วันที่ 16 มี.ค. ที่พรรคเพื่อไทย ธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ ส.ส.กทม. เขตลาดกระบัง พร้อมด้วย สุรชาติ เทียนทอง ส.ส.กทม. เขตหลักสี่ ในนามว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.กทม.ของพรรคเพื่อไทย ร่วมกันแถลงข่าวคัดค้านการแบ่งเขตเลือกตั้งของสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)
ธีรรัตน์ ระบุว่า สืบเนื่องจากช่วงค่ำเมื่อวาน (15 มี.ค.) มีประกาศของ กกต. ส่งถึง กกต.กทม. ว่าจะใช้การแบ่งเขตเลือกตั้งแบบที่ 1 เป็นแบบหลักในการเลือกตั้งครั้งต่อไป ซึ่งผู้สมัครมองว่า ส่อขัดต่อ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. เป็นการแบ่งเขตที่ไม่เป็นธรรม เอื้อประโยชน์ให้กับบางพรรคการเมือง ที่สำคัญคือส่งผลกระทบต่อประชาชนโดยตรง
ธีรรัตน์ ยังย้ำว่า การแบ่งเขตในลักษณะเสี่ยงขัดต่อกฎหมาย อาจส่งผลให้การเลือกตั้งครั้งนี้เป็นโมฆะไปได้ และจะตามมาสู่การมีนายกรัฐมนตรีเป็น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ต่อไปอีกครั้ง พร้อมย้ำว่าทุกอย่างเป็นไปได้ แต่พรรคเพื่อไทยพร้อมเดินหน้าต่อในทุกกติกาให้มีการเลือกตั้งเกิดขึ้นให้ได้ ยิ่งประชาชนเห็นว่ากติกาไม่เป็นธรรมอย่างไร ก็จะยิ่งไม่โอนอ่อนผ่อนตามอำนาจเหล่านั้น
อย่างไรก็ตาม พรรคเพื่อไทยจะยังไม่ยื่นเรื่องต่อศาลปกครอง เพราะมองว่า อาจเข้าทาง กกต. ที่ใช้เหตุว่ามีพรรคการเมืองยื่นเรื่องต่อศาล และพรรคเพื่อไทยเป็นพรรคใหญ่ การขยับแต่ละครั้งก็มีแรงกระเพื่อม จึงมีมติในภาค กทม. ร่วมกันคือ ยังไม่ยื่นต่อศาล และปล่อยให้มีการเลือกตั้งต่อไปให้เสร็จ โดยอาศัยพลังของประชาชนให้เกิดแลนด์สไลด์
สุรชาติ อ้างถึง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. มาตรา 27 ที่กำหนดให้ยึดอำเภอ หรือเขตการปกครองเป็นเขตเลือกตั้ง การแบ่งเขตสามารถทำได้ แต่ต้องมีเขตปกครองหลักเป็นเขตเจ้าภาพ และกำหนดให้รวมเขตเพื่อทำเขตเลือกตั้ง ไม่ใช่แบ่งเขตเลือกตั้งตามแขวง ตามแบบที่ 1 ของ กกต. จะมีถึง 12 แขวง ที่แบ่งโดยไม่มีเขตปกครองหลัก หรือเขตเจ้าภาพ แต่เป็นการนำเศษเสี้ยวของแขวงต่างๆ มารวมกันเป็นหนึ่งเขตเลือกตั้ง มีอย่างน้อย 12-13 เขต เช่น เขตธนบุรี ที่มีเศษเสี้ยวของหลายแขวงมาประกอบกัน
"เวลานี้มีบางพรรคการเมืองยื่นเรื่องต่อศาลปกครองแล้ว ถ้า กกต. ยังยืนยันว่าจะจัดการเลือกตั้งแบบนี้ และศาลปกครองมีการตัดสินมาภายหลัง กกต. ต้องรับผิดชอบ"
ทั้งนี้ สุรชาติ ยังชี้ถึงการแบ่งเขตเลือกตั้งแบบทฤษฎี Gerrymandering หรือแบ่งตามความนิยมของพรรคการเมืองบางพรรค เพื่อให้มีการได้เปรียบกัน ทำให้เกิดการแบ่งเขตที่บิดเบี้ยว ไม่เป็นกลุ่มก้อนเดียว ประชาชนไม่สามารถไปมาหาสู่กันโดยสะดวก บางเขตเลื้อยยาวเป็นงู มีการนำแขวงจากหลายเขตมารวมกัน ประชาชนจากต่างพื้นที่จะไม่มีความใกล้ชิดใกล้เคียงกัน
สุรชาติ ย้ำว่า ใน กทม. เป็นพื้นที่ซึ่งยังมีปัญหาเรื่องการแบ่งเขต เพราะแต่ละเขตมีความแตกต่างกันเรื่องจำนวนประชากรที่เหลื่อมล้ำกันสูงมาก ดังนั้น การแบ่งเขตเลือกตั้งตามมาตรา 27 ให้ประชากรสมดุลกันทั้งหมด เป็นไปไม่ได้ พรรคเพื่อไทยจึงเสนอให้ครั้งนี้ ยึดการแบ่งเขตเลือกตั้งแบบปี 2554 และ 2557 ไปก่อน แล้วในการเลือกตั้งครั้งต่อไปค่อยแก้ไขการแบ่งเขตใหม่ให้จำนวนประชากรสมดุล ซึ่งอยู่ในอำนาจของกระทรวงมหาดไทย
"การแบ่งเขตเลือกตั้งแบบนี้ ต่อไปตัวแทนของพรรคการเมืองต่างๆ ก็ไม่สามารถทำงานแทนพี่น้องประชาชนได้ ต่อไปเราก็จะได้ ส.ส.ที่เป็นแต่สมาชิกสภา แต่จะขาดผู้แทนราษฎรที่จะลงพื้นที่ดูแลสารทุกข์สุขดิบของประชาชนอย่างแท้จริง เป็นหน้าที่ของพรรคการเมืองทุกพรรค นอกจากนำเสนอนโยบายดีๆ แล้ว ยังต้องคัดสรร ส่งเสริม ให้สมาชิกพรรคลงพื้นที่ดูแลประชาชนด้วย" สุรชาติ กล่าว