ศ.ดร.ทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือ สภาพัฒน์ เปิดเผย ภาวะสังคมไทยในไตรมาส 2 ปี 2562 พบว่า หนี้ครัวเรือนในไตรมาส 1 เท่ากับ 13 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน คิดเป็นสัดส่วนต่อจีดีพีเท่ากับร้อยละ 78.7 สูงสุดใน 9 ไตรมาส โดยปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องตั้งแต่กลางปี 2560 สูงสุดเป็นอันดับ 11 จาก 74 ประเทศทั่วโลก และเป็นอันดับ 2 ของเอเชียรองจากประเทศเกาหลีใต้
โดยในไตรมาส 2 หนี้ครัวเรือนยังมีแนวโน้มสูงขึ้น ซึ่งต้องติดตามอย่างใกล้ชิด เนื่องจากภาพรวมของสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์เพื่อการอุปโภคบริโภค หนี้สินส่วนบุคคลยังเติบโตในระดับร้อยละ 9.2 โดยยอดค้างสินเชื่อส่วนบุคคลเพิ่มขึ้นในระดับสูงร้อยละ 9.2 โดยยอดคงค้างสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ขยายตัวร้อยละ 11.3 สูงสุดในรอบ 4 ปี ส่วยยอดคงค้าสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย และรถยนต์ ขยายตัวร้อยละ 7.8 และร้อยละ 10.2
ด้านสินเชื่อด้อยคุณภาพยังคงปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น โดยยอดคงค้างหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) เพื่อการอุปโภคบริโภคในไตรมาส 2 มีมูลค่าสูงถึง 127,439 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 10 จากช่วงเดียวกันของปีก่อนเป็นสัดส่วนร้อยละ 2.74 ต่อสินเชื่อรวม และร้อยละ 2.75 ต่อ NPLs รวม โดยยอดคงค้างหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ของสินเชื่อรถยนต์และบัตรเครดิตเพิ่มขึ้นในอัตราเร่งร้อยละ 32.2 และร้อยละ 12.5 ตามลำดับ
ทั้งนี้สภาพัฒน์ ระบุว่า หากหนี้ครัวเรือนยังขยายตัวต่อเนื่องอาจส่งผลต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจในระยะต่อไป แต่มาตรการทางเศรษฐกิจที่ออกมาจะไม่เป็นการเร่งให้การก่อหนี้เกินร้อยละ 80 ของจีดีพี ส่วนเป้าหมายจีดีพีขยายตัวร้อยละ 3 ในปีนี้จะขึ้นอยู่กับการส่งออกและท่องเที่ยวเป็นหลักมากกว่าหนี้ครัวเรือน
ส่วนตัวเลขการจ้างงานลดลงเล็กน้อยที่ร้อยละ 0.3 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยผู้มีงานทำภาคเกษตรยังลดลงต่อเนื่องที่ร้อยละ 4 มีสาเหตุจากสภาพอากาศไม่เอื้ออำนวย และปริมาณน้ำไม่เพียงพอต่อกิจกรรมการเกษตร ขณะที่ผู้มีงานทำนอกภาคเกษตรเพิ่มขึ้น 1.5 ซึ่งสาขาที่มีการจ้างงานเพิ่มขึ้นได้แก่ สาขาการขนส่งการเก็บสินค้า การก่อสร้าง การศึกษา และสาขาโรงแรมและภัตตาคาร ส่วนสาขาที่มีการจ้างงานลดลง ได้แก่ สาขาการค้าส่ง/ค้าปลีก และสาขาการผลิต ซึ่งสอดคล้องกับภาคการส่งออกที่หดตัว ส่งผลให้อัตราการว่างงานเท่ากับร้อยละ 0.98 เพิ่มขึ้นใกล้เคียงอัตราร้อยละ 0.92 ในไตรมาสก่อน