ไม่พบผลการค้นหา
ประชาชนทั่วไปอย่างเราๆ น่าจะยังงุนงงกับ ‘การแบ่งเขตเลือกตั้ง’ โดยสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ว่าตกลงแบ่งแล้วดีหรือไม่ดี อย่างไร จะได้ไปเลือกตั้งที่ไหน จะได้ ส.ส.คนเดิมหรือไม่ ฯลฯ

ขณะที่ ‘ผู้เล่นในสนาม’ อย่างบรรดาผู้สมัคร ส.ส.พรรคต่างๆ ล้วนเห็นว่า การแบ่งเขตแบบนื้คือหายนะแท้ๆ โดยเฉพาะในพื้นที่ กทม. แต่ถึงกระนั้นก็มีความเห็นต่างอยู่ บางพรรคพร้อมลุยต่อแม้จะมีข้อเสียเปรียบ เพราะมองว่าหากเอาเรื่องเอาราวกับ กกต. อาจบานปลายไปจนถึงต้องเลื่อนเลือกตั้ง หรือกระทั่งเป็นโมฆะ – ฝันร้ายของเป้าหมาย ‘แลนด์สไลด์’

แต่สายไปแล้ว เพราะบางพรรคก็ตัดสินใจเดินหน้าฟ้องศาลให้รู้แล้วรู้รอดกัน!

ด้วยความข้องใจและกังวลใจของหลายฝ่าย ‘วอยซ์’ พยายามหาคำตอบว่าข้อพิพาทระหว่าง กกต. และเหล่านักเลือกตั้งครั้งนี้ มีแนวโน้มจะจบลงอย่างไร และจะส่งผลต่อการเลือกตั้งที่จะถึงนี้แค่ไหน?

ป้ายหาเสียงไทยภักดี.jpg
แบ่งเขตอย่างไรให้เป็นเรื่อง?

อธิบายให้เข้าใจง่ายที่สุด – ปัญหาของการแบ่งเขตเลือกตั้งใน กทม. ครั้งนี้ เป็นเพราะกฎหมายเลือกตั้ง หรือ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ที่แก้ไขใหม่ กำหนดให้จำนวนประชากรในเขตเลือกตั้งที่เชื่อมต่อกัน มีความต่างกันได้ไม่เกิน 10% เพื่อความเป็นธรรม

แต่ติดที่ว่าประชากรในแต่ละเขตของ กทม. มีความเหลื่อมล้ำสูงมาก เช่น เขตสัมพันธวงศ์ มีประชากรเพียง 2 หมื่นกว่าคน ขณะที่เขตสายไหมมีประชากรกว่า 2 แสนคน โอกาสที่จะความต่างของสองเขตที่ติดกันก็มีสูง

กกต.จึงเลือกแก้ไขด้วยการแบ่งเอาแขวงเล็กแขวงน้อยจากเขตใหญ่ต่างๆ ไปรวมกันเป็นเขตเลือกตั้งใหม่ เพื่อเฉลี่ยจำนวนประชากรให้เป็นธรรม แต่ปัญหาที่ตามมากลายเป็นว่า ส.ส.เจ้าของพื้นที่เดิมต้องลำบาก เพราะเสียแขวงเดิมที่ตัวเองเคยสร้างฐานเสียงไว้ไป หรือกลับได้แขวงใหม่ที่ไม่เคยเดินหาเสียงมาแทน เขตของบางคนถูกสับละเอียดจนแทบต้องเริ่มนับหนึ่งหาเสียงใหม่ทีเดียว

เพื่อไทย ธีรรัตน์ สุรชาติ ค้าน แบ่งเขตเลือกตั้ง.jpg

ส่วนประชาชนเองก็ต้องประหลาดใจว่า ทำไม ส.ส.เขต คนเก่าถึงถูกเปลี่ยนตัว ทำไมแค่ห่างไป 1 เสาไฟฟ้าถึงเป็น ส.ส.คนละคน (เพราะแม้จะเขตเดียวกัน แต่ถูก กกต. จับแยกแขวง) บางครอบครัวก็ต้องไปใช้สิทธิในเขตเลือกตั้งใหม่ ที่ห่างจากภูมิลำเนา

ด้านพรรคเพื่อไทย เองเคยแถลงข่าวคัดค้านการแบ่งเขตเลือกตั้งมาหลายครั้งครา แต่ก็ก้มหน้ารับชะตากรรม ตรงกันข้ามกับ พรรคชาติพัฒนากล้า ที่เดินหน้าฟ้องศาลปกครองสูงสุดทันที ด้วยข้อกล่าวหาว่า กกต. จงใจละลายเขตเลือกตั้งเดิมของ กทม.!

โดยล่าสุด ศาลปกครองได้รับฟ้องแล้วเมื่อวันที่ 20 มี.ค. ขั้นตอนต่อไปคือเรียก กกต. เข้ามาไต่สวน – แต่คำถามสำคัญคือ คดีความดังกล่าวนี้ จะส่งผลอย่างไรค่อการเลือกตั้ง?


ชาติพัฒนากล้า: ไม่ฟ้องไม่ได้ – เป็นภัยต่อระบบตัวแทน
อรรถวิชช์.jpg

‘วอยซ์’ สอบถามไปยัง อรรถวิชช์ สุวรรณภักดี รองหัวหน้าพรรคชาติพัฒนากล้า ซึ่งเผยเหตุผลของการยื่นคำฟ้อง เพราะมองว่าการกระทำของ กกต. คือการฝ่าฝืนมาตรา 27 ของ พ.ร.ป.การเลือกตั้งชัดเจน เพราะมาตราดังกล่าวกำหนดว่าหากเขตใดมีประชากรมากไป ให้ตัดบางแขวงออก หรือเขตใดคนน้อยไป ก็ตัดแขวงของเขตข้างเคียงมารวม ทำแบบนี้มาทุกยุคสมัย

“ยกเว้นชุดนี้แหละที่เอาแขวงมารวมกันเป็นเขตเลือกตั้ง จาก 33 เขตของ กทม. มีถึง 17 เขต ที่เป็นอาการนี้ คือไม่มีเขตหลัก เอาเฉพาะแขวงมารวม ถ้าได้เห็นแผนที่แล้วจะแปลกประหลาดมาก ขัดต่อหลักกฎหมายชัด”

อรรถวิชช์ กังวลว่า การแบ่งเขตเช่นนี้จะเป็นการทำลายระบอบตัวแทนของราษฎร เพราะ กกต. สามารถใช้ระเบียบ กกต. เปลี่ยนรูปแบบเขตเลือกตั้งได้ทุกครั้งไป ซึ่งจะทำให้ระบบตัวแทนเสื่อม เพราะประชาชนกับ ส.ส.ไม่มีความผูกพันกัน พร้อมหวังให้คำวินิจฉัยของศาลปกครองในครั้งนี้ เป็นบรรทัดฐานต่อไปในอนาคต

“ผมเข้าใจว่าสิ่งที่ผมพูด เหมือนกับนักเลือกตั้งรู้กันเองว่ามันเสียหาย แต่ผมเชื่อเลยว่าไม่เกินจากนี้อีก 2 สัปดาห์ ตอนที่ป้ายหาเสียงไปติด ประชาชนจะเริ่มสับสนแล้วว่า ต้องไปเลือกที่ไหน ทำไมเป็นแบบนี้ บางเขตเลือกตั้ง มี 5 เขตการปกครอง งง เกิดขึ้นได้อย่างไร”

และเมื่อพิจารณาจากข้อกฎหมาย อรรถวิชช์ มั่นใจว่าเขาจะชนะคดีนี้ “ผมมั่นใจเรื่องข้อกฎหมาย แต่ต้องดูกระบวนการว่าทางศาลทำได้ไวแค่ไหน”

เมื่อถามถึงข้อกังวลว่า คดีความจะทำให้การเลือกตั้งเป็นอันสะดุดหรือไม่ อรรถวิชช์ ยืนยันว่า อย่างไรการเลือกตั้งก็ต้องเกิดขึ้นอยู่แล้วตามเวลาเดิม เพราะมาตรา 17 กำหนดว่า หากกระบวนการไต่สวนของศาลไม่แล้วเสร็จก่อนเลือกตั้ง ก็ให้ถือตามมติของ กกต. ไปเลย เท่ากับว่าการเลือกตั้งดำเนินไปตามปกติ แต่ อรรถวิชช์ เชื่อว่าคดีจะยังไม่จบเพียงเท่านั้นแน่

“เลือกตั้งต้องเกิดอยู่แล้ว ตามเวลาของมัน เพียงแต่ต้องทำให้ถูกต้อง ถ้าเราเป็นนักประชาธิปไตย เราต้องคุยเรื่องนี้กันให้ชัด ทุกพรรคเขาก็เห็นแบบนี้นะ ผมเห็นคำร้อง 2-3 พรรค ก็ออกมาแนวนี้ ผมก็งงเพื่อไทย ทั้งที่เขาก็เห็นด้วยกับผมนะ และมีการประสานกันอยู่ เขาคงจะไม่อยากทำเรื่องทางคดี แต่ก็ต้องมีคนทำสักคน ไม่งั้นก็ไม่ได้” อรรถวิชช์ ระบุ


เพื่อไทย: กกต. มีเหตุผลของเขา
สุขุมพงศ์ -6FB4-4FC8-B2CF-1E56DC42B6FA.jpeg

อย่างไรก็ตาม พรรคเพื่อไทยไม่ได้คิดแบบนั้น เมื่อ ‘วอยซ์’ สอบถาม สุขุมพงศ์ โง่นคำ คณะทำงานด้านกฎหมายของพรรค ในฐานะอดีตคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ซึ่งมองไปคนละทางกับ อรรถวิชช์ เพราะเชื่อว่า กกต. ปฏิบัติตามมาตราร 27 อย่างถูกต้อง และการออกระเบียบ กกต. ก็มีเหตุผล

สุขุมพงศ์ มองว่า ที่ กกต. เลือกแบ่งเลือกตั้งใหม่ เพราะการแบ่งตามเขตเลือกตั้งเดิมจะส่งผลให้ประชากรในเขตที่ติดต่อกันห่างกันเกิน 10% กกต. สามารถใช้เหตุผลข้อนี้อธิบายต่อศาลปกครองได้ และศาลก็น่าจะรับฟังมากกว่าด้วย เพราะทุกอย่างดำเนินการสอดคล้องกับมาตรา 27 และข้อเท็จจริง

“ผมคิดว่าไปร้องศาลเสียเวลา กกต. เขาก็ไม่ได้มั่ว เขาอ้างกฎหมายรัฐธรรมนูญ และระเบียบที่ออกมา” สุขุมพงศ์ กล่าว “ถ้าคุณเป็นคนกลางจะตัดสินอย่างไร ประเทศไทยมีคนกี่ล้านคน ก็ต้องเห็นแก่คนส่วนใหญ่ ทีนี้คนเก่าเสียประโยชน์ แต่คนใหม่ได้ประโยชน์หมดนะ แค่นี้ก็ฟังขึ้นอยู่แล้ว คนที่เสียประโยชน์ก็คือ ส.ส.เดิม แต่คนส่วนใหญ่ได้ประโยชน์”

สุขุมพงศ์ เน้นย้ำจุดที่ว่า การแบ่งเขตนี้ทำให้ ส.ส.เจ้าของพื้นที่เดิมเสียประโยชน์ แต่คนไม่กี่คนที่เสียประโยชน์ น้ำหนักไม่เทียบเท่าผู้สมัครฯ หน้าใหม่อีกไม่รู้กี่คนที่ได้ประโยชน์ พร้อมตั้งข้อสังเกตว่า การที่ศาลไม่ออกคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวหลังรับคำร้อง แสดงว่าโอกาสที่ อรรถวิชช์ จะแพ้คดีเป็นไปได้สูง

ส่วนจะส่งผลต่อการเลือกตั้งหรือไม่นั้น สุขุมพงศ์ ฟันธงว่า ไม่มีผลใดๆ ทั้งสิ้น และผลการเลือกตั้งจะไม่เป็นโมฆะด้วย เพราะ กกต. มีเหตุผลชี้แจงได้อยู่แล้ว ขณะที่ศาลก็คงจะเร่งรัดดำเนินการ เพราะเห็นแก่ประโยชน์ของบ้านเมืองที่จะได้จากการเลือกตั้ง

“ถ้าสมมติว่าคุณเป็นศาล ถ้ามีผลต่อการเลือกตั้ง ต้องใช้เงินใช้ทอง เสียหายเท่าไหร่ ศาลก็ต้องดูอะไรที่เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม เขาไม่ดูความเสียหายเถรตรงอย่างเดียวหรอก เขาต้องดูนิติศาสตร์ รัฐศาสตร์ ประกอบกันไปด้วย ไม่ต้องห่วง ไม่น่ามีปัญหา การเลือกตั้งก็เดินหน้าไปได้” สุขุมพงศ์ ทิ้งท้าย


กกต.: ทำตามกฎหมายทุกอย่าง

ผู้สื่อข่าวพยายามล้วงข้อมูลจาก กกต. ชุดนี้ (ซึ่งค่อนข้างเก็บตัว อินโทรเวิร์ตพอสมควร) ก็มีเพียงคำยืนยันจาก แสวง บุญมี เลขาธิการ กกต. ว่าเราได้ทำตามกฎหมายทุกอย่าง อย่าไปกังวลอะไรมากถ้าไม่ได้ทำอะไรผิด ปล่อยให้เป็นการวิพากษ์วิจารณ์ไป ดูตามกฎหมายและข้อเท็จจริง ก่อนจะย้ำอีกครั้งว่า กกต. เดินหน้าตามรัฐธรรมนูญ

“ก็ต้องรอดูว่า ศาลจะว่าอย่างไร อย่าเพิ่งไปคาดคะเน ผมคิดว่าไม่น่าจะมีปัญหาอะไร” แสวง กล่าวไว้เช่นนี้

นาย แสวง บุญมี รองเลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง

ถึงแม้จะมีความเป็นไปได้ว่า กกต. อาจจะชนะคดี เพราะอ้างว่าดำเนินตามหลักกฎหมาย และการเลือกตั้งก็ดำเนินต่อไปได้โดยไม่มีผลกระทบอะไร แต่ก็ไมอาจมองข้ามคำเตือนของ อรรถวิชช์ ถึงความเสี่ยงต่อระบอบตัวแทน หากการแบ่งเขตเป็นไปโดยไม่ได้คำนึงถึงความผูกพันเชื่อมโยงกันระหว่าง ส.ส.และประชาชนในพื้นที่

ยิ่งไปกว่านั้น อาจไปจนถึงทำให้การเลือกตั้งกลายเป็นเรื่องสับสน ยากลำบาก สำหรับประชาชน กระบวนการแห่งประชาธิปไตยนี้ก็จะยิ่งไกลตัวประชาชนเข้าไปอีก ซึ่งไม่ใช่ผลดีอย่างแน่นอนในระยะยาว

“ที่ผมร้องเพราะผมพยายามบอกว่า ประชาธิปไตยต้องพยายามคงระบบตัวแทนไว้ เพราะเป็นเนื้อรากของระบบ ถ้าไม่เช่นนั้นในอนาคตก็ เรียบร้อย ไม่ต้องมีความเกี่ยวพันกับประชาชนแล้ว” อรรถวิชช์ กล่าวกับ ‘วอยซ์’

รายงานล่าสุดระบุว่า กกต. ได้ให้การกับศาลปกครองแล้วในวันที่ (30 มี.ค.) และจะนัดทั้ง 2 ฝ่ายมาฟังคำพิพากษาในวันที่ 7 เม.ย. 2566 ซึ่งหากศาลพิพากษาว่า กกต. ต้องแบ่งเขตเลือกตั้งใหม่ อาจไม่กระทบกับวันเลือกตั้ง 14 พ.ค. แต่ก็อาจมีผลให้ต้องรับสมัคร ส.ส.กันอีกรอบ

ชยพล มาลานิยม
18Article
0Video
0Blog