถูกปราบปราม จนไปมาก็เกิดเป็นขบวนการ มีการหารายได้ มีการส่งเงินส่วยแก่เจ้าหน้าที่รับผิดชอบ มีบัญชีส่วยอยู่ในหลายหน่วย ข้อมูลการกระทำผิดจากอาชญากรรมต่างๆมันก็รวมๆกันเต็มไปหมด เราต้องไม่ปฏิเสธว่าปัญหาของประเทศเราคือการทุจริตและประพฤติมิชอบของเจ้าพนักงานรัฐ โดยเฉพาะองค์กรตำรวจที่รับส่วยทุกเรื่อง นอกเหนือจากกรมศุลกากร กรมป่าไม้ ฯลฯ ที่รับส่วยเป็นเรื่องๆไป แต่ไม่ว่าเรื่องใด ก็มีตำรวจได้รับส่วยหมด เพราะเป็นองค์กรที่มีอำนาจบังคับใช้กฎหมาย โดยเฉพาะงานสอบสวน ซึ่งอำนาจผูกขาดอยู่กับตำรวจ ซึ่งไม่ได้หมายถึงเจ้าพนักงานชั้นผู้น้อยตามโรงพัก แต่เป็นระดับหัวหน้าหน่วยอย่างสารวัตรสืบสวน ผู้กำกับ ผู้การ ผู้บัญชาการ เงินในชั้นต้นมามันจะดำ เก็บมาจากผู้ทำผิดกฎหมาย ซึ่งเดี๋ยวนี้บางทีตำรวจก็ไม่ได้เก็บเอง แต่เก็บผ่านตำรวจอาสา ตำรวจบ้าน ที่ตำรวจในราชการเลี้ยงไว้เพื่อช่วยเก็บเงิน เป็นตัวเจรจา เพราะเวลามีเรื่องก็จะได้ไม่สาวมาถึงตำรวจ หรือผู้ประกอบการเรื่องการค้าบริการด้วยกันเอง สมมติจังหวัดหนึ่งมีสถานประกอบการ20แห่ง ก็จะมีผู้ประกอบการคนที่เป็นขาใหญ่คอยรวบรวมส่วยมาส่งเป็นทอดๆไป จากเงินสีดำ มันก็จะค่อยๆขาวขึ้นเรื่อยๆ จะไปถึงไหนก็ตามสายงานความรับผิดชอบ ชั้นต้นดูน่าเกลียด แต่สุดท้ายก็ดูกลายเป็นสินน้ำใจไปเสีย กลายเป็นค่าใช้จ่าย การดูแลสำนักงาน ไม่มีการลงรายละเอียดเรื่องว่ามีโรฮิงญามาเท่าไหร่ มีของเถื่อนมาจากไหน พวกกรณีที่มีเรื่องมีราวแดงขึ้นมาได้ก็อาจเพราะมีหลักฐานการโอนเงิน ซึ่งตำรวจ ทหารไม่ค่อยมี แต่คนที่โอนเงินถูกดำเนินคดี 

ตามกฎหมายป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ระบุว่า เจ้าพนักงานของรัฐที่รับผลประโยชน์จากการค้ามนุษย์ ถือว่าเป็นผู้ค้ามนุษย์ด้วย ไม่ใช่แค่เป็นการรับสินบนที่มีโทษต่ำกว่าการค้ามนุษย์ซึ่งมีโทษสูง ซึ่งประชาชนไม่ค่อยรู้ ซึ่งในกรณีโรฮิงญาปี2558 เราก็ได้ยินว่าผู้รับโทษคือพลโทมนัส คงแป้น ซึ่งเป็นทหาร แต่ฝ่ายตำรวจที่เป็นตัวหลักในการบังคับใช้กฎหมายในยามปกติที่ไม่ได้มีการประกาศกฎอัยการศึกอะไรพวกนี้ ไม่มีใครถูกดำเนินคดี เรื่องพวกนี้ถ้าตำรวจหลับตาเสีย ทุกอย่างก็จะตามน้ำไปหมด  กรณีพลโทมนัสที่ถูกจับดำเนินคดีได้เพราะมีสลิปโอนเงินเป็นหลักฐาน ที่ไม่สามารถบิดเบือนได้  ตามที่ได้ยินพลตำรวจตรีประวีณ พงศ์สิรินทร์ บอกว่ามีตำรวจไปค้นเจอหลักฐานสลิปเงิน ผู้บังคับบัญชายังเก็บซุกไว้ พอมาอยู่ในมือของพลตำรวจตรีประวีณมันก็ไม่เป็นอื่น แต่ถ้าเป็นพยานบุคคลก็เปลี่ยนแปลงได้หมด การสอบสวนมันมีช่องโหว่ให้เปลี่ยนจากที่เห็นก็ทำเป็นไม่เห็น แต่คนที่โอนเงินก็เป็นคนที่ถูกดำเนินคดีฐานค้ามนุษย์ ตราบใดที่ยังมีการส่งส่วยอยู่ ปัญหาการค้ามนุษย์ก็ไม่มีทางหมดไป ฉะนั้นตอนนี้แม้พลตำรวจตรีประวีณไม่อยู่ในประเทศไทยแล้ว ก็ควรต้องมีคนมารับผิดชอบสืบสวนต่อให้ถึงตัวผู้บงการใหญ่ ถ้ามาบอกว่าเรื่องในอดีตที่แล้วมาก็ให้มันแล้วกันไป พูดแบบนี้ก็ไม่ควรมาเป็นเจ้าพนักงานของรัฐ เพราะเป็นการทำให้ประเทศเราตกอยู่ในวังวนสารพัดปัญหาที่แก้ไม่ได้

ฐปณีย์ เอียดศรีไชย ในฐานะสื่อมวลชนที่ได้เกาะติดประเด็นขบวนการค้ามนุษย์ โดยเฉพาะกรณีโรฮิงญา โดยได้ลุยไปถึงบนเรือขนมนุษย์ชาวโรฮิงญาจนเป็นข่าวโด่งดัง ได้เปิดใจว่า ตนเป็นคนที่ทำข่าวเกี่ยวกับการค้ามนุษย์มานานแล้ว ตั้งแต่ก่อนที่จะมีเรื่องโรฮิงญาในปี 2558 โดยเฉพาะตั้งแต่ปี 2551 ที่เริ่มทำรายการข่าว3มิติ(ทางสถานีโทรทัศน์สีช่อง3HD ในปัจจุบัน) ตนก็ทำเรื่องการค้ามนุษย์ทั้งกรณีผู้หญิงถูกหลอกไปค้าประเวณีและค้ามนุษย์ เรื่องแรงงานที่ถูกค้ามนุษย์ กรณีดังๆก็เรื่องแรงงานประมงที่อินโดนีเซียในปี 2558 ต้นเดือนมีนาคม ก่อนที่จะมีข่าวเรื่องโรฮิงญาในช่วงเดือนพฤษภาคม ซึ่งกรณีอินโดนีเซียก็มีทั้งแรงงานพม่า ลาว กัมพูชา และไทยที่ถูกหลอกไปค้ามนุษย์ที่นั่น แล้วเรื่อโรฮิงญาตั้งแต่ช่วงปี2552ตนก็เริ่มเจอแคมป์กักกันคนโรฮิงญาในสวนยางที่ตำบลประดังเบซา ตอนนั้นก็เจอโรงนอน เจอที่พักเหมือนกับที่เทือกเขาแก้ว (จ.สงขลา) แต่ยังไม่เจอหลุมฝังศพในปี 2552 อันนั้นก็เป็นจุดเริ่มต้นสำคัญที่ทำให้ตนตั้งคำถามว่า คนโรฮิงญาซึ่งมีอยู่มากในรัฐยะไข่ของเมียนมาร์เดินทางมาพวกเขาเป็นใคร จนเราเริ่มรู้จัก ทำความเข้าใจและเริ่มทำข่าวเกี่ยวกับคนกลุ่มนี้ ตนก็ทำเรื่องข่าวสืบสวนสอบสวนด้วย ก็ไปร่วมมือกับตำรวจไปตามจับขบวนการค้ามนุษย์ เพราะเราก็อยากรู้ว่าขบวนการนี้เขาทำอย่างไร? มีกลุ่มไหนบ้าง? จนกระทั่งประมาณปี 2557 หรือ 2558 ต้นปี ตนก็ได้ร่วมกับตำรวจในการล่อซื้อขบวนการค้ามนุษย์ คือมีชาวโรฮิงญาที่หนีออกมาจากค่ายกักกันที่ จ.สตูล แล้วก็บอกตำรวจว่าพี่ชายเขาขอความช่วยเหลือ เนื่องจากถูกเรียกค่าไถ่เป็นเงินประมาณ 30,000บาท ถ้าจะออกจากค่าย ก็เลยเริ่มรู้ว่า ค่ายกักกันเหล่านี้ มันก็เอาคนที่ลงเรือมา แล้วขึ้นมาพักคอยไว้ที่ค่ายตามแนวชายแดนทั้งที่สตูล ซึ่งเป็นชายแดนไทย-มาเลเซีย กับที่ปาดังเบซาร์ ใครที่สามารถเดินทางไปมาเลเซียได้ก็จะมีการส่งข้ามแดนไป ใครที่ยังไปไม่ได้แม้ว่าจ่ายค่านายหน้ามาแล้วก็จะถูกกักไว้ที่ค่ายเพื่อรอเวลา ใครรอไม่ไหวอยากที่จะออกไปก็จะถูกเรียกค่าไถ่ แล้วเราก็เริ่มรู้ถึงความโหดร้ายของขบวนการนี้จากการที่เราเกาะติด ทำการสืบสวน สอบสวนกับตำรวจมาตลอด จนเจอเรื่องที่เทือกเขาแก้ว และเจอเรือมนุษย์โรฮิงญา ซึ่งเราเห็นเรือที่บรรทุกคนมา 400-500 คนนั้น เป็นเรือประมงที่ถูกนำมาดัดแปลงเพื่อใช้สำหรับการค้ามนุษย์โรฮิงญา

และตนก็ตามเรื่องกระบวนการสันติภาพในพม่าด้วย ก็รู้ว่ารากเหง้าปัญหาโรฮิงญา มันก็มีมากกว่ากลุ่มชาติพันธุ์อื่นๆในพม่า ก็เลยทำให้ตนตั้งใจนำเสนอประเด็นนี้ในทุกๆแง่มุม อยากตีแผ่เรื่องการค้ามนุษย์ให้คนที่กระทำผิดได้รับการลงโทษ ซึ่งก็ดีที่เรื่องนี้ แม้เราจะยังจับตัวการใหญ่ไม่ได้อย่างที่พลตำรวจตรีประวีณพูดว่า ถ้าไม่ต้องลี้ภัยก่อนอาจจะจับถึงปลาตัวใหญ่ได้ แต่การที่ได้แค่พลโทมนัส หรืออดีตนายก อบจ.สตูล หรือนายกเทศมนตรีที่ปาดังเบซาร์ แล้วมีจำเลย103คน ก็ถือว่าเป็นจำนวนมากแล้ว แต่ถ้าเทียบกับสัดส่วนทั้งหมดของขบวนการค้ามนุษย์ ก็อาจเป็นแค่ไม่กี่เปอร์เซ็นต์ ส่วนตัวก็คิดว่าเมื่อมีคดีนี้ แล้วตนได้มีโอกาสเป็นพยานฝ่ายโจทก์ เนื้อหาทั้งหมดที่เราทำเกี่ยวกับขบวนการค้าโรฮิงญาตั้งแต่ต้นจนถึงการพบเรือ การเดินทางไปรัฐยะไข่ ไปเห็นสภาพชาวโรฮิงญาที่อยู่อย่างไร้สิทธิพลเมืองเป็นอย่างไร เจอบ้านของพ่อของอันวาร์ซึ่งเป็นผู้ต้องหาคนสำคัญในคดีนี้ เจอครอบครัวคนที่ถูกอันวาร์หลอกลวง กลายเป็นพยานหลักฐานสำคัญที่ทางพนักงานสอบสวนและอัยการสรุปในสำนวนฟ้องคดี เพราะพ่อของอันวาร์ก็คือนายหน้าใหญ่ที่อยู่ในรัฐยะไข่ ที่คอยส่งโรฮิงญา ทำให้เรารู้สึกว่า เราไม่ได้ทำแค่ช่วยเหลือ หรือทำข่าว แต่เราต้องการให้สังคมเข้าใจเรื่องของโรฮิงญามากขึ้น เพราะในช่วงเวลาตอนเกิดเหตุ มีกระบวนการต่างๆที่ทำให้คนไทยรู้สึกเกลียดชังโรฮิงญา แม้แต่ตนก็ถูกกล่าวหาสารพัด แต่ก็ทำให้ตนต้องคิดทบทวนสิ่งที่ทำว่า เป็นความตั้งใจที่จะช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ โดยตีแผ่ว่าการค้ามนุษย์มันเลวร้าย โหดร้าย เราต้องทนให้ได้กับแรงกระเพื่อมที่ถูกตีกลับมากับข่าวที่ขัดผลประโยชน์ของขบวนการค้ามนุษย์ หรือแม้แต่ขัดนโยบายความมั่นคง ซึ่งเมื่อไหร่ที่เราทำข่าวขัดต่อนโยบายความมั่นคงของรัฐ ก็หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะถูกขบวนการ io มาคอยโจมตีว่าร้าย ก็ทำให้ตนรับสภาพได้มากขึ้นและเดินหน้าที่จะทำกรณีโรฮิงญาให้สังคมได้เข้าใจว่าปัญหามันคืออะไร หลังปี 2558 ตนไปทำสารคดีที่รัฐยะไข่ เวลาไปทำข่าวประเด็นนี้ ก็มีคนมาด่าทุกครั้ง แต่ตนก็ก้าวข้ามสิ่งเหล่านั้นและยึดมั่นทำสิ่งที่ตั้งใจให้คนจำนวนหนึ่งที่ยังไม่เข้าใจ ได้เข้าใจมากขึ้น ก็ดีใจที่ข่าวที่ตนทำส่งผลให้ผู้กระทำผิดได้รับการลงโทษ แม้จะแค่จำนวนน้อยๆ ความตั้งใจ6ปีที่ผ่านมาอย่างน้อยวันนี้มันก็เห็นผล แม้ใช้เวลา แต่ก็ภูมิใจกับสิ่งที่อดทนมาโดยตลอด

ในช่วงท้ายการเสวนา สมชาย หอมลออ ที่ปรึกษา ครป. สมศรี หาญอนันทสุข กรรมการมูลนิธิเพื่อนหญิง นางศยามล ไกยูรวงศ์ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) และนักกิจกรรมชาวโรฮิงญาในไทย ต่างแสดงความเห็นร่วมกันว่าคดีนี้ยังมีบุคคลระดับใหญ่ลอยนวลอยู่ นายสมชาย หอมลออ เห็นว่า ต้องสืบสวนกันต่อไปเพื่อให้คนที่ลอยนวลมารับผิด นายกรัฐมนตรีต้องแสดงความจริงจังกับคดีนี้ ไม่ใช่ไปโต้กลับกับพล.ต.ต.ประวีณ ว่าไม่รักชาติ ควรมีการส่งเจ้าหน้าที่ระดับสูงไปคุยกับคุณประวีณ ไปรับฟังข้อมูลเพื่อสืบสวนสอบสวนต่อ และเรื่องการค้ามนุษย์ต้องมีการตรวจสอบอย่างสม่ำเสมอ เพราะเราถูกลดระดับการเฝ้าระวังมาอยู่ Tier2 Watch List แล้ว ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการค้าส่งออกที่ทุกวันนี้ก็ได้รับผลกระทบจากโรคระบาดโควิด 19 และสงครามรัสเซีย-ยูเครน  

 “เรื่องเหล่านี้ควรถือเป็นความผิดในทางปกครองด้วย เพราะมีการใช้อำนาจราชการของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหารสั่งการ ไม่ใช่การกระทำในฐานะส่วนตัว จึงต้องมีความรับผิดชอบในทางละเมิด ซึ่งหน่วยงานต้นสังกัดผู้กระทำผิดต้องร่วมชดใช้ให้ผู้เสียหายด้วย โดยไล่เบี้ยเอาจากผู้กระทำความผิดที่อยู่ในหน่วยงาน ไม่ใช่เอาเงินภาษีของพวกเราไปชดใช้ แล้วคนทำผิดจบแค่ติดคุก” สมชาย กล่าว

ทั้งกฎหมายไทยยังมีช่องโหว่ในการปฏิบัติอีกมาก ต้องได้รับการปรับปรุงแก้ไขอย่างจริงจัง  ที่สำคัญคือรัฐบาลควรต้องเยียวยาเหยื่อการค้ามนุษย์ทั้งที่ยังมีชีวิตอยู่ รวมถึงญาติของคนที่เสียชีวิตไปแล้ว รัฐบาลควรออกมาขอโทษต่อเหตุการณ์ทั้งหมดในฐานที่ผู้กระทำผิดเป็นเจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัฐ ซึ่งในไทยก็มีกลุ่มองค์กรของโรฮิงญาอยู่ รวมถึงการสืบสวนไปให้ถึงว่าญาติพี่น้องของใครเสียชีวิตบ้าง เกิดผลกระทบอย่างไร? มิเช่นนั้นเรื่องนี้จะเป็นตราบาปของประเทศไทย ไม่ใช่แค่ตัวนายกฯ อันเกิดจากการปฏิบัติต่อมนุษย์ด้วยกันเหมือนไม่ใช่มนุษย์

เมธา มาสขาว กล่าวสรุปว่า ขบวนการค้ามนุษย์เป็นส่วนหนึ่งของระบบเศรษฐกิจสีเทาของประเทศที่คนในรัฐบาลอาจได้ผลประโยชน์จากส่วนแบ่ง จึงไม่เร่งแก้ไขปัญหา เนื่องจากเศรษฐกิจสีเทาและระบบส่วยมีมูลค่ากว่า 10,000-20,000 ล้านบาทต่อเดือน หรือ 120,000-240,000 ล้านบาทต่อปีเลยทีเดียว จะต้องแก้ปัญหานี้ทั้งโครงสร้าง โดยตนขอเรียกร้องในการแก้ปัญหา 3 ข้อ 1) กระทรวงมหาดไทยและกระทรวงแรงงานต้องบูรณาการร่วมกันในการต้อนรับแรงงานเพื่อนบ้านมาขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยอย่างเป็นระบบและถูกกฎหมาย ไม่ให้มีช่องว่าการค้าแรงงานเถื่อน ค้ามนุษย์และระบบส่วย โดยแก้ปัญหาสัญชาติ 

2) กรรมาธิการ ป.ป.ช. และกรรมาธิการกฎหมาย สภาผู้แทนราษฎร ต้องเรียกผู้ที่เกี่ยวข้องและมีอำนาจหน้าที่รับผิดชอบในคดีขบวนการค้ามนุษย์มาสอบสวนอย่างเป็นระบบและทำรายงานชี้แจงสาธารณะ เพื่อแก้ข้อกล่าวหาตามที่ได้มีการอภิปรายและการกลั่นแกล้ง พล.ต.ต.ปวีณ หัวหน้าผู้รับผิดชอบคดี จะต้องถือว่าเขาเป็นพยานและคดีควรดำเนินการต่อไป 3) ขอเรียกร้องให้รัฐบาลตั้งหัวหน้าผู้รับผิดชอบคดีระดับ พล.ต.อ. เพื่อสืบสวนสอบสวนดำเนินคดีต่อเนื่องต่อไป โดยให้มีคณะกรรมการร่วมจากเจ้าหน้าที่ระดับสูงในหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็น ปปง. ปปช. กระทรวงยุติธรรม มหาดไทย แรงงาน องค์กรอิสระ และผู้เชี่ยวชาญสาขาต่างๆ เข้าร่วม และทำให้เป็นวาระแห่งชาติ มีอำนาจเต็มในการขจัดขบวนการค้ามนุษย์ให้สิ้นซาก