กระทรวงพาณิชย์ รายงานภาวะการค้าระหว่างประเทศของไทยประจำเดือนมีนาคม 2561 โดยระบุว่า การส่งออกของไทยในเดือนมีนาคม 2561 มีมูลค่าสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 22,363 ล้านดอลลาร์ สหรัฐ คิดเป็นอัตราขยายตัวที่ร้อยละ 7.1 โดยการส่งออกขยายตัวได้ดีในทุกตลาดสำคัญ โดยเฉพาะตลาดอินเดีย อาเซียน 5 CLMV และสหรัฐฯ มีการขยายตัวในระดับสูง สำหรับการส่งออกสินค้ากลุ่มอุตสาหกรรมขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 13 โดยสินค้าที่มีการขยายตัวในระดับสูง ได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ น้ำมันสำเร็จรูป เม็ดพลาสติก และแผงวงจรไฟฟ้า ขณะที่การส่งออกสินค้ากลุ่มเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร หดตัวครั้งแรกในรอบ 16 เดือน ที่ร้อยละ 3.3 โดยมีสาเหตุหลักมาจากการหดตัวของยางพารา และน้ำตาลทราย ขณะที่สินค้าที่ยังขยายตัวดี ได้แก่ ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ข้าว ไก่สดแช่แข็งและแปรรูป
ทั้งนี้การส่งออกไทยในไตรมาสที่ 1 ขยายตัวร้อยละ 11.3 หรือคิดเป็นมูลค่า 62,829 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวสูงสุดในรอบ 7 ปี โดยตลาดส่งออกที่ขยายตัวในระดับสูงได้แก่ อินเดีย เอเชียใต้ ญี่ปุ่น รัสเซีย และกลุ่มประเทศ CIS สำหรับแนวโน้มการส่งออกไทยในไตรมาสที่ 2 คาดว่าจะปรับตัวดีขึ้น สะท้อนจากดัชนีคาดการณ์ภาวะธุรกิจส่งออกที่อยู่ในระดับสูงที่สุดในรอบ 15 ไตรมาส (69.8) และดัชนีคาดการณ์ความสามารถในการแข่งขันของผู้ส่งออกที่อยู่ในระดับสูงที่สุดเป็นประวัติการณ์ (68.4) โดยสินค้าสำคัญที่คาดว่าจะมีการส่งออกเพิ่มขึ้น ได้แก่ เครื่องใช้ไฟฟ้า ยานพาหนะและส่วนประกอบ เม็ดพลาสติกและผลิตภัณฑ์พลาสติก ผลิตภัณฑ์ยาง น้ำตาลทราย และผลิตภัณฑ์มันสําปะหลัง
มูลค่าการค้ารวม
มูลค่าการค้าในรูปของเงินบาท เดือนมีนาคม การส่งออกมีมูลค่า 697,074 ล้านบาท หดตัวร้อยละ 4.0 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน (YoY) ในขณะที่การนำเข้ามีมูลค่า 666,326 ล้านบาท หดตัวร้อยละ 1.7 ส่งผลให้การค้าเกินดุล 30,748 ล้านบาท ไตรมาสแรกของปี 2561 การส่งออกมีมูลค่า 1,993,291 (เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.5) การนำเข้ามีมูลค่า 1,957,201 (เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.0) และการค้าเกินดุล 36,090 ล้านบาท
มูลค่าการค้าในรูปของเงินดอลลาร์สหรัฐ เดือนมีนาคม การส่งออกมีมูลค่า 22,363 ดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 7.1 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน (YoY) ในขณะที่การนำเข้ามีมูลค่า 21,095 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 9.5 ส่งผลให้การค้าเกินดุล 1,268 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ไตรมาสแรกของปี 2561 การส่งออกมีมูลค่า 62,829 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (เพิ่มขึ้นร้อยละ 11.3 ) การนำเข้ามีมูลค่า 60,873 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (เพิ่มขึ้นร้อยละ 16.2 ) และการค้าเกินดุล 1,956 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
การส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร
มูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรหดตัว ที่ร้อยละ 3.3 (YoY) โดยสินค้าส่งออกที่ยังขยายตัวดี ได้แก่ ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ขยายตัวร้อยละ 24.5 (ส่งออกไปตลาดจีน อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น ไต้หวัน และมาเลเซีย) ข้าว ขยายตัวร้อยละ 8.5 (ขยายตัวในตลาดสหรัฐฯ เบนิน อินโดนีเซีย แคเมอรูน และเซเนกัล) ไก่สดแช่แข็งและแปรรูป ขยายตัวร้อยละ 8.4 (ส่งออกไปตลาดญี่ปุ่น เกาหลีใต้ สหราชอาณาจักร และลาว) ผัก ผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็งและแปรรูป ขยายตัวร้อยละ 6.4 (ส่งออกไปยังตลาด จีน เวียดนาม ญี่ปุ่น ฮ่องกง ไต้หวัน ลาว มาเลเซีย เมียนมา และฟิลิปปินส์) สินค้าสำคัญที่หดตัว ได้แก่ ยางพารา โดยหดตัวในระดับสูงที่ร้อยละ 50.2 ทั้งด้านปริมาณและราคา (การส่งออกหดตัวในเกือบทุกตลาด อาทิ จีน ฝรั่งเศส บราซิล ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ แต่ยังขยายตัวได้ในตลาดลาวและรัสเซีย) น้ำตาลทราย หดตัวที่ร้อยละ 4.4 จากปัจจัยด้านราคาเนื่องจากปริมาณน้ำตาลออกสู่ตลาดมาก (หดตัวในตลาดญี่ปุ่น ฮ่องกง ศรีลังกา ฟิลิปปินส์ ไต้หวัน และกัมพูชา ขณะที่ขยายตัวสูงในตลาดบรูไน แทนซาเนียและเกาหลีใต้) ไตรมาสแรกของปี 2561 กลุ่มสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรขยายตัวร้อยละ 3.8
การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม
มูลค่าการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมขยายตัวต่อเนื่องในระดับสูงเป็นเดือนที่ 13 ที่ร้อยละ 7.7 (YoY) โดยสินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ขยายตัวร้อยละ 18.2 (ส่งออกไปตลาดสหรัฐฯ เนเธอร์แลนด์ มาเลเซีย และจีน) น้ำมันสำเร็จรูป ขยายตัวร้อยละ 49.0 (ส่งออกไปตลาด กัมพูชา สิงคโปร์ ลาว มาเลเซีย และเมียนมา) เม็ดพลาสติก ขยายตัวร้อยละ 15.8 (ส่งออกไปยังจีน อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น เวียดนาม และอินเดีย) แผงวงจรไฟฟ้า ขยายตัวร้อยละ 19.0 (ขยายตัวใน ฮ่องกง จีน สหรัฐฯ สิงคโปร์ ญี่ปุ่น) สินค้าอุตสาหกรรมสำคัญที่หดตัว ได้แก่ ทองคำ หดตัวร้อยละ 10.7 (หดตัวในสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ฮ่องกง และอินเดีย) ผลิตภัณฑ์ยาง หดตัวร้อยละ 8.9 (หดตัวในตลาดจีน เยอรมนี ซาอุดิอาระเบีย ฟิลิปปินส์ เมียนมา เวียดนาม และญี่ปุ่น) ไตรมาสแรกของปี 2561 กลุ่มสินค้าอุตสาหกรรมขยายตัวร้อยละ 11.8
ตลาดส่งออกสำคัญ
การส่งออกไปตลาดสำคัญๆ ขยายตัวเกือบทุกตลาด ยกเว้น จีน เนื่องจากผลกระทบจากฐานที่สูงในปีก่อนหน้าและการหดตัวของการส่งออกยางพาราตามราคาที่ลดลงในตลาดโลก โดยการส่งออกไปยังตลาดหลักขยายตัวร้อยละ 8.6 ได้รับปัจจัยสนับสนุนหลักจากการส่งออกไป สหรัฐฯ และสหภาพยุโรป (15) และญี่ปุ่นที่ขยายตัวร้อยละ 11.1 8.7 และ 5.7 ตามลำดับ
แนวโน้มการส่งออกปี 2561
คาดว่าจะขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง ตามการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกที่อยู่ในเกณฑ์ดี และมีการกระจายตัวมากขึ้น โดยเศรษฐกิจสหรัฐฯ และกลุ่มประเทศยูโรโซนขยายตัวได้ดีจากการบริโภคภายในประเทศ ขณะที่เศรษฐกิจญี่ปุ่น จีน และหลายภูมิภาคในเอเชีย ขยายตัวได้ดีจากการส่งออก และการผลิตภาคอุตสาหกรรม
นอกจากนี้ ทิศทางราคาน้ำมันที่มีแนวโน้มอยู่เหนือระดับ 60 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล ตามอุปสงค์โลก และการขยายข้อตกลงการปรับลดกำลังการผลิตน้ำมันของกลุ่มผู้ผลิต OPEC และ Non-OPEC (จากเดิมที่ทำข้อตกลงรายปีไปเป็นข้อตกลงระยะยาว) จะส่งผลให้ราคาสินค้าเกษตรและสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมันปรับตัวสูงขึ้น และส่งผลดีต่อมูลค่าการส่งออก
อย่างไรก็ตาม การแข็งค่าของเงินบาท และมาตรการกีดกันทางการค้า ที่นอกจากจะกระทบต่อการส่งออกไปยังตลาดที่เป็นคู่ขัดแย้งแล้ว ยังอาจส่งผลในวงกว้างไปยังตลาดอื่นๆ ที่เป็นตลาดรองรับการส่งออกสินค้าที่ถูกกีดกันในตลาดคู่ขัดแย้งอีกด้วย ดังนั้นผู้ส่งออกต้องเตรียมความพร้อมเพื่อลดความเสี่ยง กระจายสินค้าไปยังตลาดใหม่ ทำประกันความเสี่ยงในหลากหลายรูปแบบเพื่อลดความผันผวนจากอัตราแลกเปลี่ยน