นายชวลิต วิชยสุทธิ์ ส.ส. นครพนม พรรคเพื่อไทย ให้ความเห็นกรณีการถวายสัตย์ฯ ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ที่กำลังเป็นประเด็นร้อนแรงอยู่ในขณะนี้ว่า ตนเห็นสอดคล้องกับนายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภาที่กล่าวสั้นๆ ในที่ประชุมรัฐสภาในวันแถลงนโยบายรัฐบาล เมื่อวันที่ 25 ก.ค. 2562 ว่า "เรื่องนี้ เป็นข้อกล่าวหาที่รุนแรง ผู้พูดต้องรับผิดชอบ"
เมื่อประมุขฝ่ายนิติบัญญัติ ซึ่งเป็น 1 ใน 3 อำนาจอธิปไตย และมีสถานะทางกฎหมายรัฐธรรมนูญที่ต้องเป็นกลาง กล่าวว่าเป็นเรื่อง "รุนแรง" ทุกฝ่ายพึงต้องรับฟัง จะทำเป็นเรื่องผ่านมา แล้วก็ผ่านไปมิได้ โดยเฉพาะ นายปิยบุตร แสงกนกกุล ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคอนาคตใหม่ หากนำความเท็จมากล่าวในสภาฯ และเป็นเรื่องสำคัญ ย่อมได้รับโทษขั้น "ร้ายแรง"
ขณะเดียวกัน หาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กล่าวคำถวายสัตย์ฯ ขัดรัฐธรรมนูญจริง ย่อมได้รับโทษขั้น "ร้ายแรง" เช่นกัน แต่สถานการณ์ปัจจุบันได้พัฒนามาถึงขั้นที่ พล.อ.ประยุทธ์ ขอรับผิดชอบแต่เพียงผู้เดียว เท่ากับยอมรับว่า การถวายสัตย์ฯ ไม่ครบถ้วนสมบูรณ์จริง
ดังนั้น หากถือเป็นเรื่อง "รุนแรง" ตามคำกล่าวของนายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภาแล้ว ตนมีความเห็นว่า พล.อ.ประยุทธ์ ควรกล้าหาญรับผิดชอบ ทั้งทางการเมือง และรับผิดชอบตามโบราณราชประเพณี กล่าวคือ ในความรับผิดชอบทางการเมือง ที่สมควรกระทำ คือ ควรลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เพื่อสร้างความเชื่อมั่นประเทศ
ส่วนความรับผิดชอบตามโบราณราชประเพณี นั้น ควรขอพระราชทานอภัยโทษ เพราะพระมหากษัตริย์เป็นองค์พระประมุขของชาติ การถวายสัตย์ฯ ที่ไม่ครบถ้วนตามรัฐธรรมนูญ ถือเป็นเรื่องร้ายแรง การบรรเทาโทษ มีประการเดียว คือ ขอพระราชทานอภัยโทษ
ในข้อเท็จจริงที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ ไม่ใช่เพิ่งมีปัญหาเกี่ยวกับคำกล่าว คำพูด ของตัวเอง แต่ได้กระทำผิดซ้ำซากจนนำพาประเทศขาดความเชื่อมั่น ผิดวิสัยของคนเป็นผู้นำประเทศที่จะต้องซื่อสัตย์ในคำพูดของตน
กล่าวคือหากมองย้อนหลังไปกว่า 5 ปีที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ ในฐานะนายกรัฐมนตรีแห่งประเทศไทย ได้ผิดคำพูดกับผู้นำระดับโลกถึง 3 ท่าน จากการเลื่อนการเลือกตั้ง เลื่อนแล้ว เลื่อนอีก โดยผู้นำระดับโลกที่ พล.อ.ประยุทธ์ ผิดคำพูด คือ นายซินโสะ อาเบะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น, นายบัน คี มูน เลขาธิการองค์การสหประชาชาติ, และนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา
โดยที่ผ่านมาในฐานะคนไทยคนหนึ่ง ตนรู้สึกอับอายมากที่ผู้นำของประเทศผิดคำพูดกับผู้นำระดับโลกครั้งแล้ว ครั้งเล่า แต่ต้องยอมรับความจริงว่า ส่งผลให้ประเทศขาดความเชื่อมั่น เป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้ประเทศต่างๆ ไม่มาลงทุน ทั้งยังย้ายฐานการลงทุนไปประเทศอื่น ส่งผลให้ไม่สามารถแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ ปากท้องได้
ยิ่งเมื่อมาประสบกับปัญหาการถวายสัตย์ฯ ที่ไม่สมบูรณ์ ครบถ้วนตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 161 ย่อมส่งผลให้การถวายสัตย์ฯ นั้น เป็นโมฆะ ใช้บังคับมิได้ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 5 ส่งผลให้ความเชื่อมั่นประเทศ ความเชื่อมั่นในตัว พล.อ.ประยุทธ์ เสียหายอย่างมาก
โดยนายชวลิต เปิดเผยต่อว่า ประเทศไทยไม่ได้อยู่ในโลกใบนี้เพียงประเทศเดียว แต่เป็น 1 ในประชาคมโลก การกระทำผิดซ้ำซากเกี่ยวกับคำพูดของ พล.อ.ประยุทธ์ ทำให้ประเทศสูญเสียความเชื่อมั่นมากมายจริงๆ ประเทศไทยไม่มีทางแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ ปากท้องได้เลย ถ้าประเทศขาดความเชื่อมั่น
จึงขอเรียกร้องให้ พล.อ.ประยุทธ์ ใช้ความกล้าหาญ ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ขอให้เสียสละเพื่อชาติ ความผิดครั้งนี้ใหญ่หลวง อย่าผูกขาดความรักชาติ ให้บ้านเมืองเป็นไปตามกลไกที่มีอยู่ ในทางการเมือง หาก พล.อ.ประยุทธ์ ลาออก ประเทศก็ยังเดินหน้าได้ พรรคการเมืองที่เหลือ ยังมีรายชื่อผู้สมควรเป็นนายกรัฐมนตรีอีกหลายท่าน ยังไม่ถึงทางตัน ยังเดินหน้าได้ตามระบบที่มีอยู่
'อนุสรณ์' ชี้ 5 ปัญหาใหญ่รุมเร้า อาจทำ 'ประยุทธ์' ถอดใจ
ด้านนายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด โฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกระแสข่าวการลาออกของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ว่า ข่าวการลาออกของ พล.อ.ประยุทธ์ เกิดขึ้นหลังแถลงนโยบายรัฐบาลต่อรัฐสภาเพียงแค่ 15 วัน แต่กลับมีสารพัดปัญหาที่ต้องให้แก้ไขรายวัน เป็นสัญญาณความเปราะบางที่ทำให้รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ อยู่ได้ไม่นาน และสามารถเกิดอุบัติเหตุทางการเมืองขึ้นได้ทุกเมื่อ 5 ปัญหาใหญ่ที่รุมเร้า จนอาจทำให้พล.อ.ประยุทธ์ ถอดใจ คือ
1.ปัญหาการถวายสัตย์ปฏิญาณไม่ครบถ้วน ซึ่งเป็นการกระทำผิดรัฐธรรมนูญ อาจทำให้ความเป็นรัฐมนตรีทั้งคณะเป็นโมฆะ การแถลงนโยบายเป็นโมฆะ ไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ แม้จะถูกสังคมกดดันอย่างหนักแต่ พล.อ.ประยุทธ์ ก็ยังไม่มีคำตอบและแนวทางการแก้ไขปัญหานี้ที่ชัดเจน
2.ปัญหาเสถียรภาพของรัฐบาล สะท้อนจากหลายกรณี โดยเฉพาะการที่รัฐบาลแพ้โหวต��่ายค้านในสภาเป็นครั้งแรก เมื่อวันที่ 8 ส.ค. ในการลงมติในวาระพิจารณาร่างข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ข้อที่ 9 ที่ระบุถึงการทำหน้าที่ของประธานสภาฯ จะต้องวางตัวเป็นกลาง ทำให้เห็นภาพรัฐบาลเสียงปริ่มน้ำเด่นชัดขึ้นมา
3.ปัญหา 5 พรรคเล็กขู่ถอนตัวจากการร่วมรัฐบาลตลอดเวลา เนื่องจากไม่พอใจที่พรรคพลังประชารัฐไม่จัดสรรตำแหน่งทางการเมืองให้ แม้พรรคพลังประชารัฐจะส่งแกนนำมาทำความเข้าใจและจะเกลี่ยตำแหน่งให้เพิ่ม แต่ปัญหานี้จะไม่จบ เพราะพรรคเล็กทราบดีว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้ออกแบบมาเอื้อให้เกิดการเจรจาต่อรองกดดันข่มขู่เรียกรับผลประโยชน์ได้ตลอดเวลา
4.ปัญหาความขัดแย้งจากคุณสมบัติรัฐมนตรี การตั้งคนไม่ตรงกับงาน ลุกลามไปถึงการแบ่งงานของรัฐมนตรีแต่ละกระทรวง ที่มีลักษณะของการรวบอำนาจของเจ้ากระทรวง การแบ่งงานที่ไม่เป็นธรรม จนความขัดแย้งขยายวงกว้าง และไม่สามารถขับเคลื่อนนโยบายที่หาเสียงไว้ได้
5.ปัญหาที่กระทบต่อความมั่นคง ส่งผลถึงความเชื่อมั่นรัฐบาลที่ลดลง เช่น การลอบวางระเบิดป่วนกรุงเทพมหานครในหลายจุด จนถึงขณะนี้ยังไม่สามารถระบุได้ชัดว่า แท้จริงแล้วสาเหตุของการวางระเบิดครั้งนี้มาจากเรื่องใด
"5 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลทหารของพล.อ.ประยุทธ์ มีเครื่องมือพิเศษมากมาย ยังไม่สามารถผลักดันนโยบาย หรือ สร้างผลงานใดให้เป็นที่ประจักษ์ วันนี้พล.อ.ประยุทธ์ กลับมาเป็นรัฐบาลในสภาพไร้เครื่องมือพิเศษ และสารพัดปัญหารุมเร้า โอกาสที่จะสร้างผลงานเป็นไปได้ยากมาก ส่วนหนึ่งของต้นตอปัญหานี้เกิดจากรัฐธรรมนูญ แม้แต่พล.อ.ประยุทธ์ ที่มีส่วนสำคัญในการผลักดันรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ยังเจอกับดักย้อนศรเข้าใส่ตัวเอง ถ้าไม่แก้รัฐธรรมนูญใครมาเป็นรัฐบาลก็จะไม่สามารถทำงานได้" นายอนุสรณ์ กล่าว
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :