รัฐบาลมอสโกมีคำสั่งเรียกเอกอัครราชทูตประจำกรุงวอชิงตันดี.ซี. เดินทางกลับประเทศเมื่อ 17 มี.ค. เพื่อทบทวนถึงความสัมพันธ์กับสหรัฐฯ หลังจากที่ประธานาธิบดีโจ ไบเดน กล่าวตอนหนึ่งในการให้สัมภาษณ์กับเครือข่ายสถานีโทรทัศน์เอบีซีนิวส์ อ้างรายงานของหน่วยข่าวกรองสหรัฐฯ ที่ระบุว่า ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน พยายามแทรกแซงเพื่อปั่นป่วนผลการเลือกตั้งสหรัฐฯ เมื่อเดือนพ.ย. ปีที่ผ่านมา
ผู้นำสหรัฐฯ กล่าวว่ารายงานจากหน่วยข่าวกรองพบว่า ประธานาธิบดีปูติน พยายามแทรกแซงการเลือกตั้งเพื่อบ่อนทำลายคะแนนของพรรคเดโมแครต และช่วยหนุนให้ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ คว้าชัยชนะในสมัยที่สอง
"ผู้นำรัสเซียมีราคาที่ต้องจ่าย เขาจะต้องได้รับผลตอบสนอง"
ขณะเดียวกัน ปธน.ไบเดน ยังกล่าวถึงกรณีของนายอเล็กซี นาวัลนี อดีตผู้นำฝ่ายค้านรัสเซีย คู่อริของประธานาธิบดีปูติน ซึ่งถูกวางยาพิษและถูกจับขณะเดินทางกลับประเทศหลังเสร็จสิ้นการรักษาตัวในเยอรมนีว่า ผู้นำหมีขาวเป็น "ฆาตกร" ที่มี่ส่วนเกี่ยวข้องกับการลอบวางยาพิษนาวัลนี
พิธีกรผู้สัมภาษณ์ถามผู้นำสหรัฐฯ ว่ามอง ปูตินเป็น "ฆาตกร" ผู้วางยานาวัลนีหรือไม่ ไบเดน ตอบว่า "ผมคิดเช่นนั้น"
การให้สัมภาษณ์นี้ มีขึ้นช่วงเวลาเดียวกับที่กระทรวงพาณิชย์ ยกระดับคุมเข้มการส่งออกสินค้าบางรายการไปยังรัสเซียเพื่อตอบโต้กรณีการวางยาพิษนายนาวาลนี
เพียงไม่นานหลังบทสัมภาษณ์ออกอากาศ รัฐบาลมอสโก ได้เรียกตัว อนาโตลี อันโตนอฟ เอกอัครราชทูตประจำกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. เดินทางกลับประเทศทันที โดยรัสเซียระบุว่า "เพื่อทบทวนและหารือถึงทิศทางความสัมพันธ์ระหว่างประเทศกับสหรัฐฯ และวิเคราะห์ว่าจะมีมาตรการใดต่อไป"
แม้จะออกมากล่าวหาแบบตรงๆ แต่ ไบเดน ย้ำว่าเขากับผู้นำรัสเซีย "ยังสามารถทำงานร่วมกันในสิ่งที่เป็นประโยชน์ของทั้งสองฝ่ายได้ โดยเฉพาะการต่ออายุข้อตกลงนิวเคลียร์ START"
อย่างไรก็ตาม โฆษกกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ยืนยันกับเอเอฟพีว่า แม้รัสเซียจะเรียกตัวเอกอัครราชทูตประจำวอชิงตันกลับประเทศ แต่เอกอัครทูตสหรัฐอเมริกา ประจำกรุงมอสโก ยังคงปฏิบัติหน้าที่ตามเดิม ด้วยความหวังว่าจะเป็นช่องทางการสื่อสารระหว่างสองชาติ เพื่อ ลดความเสี่ยงการเข้าใจผิดกัน
ด้านเซอร์เกย์ รยาคอฟ รัฐมนตรีช่วยกระทรวงต่างประเทศรัสเซีย เผยกับสื่อท้องถิ่น RIA Novosti โดยกล่าวโทษว่า "หากความสัมพันธ์ระหว่างรัสเซียกับสหรัฐฯ ย้ำแย่ลงหลังจากนี้ ก็ขอให้รู้ไว้ว่าอเมริกาเป็นต้นเหตุ"
ผู้สื่อข่าวประจำทำเนียบขาวสอบถาม เจน ซากี โฆษกทำเนียบขาว แถลงหลังไบเดนให้สัมภาษณ์ว่า ที่ผู้นำสหรัฐฯ กล่าวหาปูตินเป็นฆาตกรนั้น สื่อความหมายตรงหรือมีนัยยะแอบแฝงใดๆ หรือไม่ โฆษกทำเนียบตอบว่า "ท่านประธานาธิบดีไม่ลังเลที่จะแสดงความกังวลในสิ่งที่เรามองว่าเป็นการกระทำอันประสงค์ร้ายที่เป็นปัญหา"
ท่าทีดังกล่าวของไบเดน แสดงให้เห็นถึงจุดยืนอันแตกต่างของรัฐบาลสหรัฐฯ ในยุคไบเดนกับยุคทรัมป์โดยสิ้นเชิง เนื่องจากยุคปธน.ทรัมป์ แทบไม่เคยกล่าวหาประธานาธิบดีรัสเซียโดยตรง ตลอดเวลาการดำรงตำแหน่งของทรัมป์ โดยเฉพาะประเด็นเรื่องปูตินเป็นฆาตรกรนั้น ทรัมป์เคยตอบผู้สื่อข่าวว่า "ฆาตรกรมีเยอะแยะ .. คุณคิดว่าประเทศเราไร้เดียงสานักหรือ"