ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ออกรายงานผลประเมินแนวโน้มการเติบโตของสินเชื่อในช่วงที่เหลือของปี 2562 ระบุว่า ภาพรวมอัตราการเติบโตของสินเชื่อระบบธนาคารพาณิชย์ไทยในปี 2562 มีโอกาสชะลอลงมาอยู่ในกรอบประมาณร้อยละ 4.0-4.5 (ต่ำกว่าคาดการณ์เดิมที่ร้อยละ 4.5 และชะลอลงจากที่เติบโตร้อยละ 5.7 ในปี 2561) โดยแม้จะยังคงมุมมองว่า ภาคธุรกิจน่าจะทยอยเบิกใช้สินเชื่อเพิ่มมากขึ้นในช่วงที่เหลือของปี แต่กรอบการฟื้นตัวของสินเชื่อภาคธุรกิจดังกล่าว น่าจะน้อยและล่าช้ากว่าที่เคยประเมินไว้ ทั้งในส่วนที่เป็นสินเชื่อระยะสั้นสำหรับเงินทุนหมุนเวียนในประเทศ สินเชื่อ Trade Finance (สินเชื่อการค้าระหว่างประเทศ) รวมถึงสินเชื่อเพื่อการลงทุนระยะยาว
เนื่องจากแรงส่งการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย ยังค่อนข้างจำกัดท่ามกลางปัจจัยท้าทายทั้งภายในและต่างประเทศ แม้สินเชื่อรายย่อยอาจประคองทิศทางการขยายตัวได้ในช่วงที่เหลือของปี แต่คงต้องยอมรับว่า ทิศทางกำลังซื้อที่ยังอ่อนแอ ภาระหนี้ครัวเรือนที่เพิ่มสูงขึ้น น่าจะเป็นข้อจำกัดของการขยายตัวของผลิตภัณฑ์สินเชื่อบางประเภทและลูกค้ารายย่อยบางกลุ่ม
นอกจากนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ยังสรุปข้อมูลสินเชื่อ เงินฝาก และสภาพคล่อง ของธนาคารพาณิชย์ไทย 14 แห่ง ณ สิ้นเดือน ส.ค. 2562 จากเอกสารรายการย่อแสดงสินทรัพย์และหนี้สิน (ธ.พ.1.1) โดยมีสาระสำคัญ ดังนี้
สถานการณ์สินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ (14 แห่ง) ในเดือน ส.ค. 2562 ยังเติบโตในอัตราที่ชะลอลง ตามภาวะเศรษฐกิจ โดยสินเชื่อธุรกิจ ยังเผชิญแรงกดดันจากการชำระคืนสินเชื่อ ซึ่งสวนทางกับยอดสินเชื่อปล่อยใหม่ที่เติบโตในกรอบจำกัด ประกอบกับทิศทางดอกเบี้ยในตลาดพันธบัตรไทยที่ลดต่ำลงอย่างต่อเนื่อง (ตามทิศทางพันธบัตรต่างประเทศ และการปรับลดดอกเบี้ยนโยบายของกนง. ในเดือนส.ค. ที่ผ่านมา) ทำให้การออกหุ้นกู้ยังเป็นทางเลือกระดมทุนที่มีต้นทุนที่ต่ำสำหรับธุรกิจขนาดกลาง-ขนาดใหญ่
นอกจากนี้ แม้สินเชื่อรายย่อย จะยังคงขยายตัวได้ต่อเนื่องในเดือนส.ค. 2562 แต่สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย และสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ อาจชะลอตัวลงจากผลของฐานที่สูงในช่วงเดียวกันปีก่อน ประกอบกับทั้งตลาดอสังหาริมทรัพย์และตลาดรถยนต์ น่าจะซึมซับความต้องการของผู้ซื้อไปมากแล้วในช่วงที่ผ่านมา จากสัญญาณการฟื้นตัวที่ล่าช้าของสินเชื่อธุรกิจ และกรอบการเติบโตที่เริ่มจำกัดลงของสินเชื่อรายย่อยบางประเภทดังกล่าวข้างต้น ส่งผลให้สินเชื่อสุทธิของธ.พ. ในเดือน ส.ค. 2562 เติบโตเพียงร้อยละ 3.84 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน และเท่ากับในเดือนก.ค. 2562 ซึ่งยังคงเป็นระดับต่ำที่สุดในรอบ 21 เดือน
ขณะที่ ภาพรวมเงินฝากของธนาคารพาณิชย์ 14 แห่ง เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า 2.84 หมื่นล้านบาทในเดือน ส.ค. 2562 ใกล้เคียงกับยอดคงค้างสินเชื่อที่เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าประมาณ 2.69 หมื่นล้านบาท ส่งผลทำให้สัดส่วนสินเชื่อต่อเงินฝากทรงตัวอยู่ที่ระดับร้อยละ 96.8 เท่ากับเดือนก่อนหน้า ซึ่งยังคงต่ำกว่าระดับ ณ สิ้นปี 2561 ที่ร้อยละ 97.7 สะท้อนภาพการบริหารต้นทุนดอกเบี้ยจ่ายให้สอดคล้องกับโมเมนตัมของสินเชื่อที่เลื่อนจังหวะการฟื้นตัวออกไปตามภาพเศรษฐกิจ
เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน เงินฝากรวมในเดือนส.ค. 2562 เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.72 เทียบช่วงเดียวกันปีก่อน ขยับขึ้นจากร้อยละ 4.28 ในเดือน ก.ค. 2562 ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากปัจจัยเรื่องฐานเปรียบเทียบ ขณะที่การเพิ่มขึ้นของยอดคงค้างเงินฝากในเดือนส.ค. นี้ นำโดย เงินฝากของกลุ่มธนาคารพาณิชย์ขนาดกลาง ซึ่งขยับขึ้นต่อเนื่องติดต่อกันเป็นเดือนที่สอง ส่วนเงินฝากของกลุ่มธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่มีทิศทางชะลอลงในเดือนส.ค. หลังจากที่ยอดเงินฝากกลุ่มนี้ได้เร่งตัวขึ้นไปมากแล้วในเดือนก่อนตามอานิสงส์ของแคมเปญเงินฝากประจำพิเศษบางตัวที่ออกมาในระหว่างเดือน
สำหรับสถานการณ์แคมเปญเงินฝากนั้น เป็นที่น่าสังเกตว่า แคมเปญเงินฝากพิเศษที่ออกมาในเดือน ส.ค. 2562 ส่วนมากมีระยะเวลาการฝากที่สั้นลง และมีการปรับลดดอกเบี้ยลงในผลิตภัณฑ์เงินฝากบางตัว ซึ่งสะท้อนภาพการบริหารสภาพคล่องและดูแลต้นทุนทางการเงินให้มีความสอดคล้องกับการปรับลดดอกเบี้ยเงินกู้สำหรับรายย่อยและธุรกิจ SMEs อย่างไรก็ดี อัตราดอกเบี้ยเงินฝากทั่วไประยะ 3 เดือน 6 เดือน 12 เดือน ยังคงทรงตัวอยู่ที่ระดับเดิม